ทำความรู้จัก Quick Commerce การตลาดจากการเติบโตของ Delivery Platform ผ่านกรณีศึกษา GrabMart

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

รูปแบบการตลาดแบบไร้กระบวนมีมาให้เราเห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ขึ้นชื่อว่าการตลาดส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งสิ้น หลายคนคงจะคุ้นชินกับคำว่า E commerce ที่ในช่วงหลายปี่ผ่านมาเป็นที่พูดถึงในโลกธุรกิจเป็นวงกว้าง เพราะมีการเข้ามาของเทคโนโลยีให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report 2021) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า

โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึ งตลาด Quick Commerce ที่แม้ความนิยมและมูลค่าตลาดอาจจะยังไม่สามารถเทียบเท่ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสดและของชำ (Online grocery) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) หรืออัตราการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้น

E commerce และ Quick Commerce ต่างกันอย่างไร

E commerce มีจุดเด่นสำคัญคือเรื่องของสินค้าที่มีครอบคลุมทุกสิ่ง เรียกได้ว่าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบของจริง ครอบคลุมของใช้ ของกิน สินค้าเฉพาะทางต่าง ๆ ผ่านการขายบนโลกออนไลน์ และแน่นอนว่าก็จะมีหลายเว็บไซต์เพื่อให้เลือกซื้อ โดยการสั่งสินค้าส่วนใหญ่นั้นเมื่อสั่งซื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการขนส่งรอสินค้าโดยประมาณ 1-5 วัน แล้วแต่ขนส่งแต่ละเจ้า เป็นการตอบสนองความต้องการของขาช้อปที่สามารถช้อปสินค้าที่อยากได้โดยง่าย ๆ

Quick Commerce มีจุดเด่นเรื่องของความเร็ว และส่วนใหญ่ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่บนแพลตฟอร์ม ดิลิเวอรี่ สามารถรับสินค้าได้ภายใน 25 นาทีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทของสด ของใช้ภายในบ้าน ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักเมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันแบบออนดีมานด์ นั่นคือ การมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือก การจัดส่งที่รวดเร็ว และราคาที่เข้าถึงได้

บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อแบบออนดีมานด์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบันที่ต้องการสั่งซื้อสินค้า หรือของใช้ในชีวิตประจำวันแบบจัดส่งได้ทันที ไม่ต้องรอข้ามวัน ในบ้านเราก็จะเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Grab ที่มีการเสริมพอร์ตการบริการนอกจากส่งของ ส่งคน ส่งอาหาร อีกขาธุรกิจสำคัญคือ การให้บริการ GrabMart

แกร็บมาร์ท เดินหน้าลุย Quick Commerce

แกร็บ เผยตลาดควิกคอมเมิร์ซ (Quick Commerce) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ดันธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา  เล็งขยายพันธมิตรโดยเจาะกลุ่มโชว์ห่วย-ร้านค้าขนาดเล็ก จากเดิมมีร้านค้าขนาดเล็กอยู่ในมือไม่ถึง 50% ตั้งเป้าหมายในอนาคตมีร้านค้าขนาดเล็กทั้งหมด 60% เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

คุณ จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “แกร็บมาร์ท บริการสั่งซื้อสินค้าแบบออนดีมานด์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไป ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยในช่วงไตรมาสสองของปี 2563 เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยและความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที ประกอบกับอิทธิพลจากสถานการณ์โควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปัจจุบัน แกร็บมาร์ทครอบคลุมพื้นที่การให้บริการใน 68 จังหวัด และมีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 สาขา”

เปิดข้อมูลสินค้าขายดี บน “แกร็บมาร์ท” 5 อันดับสินค้าขายดี (ในเดือนสิงหาคม 2565)

  1. ไข่ไก่
  2. หมูสับ
  3. มะนาว
  4. แตงกวา
  5. พวงมาลัย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่นาสนใจ ในช่วงที่ผ่านมา แกร็บมาร์ทจำหน่ายชุดตรวจ ATK ไปแล้วกว่า 1.2 ล้านชุด หรือเทียบเท่ากับ 2% ของประชากรไทย ช่วงเวลาที่มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านแกร็บมาร์ทสูงสุดของวัน คือ 11.00 – 13.00 น. และ 17.00 – 19.00 น. มีร้านค้าขนาดเล็กกว่า 9,000 ร้านที่เริ่มขายสินค้าผ่านแกร็บมาร์ทในช่วงวิกฤตโควิด-19 เวลาเฉลี่ยในการจัดส่งสินค้าที่สั่งผ่านแกร็บมาร์ท คือ 25 นาที ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางบนท้องถนนของกรุงเทพฯ ช่วงเช้า ความถี่ในการใช้แกร็บมาร์ทของผู้บริโภคต่อเดือนคือ 2-3 ครั้ง  นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ แกร็บมาร์ทจำหน่ายผลไม้ไปแล้วมีน้ำหนักรวมกว่า 5 ล้านกิโลกรัม

ในปีนี้ แกร็บยังเตรียมเดินหน้าขยายพันธมิตรและการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านโชว์ห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้แพลตฟอร์มของแกร็บในการเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายโอกาสในเชิงธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •