ช่วงนี้คงไม่มีใครไม่สนใจข้อมูลการเติบโตและพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ ซึ่งในฐานะผู้ให้บริการแพลทฟอร์มออนไลน์ Google ได้ร่วมกับ Temasek เปิดเผยรายงานการวิจัยในหัวข้อ e-Conomy Southest Asia Spotlight 2017 เพื่อนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ พฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานออนไลน์ที่เกิดขึ้นใน SEA และประเทศไทย
นายเบน คิง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Google เริ่มต้นนำเสนอข้อมูลดังกล่าวว่า เมื่อปี 2015 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 260 ล้านราย ซึ่งคาดว่าในปี 2020 จะเติบโตเป็น 480 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตราว 1.8 เท่าตัว หรือมากขึ้นประมาณ 3.7 ล้านรายต่อเดือน ขณะที่การเติบโตในประเทศไทย อาจเติบโตจากปี 2015 ที่ 38 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของจำนวนประชากร เป็น 59 ล้านรายภายในปี 2025 ซึ่งคิดเป็น 84% ของจำนวนประชากร โดยอาจเกิดผู้ช้อปปิ้งออนไลน์รายใหม่กว่า 20 ล้านราย
4 อุตสาหกรรมดาวรุ่งบน Online มูลค่าเติบโตต่อเนื่อง
ในปี 2025 ธุรกิจใน 4 กลุ่ม ได้แก่ Online Media (สื่อออนไลน์) , Online Travel (ท่องเที่ยวออนไลน์) , E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) และ Ride Hailing (บริการร่วมเดินทาง) อาจมีมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็น Online Media มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ , Online Travel มูลค่า 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐ , E-Commerce มูลค่า 88,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากพูดถึงตัวเลขที่เกิดขึ้นใน SEA เมื่อปี 2017 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เติบโตขึ้นจากปี 2015 ที่มีมูลค่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมูลค่าสูงสุดอยู่ในกลุ่ม Online Travel ที่ 26,600 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ E-Commerce 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐ , Online Media 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Ride Hailing 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนมูลค่าทั้ง 4 อุตสาหกรรมของประเทศไทยในปี 2017 มีมูลค่าราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เติบโตขึ้นจากมูลค่า 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015) ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2025 อาจมีมูลค่าเป็น 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสัดส่วนในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับ SEA ส่วนด้านมูลค่านั้นแบ่งเป็น Online Travel 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ , E-Commerce 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ , Online Media 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Ride Hailing 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ในปี 2017 มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 330 ล้านราย ซึ่งมากกว่า 90% เป็นการใช้งานผ่านมือถือ โดยคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมง ขณะที่การใช้งานใน SEA เฉลี่ย 3.6 ชั่วโมงต่อวัน สะท้อนถึงการเป็นภูมิภาคที่นิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงสุดในโลก และยังสะท้อนถึงการเติบโตอย่างน่าจับตาของธุรกิจ E-Commerce และ Ride Hailing อีกด้วย”
E-Commerce ไทยจะเติบโตถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากปี 2017 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตรวม 45 ล้านราย (คาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 59 ล้านรายในปี 2020) ขณะเดียวกันก็มีสัดส่วนผู้ใช้บริการมือถือในระบบโพสต์เพด (รายเดือน) 20 ล้านราย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาด E-Commerce ซึ่งจากปี 2015 มีมูลค่าอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจเติบโตเป็น 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
SEA กับ 7 ยูนิคอร์น
สำหรับ Startup ที่อยู่ในระดับยูนิคอร์นของ SEA ได้แก่ Grab แพลทฟอร์มการเดินทาง , LAZADA ช้อปปิ้งออนไลน์ , sea ผู้ให้บริการเกมออนไลน์และแอป Shopee , RAZER ผู้ผลิตอุปกรณ์เกมมิ่ง , Go-Jek บริการเรียกรถรายใหญ่ในอินโดนีเซีย , Tokopedia บริการ C2C Marketplace ในอินโดนีเซีย , traveloka ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม ซึ่งจะพบว่าปัจจุบันมีการขยายบริการมายังประเทศไทยแล้ว 5 ราย คือ Grab , LAZADA , sea , RAZER , traveloka
Google มุ่งช่วยเหลือธุรกิจทุกระดับ
ช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยสะท้อนถึงมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 เป็น 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ซึ่ง Google มุ่งมั่นสนับสนุนประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสจากการเติบโตทางดิจิทัลดังกล่าว รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในธุรกิจทุกระดับให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงบริการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาชีวิตของผู้บริโภค เช่นเดียวกับที่ได้เปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาทิ Datally เครื่องมือควบคุมการใช้งานดาต้าแบบเรียลไทม์ และ Files Go บริการรับ-ส่งไฟล์ระหว่างอุปกรณ์แอนดรอยด์ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานออนไลน์แก่ผู้บริโภค.