การดำเนินธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง การสร้างความแตกต่างให้เหนือคู่แข่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งธุรกิจหนึ่งที่ตอนนี้ถือได้ว่าสู้กันค่อนข้างดุเดือดในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนก็คือ “ธุรกิจสินเชื่อ” โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทจำนำทะเบียนรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด และสินเชื่อประเภทนี้เองก็พยายามที่จะฉีกตัวสร้างความโดดเด่นให้เหนือตลาด ชิงความเป็น Top of mind ในใจลูกค้าให้ได้
แต่มีหนึ่งแบรนด์ของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ไม่ได้คิดเพียงแค่จะสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กร ให้เป็นองค์กรที่โปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีความมุ่งหวังที่จะเป็นแหล่งเงินทุนที่มีจรรยาบรรณเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้ต่อลมหายใจในช่วงวิกฤตของชีวิตได้
แบรนด์สินเชื่อดังกล่าวได้แก่ “เงินติดล้อ” ซึ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมานาน และวันนี้ก็ได้ทำการ รีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ ปรับหมดตั้งแต่โลโก้ สโลแกน เพิ่มสาขา รวมทั้งแนวคิดต่างๆ ในการทำงานด้วย โดยทุ่มงบประมาณไปกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งน่าสนใจว่าเบื้องลึกและเบื้องหลังในการรีแบรนด์ดิ้งครั้งนี้ของ “เงินติดล้อ” นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วประสบความสำเร็จไปมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และวันนี้ Marketing Oops! ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้บริหารที่อายุน้อยที่สุดในองค์กรอีกด้วย คือ คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล หรือ คุณหนุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด
ที่มาก่อนจะมาเป็น “เงินติดล้อ”
คุณหนุ่ม พาเราย้อนกลับไปในปี 2007 ซึ่งเดิมนั้น “เงินติดล้อ” ยังเป็นเพียงไฟแนนซ์ห้องแถว จากนั้นกิจการก็เปลี่ยนมือมาเป็นของ AIG กระทั่งปี 2008 AIG เกิดวิกฤตทางการเงิน ทำให้ต้องประกาศขาย และในปี 2009 ก็ได้มาอยู่ในเครือของธนาคารกรุงศรีฯ
ส่วนในเรื่องของการทำรีแบรนด์ดิ้งนั้น คุณหนุ่มเล่าว่า เคยทำครั้งใหญ่ไปเมื่อสมัยที่อยู่ในมือของ AIG โดยสมัยนั้นมีสาขากว่า 130 แห่งทั่วประเทศ แต่กลับติดปัญหาเรื่องแบรนด์ คือแต่ละที่ มีชื่อที่ไม่เหมือนกันเลย ในที่สุด สิ่งแรกที่ AIG ทำคือ ปรับให้มีมาตรฐานมากขึ้น แล้วขึ้นป้ายให้เหมือนกันทั่วประเทศ พยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในชื่อเดียวกัน ได้แก่ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จากนั้นกรุงศรีฯ ก็เข้ามา
Rebranding และ ความท้าทายในการสร้าง Brand Awareness
คุณหนุ่มเล่าต่อว่าหลังจากที่กรุงศรีฯ เข้ามาดูแล กลับพบวิกฤตว่าแม้จะพยายามสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักแล้วแต่ Brand Awareness ยังค่อนข้างต่ำ
“พอมาเป็นเครือธนาคารกรุงศรีฯ เราก็มาทำรีเสิร์ช ปรากฏว่า Brand Awareness เราอยู่ที่ 20% มีคนรู้จักเราแค่ 1 ใน 5 เท่านั้นเอง ทำให้เราตัดสินใจนำงบฯ การตลาดครึ่งหนึ่งมาทำโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น ซึ่งหนังโฆษณาเรื่องแรกก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ’ ตอนนั้นเราก็พยายามจะหาจุดเด่นจากในตลาดให้ได้ และพอมาพิจารณาดูจุดแข็งและความแตกต่างของเราก็พบว่าเรามี “เร็ว” และ “จ่ายเงินสด” ในสาขา ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถืงเรื่องการอนุมัติเงินไวเลย เราก็มองเห็นว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ”
และหลังจากการเน้น Brand Awareness ทั้งเรื่องเร็วและจ่ายเงินสดทันที ก็พบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณหนุ่ม บอกว่า “ทีมที่มารีเสิร์ชให้เราก่อนและหลังโฆษณาตกใจมาก เพราะผลตอบรับมันดีมาก เชื่อหรือไม่ครับ วันแรกที่โฆษณาออกไป วันรุ่งขึ้นมีคนต่อแถวเข้าคิวที่สาขายาวมาก เป็นสิบๆ คนเลย ตั้งแต่ยังไม่เปิดบริการด้วยซ้ำ ตอนเช้ามีคนมาเข้าคิวรอแล้ว ซึ่งทีมรีเสิร์ชประหลาดใจมาก ผู้จัดการสาขาที่ทำอยู่ที่นี่มานานก็ยังช็อคว่าเป็นไปได้ยังไง เขาบอก อู้ย! อย่างกับ MK แหนะ ทำไมมาใช้บริการกันเยอะขนาดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มันไม่เวิร์ค เป็นเพราะว่า ไม่ใช่แค่คนไม่รู้จักแบรนด์ แต่เพราะคนไม่รู้จักผลิตภัณฑ์ของเรา แต่ตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “เงินติดล้อ” แล้ว”
สำหรับโฆษณาที่คุณหนุ่ม กล่าวถึงนั้นได้แก่ โฆษณาทั้ง 2 เรื่องจากชุด Speed ซึ่งได้รางวัล Bronze Film จาก Cannes Lions 2011 รางวัลโฆษณาระดับโลก
httpv://youtu.be/oXmsw-3KQOI
httpv://youtu.be/Q172AanQ5aU
และหลังจากปล่อยโฆษณาทั้งสองชิ้นออกไป ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาดจริง คุณหนุ่มระบุว่า โฆษณาชิ้นนั้นปล่อยในปี 2010 เป็นโฆษณาที่สร้างอิมแพ็คมากที่สุดเลย ทำให้เรามี Awareness โตจากเดิม 20% เพิ่มขึ้นเกือบ 70% ขนาดบริษัทมาร์เก็ตติ้ง รีเสิร์ชที่เราให้เขามาเก็บข้อมูลสำรวจก็ยังช็อค เพราะเขาไม่เคยเจอแบรนด์อะไรที่โตพุ่งขึ้นเร็วขนาดนี้ และหลังจากนั้นก็มีการวัดอีกครั้ง Awareness ยังพุ่งอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นอีกเป็น 90% เลย แล้วจากนั้นแบรนด์เราก็กลายเป็น Top of mind ทันที
และพอเริ่มเป็นที่รู้จักผ่านโฆษณาชิ้นนั้นแล้ว “เงินติดล้อ” ก็ทำการขยายสาขาเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีประมาณ 160-170 สาขา แต่ตอนนี้ได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 400 กว่าสาขาทั่วประเทศแล้ว
สาเหตุที่ “ศรีสวัสดิ์” หายไป เหลือแต่ “เงินติดล้อ”
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ที่เคยอยู่คู่กับคำว่า “เงินติดล้อ” ถึงได้หายไป ไม่ได้ถูกพูดถึงเหมือนแต่ก่อน เรื่องนี้คุณหนุ่มเผยว่า เราได้ตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว จริงๆ มันยังอยู่ ในโลโก้ใหม่ก็ยังมีอยู่ แต่เราก็แค่ข้ามมันไป เพราะเราคิดว่ามันยาวไป คือ recall มันจะสูงกว่าถ้าทำให้ชื่อมันสั้น แล้วเรามองว่า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” มันคือชื่อกับนามสกุล ถ้าสังเกตให้ดีชื่อ “ศรีสวัสดิ์” ก็ยังมีชื่อแบรนด์อื่นที่ออกมาคล้ายเรา แต่คำว่า “เงินติดล้อ” มันไม่ซ้ำใครและค่อนข้างเป็นยูนีคมากกว่า ทำให้เราตัดสินใจเลือกที่จะให้เหลือแค่ชื่อนี้เท่านั้น
