เรื่องชวนปวดหัวของคนเมืองในช่วง 1-2 วันมานี้ ก็คือปัญหาระบบขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟฟ้า BTS เกิดเหตุขัดข้อง ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร BTS เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามการชี้แจงของ BTS ระบุว่า ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ส่งผลกระทบให้การเดินรถในบางขบวนเกิดความล่าช้าประมาณ 10 นาที โดยในช่วงวานนี้ได้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นชนิดที่เรียกว่าตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งช่วง 2-3 ทุ่ม ก็ยังพบปัญหาอยู่
ทำให้เกิดประเด็นสงสัยตามมาว่า “ระบบอาณัติสัญญาณ” คืออะไร
ซึ่งตามคำอธิบายของ วิกิพีเดีย อธิบายความหมายของคำดังกล่าว ว่า “ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ (Railway signalling system) เป็นระบบกลไก สัญญาณไฟ หรือระบบคอมพิวเตอร์ ในการเดินขบวนรถไฟเพื่อแจ้งให้พนักงานขับรถไฟทราบสภาพเส้นทางข้างหน้า และตัดสินใจที่จะหยุดรถ ชะลอความเร็ว หรือบังคับทิศทาง ให้การเดินรถดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการเดินรถสวนกันบนเส้นทางเดียว หรือการสับหลีกเพื่อให้รถไฟวิ่งสวนกันบริเวณสถานีรถไฟ หรือควบคุมรถไฟให้การเดินขบวนเป็นไปตามที่กำหนดไว้กรณีที่ใช้ระบบอาณัติสัญญาณแบบคอมพิวเตอร์
ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟจะควบคุมและกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ และระยะเวลาในการเดินรถ ของขบวนรถที่อยู่บนทางร่วมเดียวกัน รวมทั้งการสับหลีกบริเวณสถานีรถไฟ โดยการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ จะออกแบบให้ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้พนักงานขับรถไฟสามารถตัดสินใจเดินรถได้อย่างมั่นใจ และไม่ให้เกิดความสับสน”
BTS แจงสถานีสยามเจอคลื่นรบกวน
โดยผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS ได้ออกมาชี้แจงว่าเหตุการณ์ขัดข้องที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากระบบอาณัติสัญญาณสถานีสยามถูกคลื่นรบกวน ทำให้ไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติในการเดินรถ ต้องเปลี่ยนเป็นระบบ Manual ประกอบกับตลอดแนวเส้นทาง BTS นั้นเต็มไปด้วยตึกสูงจำนวนมาก ทำให้การเดินรถล่าช้ากว่าและเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถานีอื่นๆ เนื่องจากสถานีสยามนั้นถือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อไปยัง BTS สถานทีอื่น
dtac ยันไม่ได้ส่งคลื่นต้นเหตุรบกวน BTS
เมื่อมีประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น ทาง dtac ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า “คลื่นไม่ได้รบกวนระบบอาณัติสัญญาณจนเป็นเหตุให้ BTS เกิดการขัดข้อง”
เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากทาง dtac โดย คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ได้ชี้แจงว่า “ตามที่มีข่าวระบุระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องมีสาเหตุจากคลื่น 2300 MHz นั้น การใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ dtac และ TOT ไม่ได้ส่งคลื่นใดๆ ออกมานอกเหนือจากแบนด์ที่ TOT ได้รับการจัดสรรมา ซึ่งไม่น่าเป็นสาเหตุของการขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้า BTS ตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ ทาง dtac กำลังร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงและร่วมแก้ไขกับ BTS อย่างใกล้ชิดต่อไป”
กสทช. ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่น
จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ กสทช. ออกมาชี้แจง ด้วยการส่งรถตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่และการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวขัดข้อง
โดยเมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เปิดเผยว่า กรณีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวขัดข้องบ่อยก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดย BTS แถลงว่า สาเหตุเกิดจากรถไฟฟ้าถูกคลื่นสัญญาณวิทยุจากตึกสูงที่อยู่ในแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ารบกวน ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถขัดข้อง นั้น สำนักงาน กสทช. ได้ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งตรวจสอบสัญญาณตั้งแต่เวลา 7.00 น. ของวันนี้ (26 มิ.ย. 2561) เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวขัดข้อง หลังจากตรวจสอบเสร็จสำนักงานฯ จะนำผลการตรวจสอบและบทสรุปต่างๆ มาวิเคราะห์ว่าการที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อยนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร และจะส่งรถตรวจสอบออกไปตรวจสอบสัญญาณตลอดในช่วงนี้ จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะเชิญ BTS, DTAC และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ประมาชุมเพื่อหารือร่วมกันถึงมาตรการและแนวทางในแก้ไขปัญหาต่อไป
หรือ WiFi คือต้นตอปัญหาทั้งหมด?
แต่ในขณะเดียวกัน คุณก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ได้แสดงความคิดเห็นกับทาง Thai PBS โดยระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ BTS นั้นมีสาเหตุมาจากสัญญาณ WiFi
ตามมุมมองของคุณก่อกิจ อธิบายว่า BTS ใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ในการควบคุมระบบเดินรถและสั่งการ โดยไม่ได้สร้างระบบป้องกันการโดนรบกวน และคลื่นความถี่ดังกล่าวก็ยังเป็นคลื่นที่ กสทช. จัดสรรไว้สำหรับใช้สาธารณะและใช้กับโดรนอีกด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อ BTS วิ่งผ่านจุดที่มีการส่งสัญญาณรบกวนจึงทำให้ระบบควบคุมและสั่งการไม่เสถียร
นอกจากนี้ คุณก่อกิจ ยังได้เสนอทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวด้วยว่า “BTS ควรสร้างระบบป้องกันคลื่นความถี่รบกวน แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการลงทุน หรือ ทำการขอเปลี่ยนย่านความถี่ไปใช้ย่านอื่นที่ไม่ใช่ 2400 MHz แทน ซึ่งปัจจุบัน กสทช. มีคลื่นย่าน 800-900 MHz ไว้ให้ใช้สำหรับการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยู่แล้ว”
Copyright © MarketingOops.com