ไม่ใช่แค่ “ร้านสะดวกซื้อ” (Convenience Store) ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง 7 วันแบบไม่มีวัน-เวลาหยุด หลังจาก MarketingOops! นำเสนอบทความ “จับตาเทรนด์ “24 Hours Lifestyle” วิถีคนเมือง-สังคมคนนอนดึก! ดันธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมงมาแรง” เวลานี้ Retail ผู้ให้บริการสินค้า-ร้านค้า “24 ชั่วโมง” ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น
ล่าสุด “สามย่านมิตรทาวน์” โครงการ mixed-use development ของโกลเด้นแลนด์ (บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) เปิดตัวโซนรีเทล 24 ชั่วโมง ด้วยการดึงแบรนด์ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และบริการในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น ธนาคาร เปิดร้านค้าให้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืน หลังพบ Insight คนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์ยืดหยุ่น ไม่ชอบอ่านหนังสือที่บ้าน ชอบทำงาน-อ่านหนังสือตาม Co-Working Space, Coffee Café
ใช้แม่เหล็ก “24 ชั่วโมง” ดึงคน-สร้างความต่างจากศูนย์การค้า – Mixed-use Project โดยรอบ
ทำเลที่ตั้งของโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” อยู่ในย่านใจกลางเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยศูนย์การค้า และโครงการใหญ่ที่เป็น “Mixed-use Development” จำนวนมาก ตั้งแต่แยกปทุมวัน มีศูนย์การค้าเอ็มบีเค ขยับขึ้นไปย่านสยามสแควร์ มี 3 ศูนย์ใหญ่ คือ สยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน รวมทั้งศูนย์การค้าที่อยู่ตรงข้ามอีก 2 – 3 โครงการ และถ้าตรงขึ้นไป เป็นย่านราชประสงค์ มีโครงการเซ็นทรัลเวิลด์, เกษร วิลเลจ เป็น 2 โครงการใหญ่ที่ถือเป็น Landmark ในย่านนี้
ขณะที่โซนพระราม 4 กำลังเกิดอีก 2 อภิมหาโครงการใหญ่ที่เป็น Mixed-use คือ One Bangkok ในเครือทีซีซี กรุ๊ปของเจ้าสัวเจริญ และโครงการ Central Dusit ที่เป็นความร่วมมือระหว่างซีพีเอ็น และกลุ่มดุสิต
เมื่อศูนย์การค้า และโครงการ Mixed-use เกิดขึ้นมากมาย หัวใจสำคัญที่โครงการใดโครงการหนึ่งจะแจ้งเกิดคือ การวาง Positioning ของตัวโครงการให้แตกต่างจากโครงการอื่นที่อยู่โดยรอบ
ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของ “สามย่านมิตรทาวน์” ตั้งอยู่โซนสถาบันการศึกษาที่มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และใกล้กับโซนช้อปปิ้งย่านสยามสแควร์ และติดกับออฟฟิศบิวดิ้งย่านสีลม และพระราม 4
ถ้านับจำนวนคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านสีลม-สาทร ในพื้นที่สีลม มี Traffic ต่อวันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 171,351 คน และถ้านับรวมจำนวนคนที่ใช้เวลาเดินทางเข้ามาในย่านสีลม-สาทร ไม่เกิน 15 นาทีจากรัศมีโดยรอบของย่านนี้ อยู่ที่ 392,835 คนต่อวัน ขณะที่จำนวนคนที่อยู่ในภาคการศึกษาในโซนสีลม-สาทร อยู่ที่กว่า 76,000 คน
ดังนั้นใน “โซนรีเทล” ในสามย่านมิตรทาวน์ จึงวางตำแหน่งเป็น “Urban Life Library” ภายใต้แนวคิด 24 ชั่วโมง เพื่อเจาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพ นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งผู้อยู่ในย่านสามย่าน และพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่ใช้ชีวิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในกรุงเทพฯ มี Retail ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง 2 – 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ The Street บนถนนรัชดาภิเษก (อีกหนึ่งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพาณิชย์ของกลุ่ม TCC Group) จากข้อมูลพบว่าคนที่ใช้บริการ กลุ่มใหญ่คือ นักศึกษา – คนทำงาน โดย Traffic หมุนเวียนเข้ามาในโครงการเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลา 3.00 น. (ตีสาม) เป็นช่วง Low Traffic และเริ่มมีคนมาใช้บริการในช่วงหกโมงเช้า
“จากการสำรวจภายใน 5 รัศมีกิโลเมตรโซน CBD เรายังไม่เจอ Retail 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเรามองว่าด้วยความที่สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และการพัฒนาโครงการขึ้นจากรากฐานเดิมของความเป็นสามย่าน คือ แหล่งอาหาร และความรู้ ที่ไม่ได้มีส่วนผสมของ “แฟชั่น” เหมือนย่านสยามสแควร์ และราชประสงค์
บริษัทฯ จึงมองเห็นโอกาสในการนำสินค้า และบริการต่างๆ ด้วยการพัฒนาโซน 24 ชั่วโมง เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่แตกต่างจากในอดีต เพราะเรามองว่าผู้บริโภคในปัจจุบัน มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เราจึงต้องการสร้างความแตกต่าง สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างไลฟ์สไตล์ที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้ชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งย่านนี้มีความหลากหลายของกลุ่มคนที่อยู่อาศัย และใช้ชีวิตในโซนนี้ ทั้งนักศึกษา คนทำงาน และคนที่พักอาศัยแถวนี้
เราตั้งเป้าหมายว่าโซน 24 ชั่วโมง จะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้โครงการย่านสามย่านมิตรทาวน์ เป็น Destination ของคนรุ่นใหม่อย่างสมบูรณ์มากกว่าโครงการค้าปลีกแห่งอื่นๆ ของกรุงเทพฯ โดยคาดการณ์ว่าคนที่เข้ามาใช้บริการโซน 24 ชั่วโมงของสามย่านมิตรทาวน์ จะเข้าใช้ในเวลาต่างกัน
คาดว่าช่วงเวลาที่คนเข้ามาใช้โซน 24 ชั่วโมงมากสุด จะเป็นช่วง 4 ทุ่ม ถึง ตีสาม ซึ่ง Traffic ของสามย่านมิตรทาวน์จะเทียบกับศูนย์การค้าทั่วไปไม่ได้ และเราไม่ได้เข้ามาเพื่อ Replace ศูนย์การค้าอื่น แต่เราใช้ 24 ชั่วโมง เป็นตัวสร้างความแตกต่าง” คุณธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Goldenland อธิบายถึงการเปิดโซน 24 ชั่วโมง
ภายในโซน 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ ร้านอาหาร (Dining) / ร้านค้า (Shopping) / ธุรกิจบริการ (Service) / พื้นที่รองรับไลฟ์สไตล์ (Space Service) บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ครอบคลุมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหาร, สถาบันทางการเงิน, บริการจัดส่งพัสดุ Co-Working Space, ร้านจำหน่ายสินค้าสไตล์ญี่ปุ่น, ร้านบอร์ดเกม เพื่อต้องการเป็น “24 ชั่วโมง Destination”
“24 ชั่วโมง” เพิ่มโอกาสสร้างยอดขายตลอดวันตลอดคืน
พันธมิตรที่เป็นแบรนด์ดัง และยอดนิยมเข้าร่วมโซน 24 ชั่วโมง โดยมีหลายร้านที่ตัดสินใจเปิดบริการ 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก” ที่สามย่านมิตรทาวน์ เช่น
-
ร้านมินิโซ (Minoso)
-
ชาบูชิ (Shabushi)
-
สเวนเซ่นส์ (Swensens)
-
ก๋วยเตี๋ยวเรือพระนคร
-
ไวท์ สตอรี่ (White Story)
-
มายด์ สเปซ โดย ซี อาเซียน (Mind Space by C Asean)
-