“ที่สำคัญคือ พอเราไปคุยกับชาวบ้าน บางคนจำชื่อเต็มไม่ได้ จำได้แต่ “ติดล้อ” เพราะฉะนั้นเราก็เลยบิ้วด์แต่คำว่า “เงินติดล้อ” แล้วกัน ซึ่งคำว่า “เงินติดล้อ” มันก็มีความหมาย มันสื่อได้ถึงความเร็ว แต่คำว่า “ศรีสวัสดิ์” มันไม่ได้สื่อถึงอะไรเลย ดังนั้นรีแบรนด์ดิ้งรอบนี้ สิ่งที่เราจะสร้างก็คือการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น นอกจากนี้เรายังมองว่าอาจจะมีบางอย่างที่หายไป ซึ่งก็คือไอคอนที่สามารถสร้าง recall ได้ เราก็เลยออกแบบตัวไอคอนใหม่ขึ้นมา”
การทำรีแบรนด์ดิ้งครั้งนี้ “เงินติดล้อ” ได้ทำการปรับโฉมแบรนด์ใหม่ เพิ่มไอคอน ตอบโจทย์การเงินให้ลูกค้า “มีชีวิตหมุนต่อได้” โดยทุ่มเงินกว่า 150 ล้านบาทในการปรับโฉมสาขาทั้งหมดทั่วประเทศจำนวนกว่า 400 สาขา ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนโฉมป้ายหน้าสาขาใหม่ทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
ส่วนตราสัญลักษณ์ใหม่ของเงินติดล้อ ออกแบบอยู่บนแนวคิดเรื่อง ความรวดเร็ว ความเป็นกันเอง และความน่าเชื่อถือ โดยโฉมไอคอนใหม่มีความหมายที่ซ่อนอยู่ตรงกลางคือ แสงแห่งความหวังที่ส่องนำให้ลูกค้าได้เจอทางออกและเริ่มต้นใหม่ โดยตัวไอคอนมาจากฟอร์มธนบัตรสองใบที่กำลังหมุน เพื่อช่วยชีวิตลูกค้าให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ สะท้อนธุรกิจของเงินติดล้อที่ช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า สีแดงมีความหมายถึงความรัก และความรวดเร็วในการให้บริการ สีน้ำเงินหมายถึงความมั่นคง ไว้วางใจได้ และความสบายใจเมื่อมาใช้บริการเงินติดล้อ และสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ใจ และความโปร่งใส ซึ่งเป็นวิถีการทำงานที่เงินติดล้อยึดมั่นมาโดยตลอด
พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการ ทำยอดขายพุ่งทะยาน
ในการรีแบรนด์ดิ้งนั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่พอคนรู้จักมากขึ้นแล้วจบ แต่ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย ซึ่งจุดนี้คุณหนุ่มเล่าว่า สิ่งที่ตอนนั้นเราทำคือการเพิ่มการรับรู้ทั้งในตัวผลิตภัณฑ์และตัวแบรนด์ ซึ่งระหว่างนั้นเราได้ทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นว่าแตกต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมอ พอเราเข้าใจพฤติกรรมเราจึงได้ออกแบบโปรดักส์ที่สอดคล้องกับความต้องการของเขามากขึ้น ยกตัวอย่าง 2 ปีที่แล้ว เราทำแคมเปญแจกฟรีประกันอุบัติเหตุ โปรโมชั่นแค่ 3 เดือน ปรากฎว่าผลตอบรับดีมาก แคมเปญนั้นทำให้ตัวเลขโต 20-30% เลยทีเดียว
“สิ่งที่ทำให้เราแปลกใจก็คือ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์เราจัดโปรโมชั่นแถมประกันอุบัติเหตุด้วย โดยเราจะมีประกันอยู่ 2 ตัวด้วยกัน ตัวแรกราคา 399 บาท อันนั้นเป็นประกันอุบัติเหตุกรณีเสียชีวิต เป็นตัวที่เราแถมให้ฟรี แล้วเราก็มีอีกตัวในราคา 799 บาท ซึ่งตัวแรกที่ราคา 399 บาท นั้นสามารถอัพเกรดเป็น 799 บาทได้โดยจ่ายแค่ส่วนต่าง ซึ่งปรากฏว่าลูกค้าตัดสินใจที่จะอัพเกรดเป็น 799 เกินครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้แปลว่าอะไร แปลว่าลูกค้าไม่รู้ว่ามีประกัน แต่พอเรามีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเขา เขาก็ยินดีที่จะใช้บริการแล้วก็อัพเกรดขึ้นมา และยังเป็นที่มาที่ว่าเราไม่ได้ทำสินเชื่ออย่างเดียวอีกต่อไป ตอนนี้เราเป็นโบรกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเครือข่ายสาขาที่ใหญ่ที่สุด มีเครือข่ายของพนักงานที่มีใบอนุญาตเยอะที่สุดในประเทศไทยด้วย”
รุกหนักด้วยกลยุทธ์การจ่ายเงินสดเป็นแสน ให้ทันทีที่สาขา
นอกจากการรีแบรนด์ดิ้งและปรับปรุงโลโก้แล้ว “เงินติดล้อ” ยังรุกหนักด้วยการออกแคมเปญใหม่ล่าสุด เพื่ออัพเกรดผลิตภัณฑ์และบริการให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น คุณหนุ่ม เผยว่า เรายังได้อัพเกรดผลิตภัณฑ์ ไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราสื่อออกไปว่ามาเช้ารับเงินเย็น และไม่โอนไม่ค้ำ แต่ล่าสุดที่มาพร้อมกับการรีแบรนด์นั่นคือ ให้รับเงินสด 1 แสนบาททันทีที่สาขา ซึ่งยังไม่มีสถาบันการเงินไหนที่กล้าทำ
นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำพร้อมกับการรีแบรนด์ดิ้งก็คือการปรับผลิตภัณฑ์ “ประกันชีวิต” จากที่เมื่อก่อนเป็นแค่ของแถม แต่ตอนนี้เราทำให้มันเป็น Main Feature ไปเลย ลูกค้าที่มาขอสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ทุกราย จะได้รับประกันอุบัติเหตุจากเรา และนอกจากการให้ประกันฟรีแล้ว เรายังพัฒนาปรับปรุงระบบการขอสินเชื่อด้วย จากเดิมรับเงินสดใน 30 นาที เราลดเวลาเหลือแค่ 10 นาทีเท่านั้น พูดง่ายๆ ว่าการรีแบรนด์ดิ้งครั้งนี้ มาพร้อมกับการปรับผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ดีกว่าเดิม เยอะกว่าเดิมนั่นเอง
“เจตนา-จริงใจ” กลยุทธ์สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจลูกค้า
การแข่งขันในตลาดสินเชื่อทะเบียนจำนำรถ คุณหนุ่มยอมรับว่ามีสูงมาก และการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ค่อนข้างยากมากทีเดียว แต่ “เงินติดล้อ” ก็มีวิธีการในการสื่อสารกับลูกค้าในเรื่องของเจตนาและความจริงใจได้ คุณหนุ่มเล่าว่า ลูกค้าเราคือเป็นกลุ่มพื้นฐานจริงๆ และไม่ค่อยได้ศึกษารายละเอียดสัญญาอย่างถ่องแท้ ซึ่งการรีเสิร์ชเราพบว่าลูกค้าจะถูกเอาเปรียบในหลายขั้นตอนมาก คือลูกค้าจะดูไม่ออกหรอกระหว่างไฟแนนซ์ห้องแถวกับเรา เพราะป้ายด้านนอกนั้นเหมือนกันมาก มีไฟเปิดสว่าง มีพนักงานต้อนรับแต่งตัวสวยยิ้มแย้ม แต่เขาไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วไส้ใน พวกเขากำลังถูกเอาเปรียบอยู่
“แต่ของเรานั้นสิ่งที่แตกต่างมากเลยก็คือ “เจตนาดีและความจริงใจ” เจตนาของเราในการปล่อยสินเชื่อคือ ต้องการให้ลูกค้ามีทางเลือกทางการเงินที่เหมาะสมกับเขา ที่แฟร์และโปร่งใส ในขณะที่เจ้าอื่นอาจจะมีค่าธรรมเนียมอะไรต่างๆ ไม่รู้แอบแฝงเต็มไปหมด ทำให้ลูกค้าไม่สามารถไถ่ถอนเอารถคืนมาได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเมื่อปี 2554 ปีน้ำท่วมใหญ่ ลูกค้าเราทุกรายที่ได้รับผลกระทบ เราได้ยื่นข้อเสนอที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ ยืดเวลาการผ่อนชำระให้ คือเราพยายามจะช่วยพยุงเขาให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ส่วนเรื่องของความจริงใจนั้น อย่างเรื่องค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย สามารถเข้าไปดูเว็บไซต์ หรือไปดูที่สาขาเราก็จะมีบอกไว้อย่างชัดเจน และทุกครั้งที่ลูกค้าส่งค่างวดเราก็จะมี sms แจ้งเตือนบอกว่าคุณได้ชำระค่างวดแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง นอกจากนี้ เรายังมีระบบการตรวจสอบมีสถาบันมาคอยออดิทระบบของเราว่าเราเก็บตามประกาศถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจในการทำงานของเราอย่างเป็นรูปธรรม”