บิ๊กซี ฟู้ดเพลส เป็น Store Format ใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะ ชูแนวคิดเป็น Food Store เต็มรูปแบบ เน้นจำหน่ายอาหารสด อาหารพร้อมรับประทาน อาหารสุขภาพออร์แกนิก
-
เซเลบริตี้ ฟิตเนส (Celebrity Fitness) แบรนด์ในเครือฟิตเนส เฟิรส์ท
นอกจากนี้มีร้านอาหาร-เครื่องดื่มที่เปิดโมเดล 24 ชั่วโมงมาแล้ว ก็มาเปิดที่สามย่านมิตรทาวน์เช่นกัน เช่น เคเอฟซี (KFC), สตาร์บัคส์ (Starbucks), คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon)
และบริการด้านการเงินที่เปิด 24 ชั่วโมง เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกสิกรไทย (KBank), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Express)
การเปิดโซน 24 ชั่วโมง ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ “Differentiate” จากโครงการศูนย์การค้า และ Mixed-use Project โดยรอบแล้ว ยังตอบโจทย์การสร้าง “Traffic หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง” สิ่งที่ตามมาคือ เพิ่มโอกาสการขายของร้านค้าผู้เช่าได้ขายสินค้า หรือให้บริการลูกค้าได้มากขึ้นตลอดทั้งวันทั้งคืน
เพราะถ้าเป็นศูนย์การค้า หรือค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทอื่น (ที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ให้บริการ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว) มีเวลาเปิด-ปิด ตั้งแต่ 10.00 – 21.00 น. หรือบางแห่งเปิดถึง 22.00 น. แต่มีบางโซนที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 6 – 7 โมงเช้า และปิดถึง 23.00 น. เช่น โซนซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ “โอกาสการขาย” ถูกล็อคไว้ที่ประมาณ 10 – 11 ชั่วโมงต่อวัน
แต่เมื่อเปิด 24 ชั่วโมง เท่ากับว่า ทลายข้อจำกัดเวลาการให้บริการไปในทันที !!
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการเปิด 24 ชั่วโมง จะสามารถดำเนินการง่ายๆ อยากเปิด ก็เปิดได้ทันที เพราะหัวใจสำคัญของค้าปลีกที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง คือ “Operation” หรือการบริหารจัดการของร้านค้า ทั้งระบบ และพนักงานที่ให้บริการ ดังนั้น ร้านค้าปลีกผู้เช่าสถานที่ที่จะเปิดให้บริการทั้งวันทั้งคืน จึงต้องวางระบบบริหารจัดการด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ฝั่งสามย่านมิตรทาวน์ ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ ก็มี Tenant Mix ที่ดี ด้วยการมีผู้เช่า ที่เป็นทั้งแบรนด์ใหญ่ซึ่งเป็น “แม่เหล็ก” และร้านค้าปลีกต่างๆ ที่ตอบโจทย์ “ชีวิตประจำวัน” มาลง บวกกับการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโซนนั้นๆ ให้รองรับการเข้ามาใช้บริการของลูกค้าได้ตลอดวันตลอดคืน
โครงการสามย่านมิตรทาวน์ เตรียมเปิดให้บริการกันยายน 2562 คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 30,000 คนต่อวัน ในจำนวนดังกล่าวจะเข้ามาใช้บริการโซน 24 ชั่วโมงด้วย และคาดว่ายอดใช้จ่ายเฉพาะในโซนนี้ จะอยู่ที่ 450 บาทต่อคนต่อครั้ง และเพื่อดึงให้คนเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง การทำ Retail ยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องมี “อีเว้นท์” ทั้งเช้าตรู่ กลางวัน และช่วงค่ำ รวมทั้งกิจกรรมในช่วงเทศกาลสำคัญ
อ่านเรื่องนี้แล้ว ต้องอ่านเรื่องนี้ต่อ
- จับตาเทรนด์ “24 Hours Lifestyle” วิถีคนเมือง-สังคมคนนอนดึก! ดันธุรกิจเปิด 24 ชั่วโมงมาแรง
- เพราะเรื่องกินรอไม่ได้ ‘Krispy Kreme’ เตรียมเปิดแฟลกชิพสโตร์ให้บริการแบบ 24 ชม.