เรื่องของความจริงใจและความสุจริตของบริษัท คุณหนุ่มได้ย้ำอีกครั้งว่า มุมมองของเราไม่ได้คาดหวังว่าจะ Maximize Profit คือกำไรต้องมีแต่ก็ต้องมีความยั่งยืนด้วย เราไม่ได้มีความต้องการจะได้เงินทุกบาททุกสตางค์จากลูกค้า หรือแม้แต่ประกันเราไม่จำเป็นต้องแถมฟรีให้ก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็แจกไปแล้วเกือบ 2 แสนกรมธรรม์ ตนเองยังโดนท้วงติงด้วยซ้ำว่าแจกประกันใช้เงินสูงเกินไปหรือเปล่าทำไมต้องทำขนาดนี้ แต่สุดท้ายผลตอบรับก็ดีเกินคาดอย่างที่กล่าวเอาไว้ ที่สำคัญคือยังช่วยให้ลูกค้าของเราได้รับความคุ้มครองในชีวิตด้วย ช่วยทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ผลตอบรับได้ทั้ง Profit บริษัท และ Benefit ทางสังคม
คุณหนุ่มกล่าวอย่างภูมิใจ ปัจจุบันเรามีลูกค้า 230,000 ราย โดยในปี 2015 ลูกค้าเราเพิ่มขึ้นถึง 30% นอกจากนี้ เราจะเตรียมที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 55 แห่ง โดยปัจจุบันมี 400 สาขา ทำให้ในปี 2559 บริษัทจะมีสาขาทั้งสิ้น 455 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจประกันมียอดอยู่ที่ 260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46 ล้านบาท หรือเท่ากับ 22%
ขณะที่ Benefit ทางสังคม ก็คือเราต้องการยกระดับธุรกิจสินเชื่อให้ได้ เมื่อเราเน้นเรื่องความโปร่งใส ความชัดเจน ก็เชื่อว่าบริษัทอื่นก็จะต้องทำตาม และกลายเป็นการยกระดับมาตรฐานที่ดีในธุรกิจสินเชื่อ และสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือลูกค้า
“ผมคิดว่าตอนนี้เราเป็น Market Leader เราเป็นเบอร์ 1 เรามีความรับผิดชอบในการนำตลาด ในการหาอะไรใหม่ๆ มาให้ลูกค้าเราเสมอ ซึ่งถ้าเราอยากจะรักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้ได้เราก็คงต้องรีโนเวทไปเรื่อยๆ และนี่คือเหตุผลที่เราทำรีแบรนด์ดิ้ง รีโนเวทตึกให้ดูทันสมัย มีมุมรีแลกซ์พักผ่อนให้พนักงานได้เล่นสนุกเกอร์ หรือตีปิงปอง ฯลฯ”
แผนงานในอนาคต สิ่งที่ “เงินติดล้อ” ตั้งเป้าเอาไว้
คุณหนุ่มเผยความมุ่งมั่นว่า เราอยากจะเป็น One Stop Shop ให้ลูกค้า โดยมีบริการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางการเงินให้ครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อ ผลิตภัณฑ์ประกัน การออมเงิน และบริการโอนเงิน การรับชำระเงินค่าบริการ เงินติดล้อ อยากจะมีความครอบคลุมใน 4 อย่างนี้ โดยทุกวันนี้เรามีในส่วนของสินเชื่อและประกันแล้ว แต่อีก 2 อันยังไม่ได้เริ่มเลย จะว่าไปบริการเหล่านี้ก็กึ่งๆ แบงก์เหมือนกัน แต่เป็นแบงก์สำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่ถึงขนาดเป็นธนาคารเต็มรูปแบบ
อีกหนึ่งเกมรุกของการเปิด call center ตลอด 24 ชั่วโมง
คุณหนุ่ม เผยเหตุผลที่ตัดสินใจเปิด call center ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเพราะว่า มาจากเรื่องจริงว่าคนร้อนเงิน เขามีปัญหาแล้วไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร อันนี้ก็คือหนึ่งในเซอร์วิสที่เราทำเพิ่ม ซึ่งเชื่อว่าพอเราทำตรงจุดนี้แล้วสักพักก็จะมีรายอื่นๆ ทำตามอย่างเราบ้าง ส่วนถ้าถามเรื่องความพร้อมตอนนี้ทีม call center ของเรา 20-30 คน แต่เราก็มี outsource มาช่วยด้วย อีกทั้งเรายังมีระบบที่คอยช่วยในกรณีมีสายเข้ามาเยอะแล้วรองรับไม่ไหว
สิ่งที่ “เงินติดล้อ” ให้ความสำคัญที่สุด
คุณหนุ่มกล่าวอย่างหนักแน่นว่า เงินติดล้อเราอยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของสังคม เราอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกประเทศคือกลุ่มคน ‘มิดเดิ้ลคลาส’ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ติดอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบ เศรษฐกิจโดยรวมก็จะแย่
“ผมมองว่าบางทีคำตอบมันอาจไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นภาคเอกชนก็ได้ อาจจะเป็นใครบางคนที่นำผลประโยชน์มาให้กับลูกค้า คือเราอยากเป็นผู้นำด้านการช่วยเหลือลูกค้า และเราก็คงลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำจะถูกหรือไม่ แต่เรามีความเชื่อว่ามันจะใช่ เราเชื่อในลองเทิร์ม ตีหัวเข้าบ้านแล้วรวยในวันนี้เราไม่ได้คิดแบบนั้น เรามีผู้ถือหุ้นที่ยินดีให้เราได้ลองอะไรใหม่ๆ และอยากให้เราช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน”
ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังขรุขระ “เงินติดล้อ” พร้อมที่จะพยุงผู้บริโภคฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
คุณหนุ่ม ระบุว่า ด้วยความที่ลูกค้าของเราเป็น Self-employed คือเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีจะต้องการเงินสดมาก เขาก็จะวิ่งเข้ามาหาเรา แต่เราจะไม่ปล่อยสินเชื่อแรง เพราะเราไม่ได้ต้องการยึดรถ แต่เราต้องการให้เขาอยู่รอดได้ กลับกันในช่วงที่เศรษฐกิจดีเราก็จะให้วงเงินที่สูงขึ้นแล้วก็ดอกเบี้ยที่ต่ำลง เพื่อให้เขาเอาเงินไปหมุนให้อยู่รอด
“เรามีมุมมองในการดูความเสี่ยงเป็นอย่างดี ในช่วงเศรษฐกิจแย่ พอลูกค้าตึง ถ้าเราไปปล่อยแรงเขาจะจ่ายไม่ไหว ถ้าเราไปยึดรถเขา ก็จะกลายเป็นการไปตอกย้ำซ้ำเติมให้แย่ไปอีก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตลาดสินเชื่อค่อนข้างแข่งขันกันแรง อยากจะฝากให้ลูกค้าดูดีๆ ว่าเนื้อในนั้นเป็นอย่างไร สิ่งนี้ทำให้เราเป็นห่วง แต่ของเงินติดล้อเราโปร่งใสมาก สามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง เรามีทั้งความถูกต้อง ความแฟร์ ความเสถียรของระบบ”
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจาก “เงินติดล้อ” คือการทำธุรกิจสินเชื่อ ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว จะต้องคิดถึงลูกค้าและสังคมด้วย เมื่อลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น สังคมดีขึ้น ธุรกิจสินเชื่อก็เติบโตตามไปด้วย และที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเราพบว่า “เงินติดล้อ” พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลสูงก็สามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ให้คุณค่ากับสังคมและในแง่ของผลกำไรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับธุรกิจสินเชื่ออื่นๆ ต่อไปได้