เมื่อพูดถึงธุรกิจ แน่นอนว่า “เม็ดเงิน” คือผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการคาดหวัง แต่มีคนกลุ่มหนึ่งปฏิเสธว่ากำไรไม่ใช่เป้าหมายในการทำธุรกิจของพวกเขา แต่คือการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเราเรียกรูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้ว่า Social Enterprise หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม”
แนวคิด Social Enterprise (SE) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1978 โดย Freer Spreckley และในปี 1997 ก็เกิดองค์กรชื่อ Social Enterprise Partnership ขึ้น ในระยะแรกเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มักประสบปัญหาทางการเงินเพราะต้องรอเงินอุดหนุนจากผู้บริจาค ต่อมาก็พัฒนาเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จนพัฒนาแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา แคนาดา อิตาลี ฮ่องกง ฟินแลนด์ อินเดีย และอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ตลอดหลาย10 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มคนเล็งเห็นความเป็นไปได้ของ SE ในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นกระแส “ธุรกิจเพื่อสังคม” แพร่หลายไปทั่วประเทศ แม้แต่ธุรกิจที่แสวงหากำไร ยังต้องนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจนถึงปัจจุบัน
SE ดีอย่างไร? แล้วธุรกิจที่ทำเพื่อกำไร จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้หรือไม่?
มาเรียนรู้และหาคำตอบผ่านเคสตัวอย่าง ธุรกิจเพื่อสังคมในเมืองไทยจากเหล่าคนต้นคิด คงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
Change Fusion x ‘สุนิตย์ เชรษฐา’ “ผู้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม”
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/pg/changefusion
“ที่ Change Fusion เรามีเป้าหมายจริงๆ คือการสร้าง ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ หรืออธิบายง่ายๆ เลยก็คือเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ”
– ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์‘สุนิตย์ เชรษฐา’ นักกิจการเพื่อสังคมแถวหน้าของไทย สังคมเปลี่ยนได้แค่ลงมือทำ (http://www.creativemove.com/interview/sunit-shrestha/#ixzz4sMqPAjLE)
จากกลุ่มเล็กๆ ของนักศึกษาที่ได้รับเงินทุนเป็นรางวัลจากการประกวดที่จัดโดยธนาคารโลกเมื่อปี 2001
เติบโตเป็น Change Fusion องค์กรผู้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยผ่านการดำเนินงาน 2 รูปแบบ หนึ่งคือ เป็นที่ปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ อย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานรัฐ เอกชน และมูลนิธิต่างๆ
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/banpuchampions
ส่วนอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนให้กับกิจการเพื่อสังคมรายอื่นๆ ทั้งช่วยวางแผนธุรกิจ สอนการทำบัญชี และจัดตั้งกองทุนเล็กๆ ขึ้น เพื่อสนับสนุนทุน มีการจัดประกวด และสนับสนุนเรื่องเครือข่าย
โครงการที่ Change Fusion เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้แก่ โครงการบ้านปู หรือ Banpu Champions for Change ที่ทำร่วมกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ปลุกปั้นผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ๆ ออกมาสู่สังคมต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว
ดอยคำ x พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/DoikhamFP
การบริหารงานของดอยคำ จากโจทย์ตั้งต้นที่เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจ คือ การมีวินัยทางการเงิน โปร่งใส ตรวจสอบได้ นั่นคือ สิ่งที่ดอยคำยึดถือมาตลอด แต่ในคำว่าธุรกิจ การทำงานก็ต้องมีกำไร เพราะจากรับสั่งของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ อยากให้ดอยคำอยู่รอด เลี้ยงตัวเองได้ เป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น ราคาและคุณภาพสินค้าก็ต้องแข่งขันกับข้างนอกได้ และการที่องค์กรจะอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คนในองค์กรก็ต้องอยู่ได้ รวมไปถึงคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องก็ต้องอยู่ได้
– ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (http://www.thansettakij.com/content/188360)
ขอบคุณรูปภาพจาก www.doikham.co.th
บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2537 จากเงินส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กว้างไกลและลึกซึ้ง
สืบเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ 2512 ในการแก้ไขปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย และความทุกข์ยากของราษฎรชาวเขา โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชผลทางการเกษตรแทนการปลูกฝิ่น ตลอดจนก่อตั้งโรงงานที่ออกแบบให้กลมกลืนกับภูมิสังคมและวิถีชีวิตรอบชุมชน ที่มากกว่าการรับซื้อวัตถุดิบแล้วนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจนสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้แก่ชาวเขาแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตของคนรอบชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
คุณพิพัฒน์บอกว่า การตั้งบริษัท ดอยคำฯ ขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ทรงต้องการเงินปันผล ขอให้บริษัทอยู่ได้ด้วยตัวเอง นี่คือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมจัดตั้งบริษัทฯ เมื่อกว่า 40 ปีก่อน โดยที่คำว่า Social Enterprise (SE) ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จนถึงปัจจุบัน บริษัทดอยคำฯ ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ และอาหารแปรรูปเพื่อสังคมที่ผลิตสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ดอยคำ” ที่ยังคงยึดมั่นตามแนวทาง “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทยตลอดมา”
ปตท. x เทวินทร์ วงศ์วานิช “ธุรกิจเกื้อกูล เพื่อสังคมที่ยั่งยืน”
“คุณเทวินทร์มองว่า การช่วยสังคมในเชิงกิจกรรมที่ ปตท. ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ เพียงแต่ควรกระจายความช่วยเหลือให้กว้าง ขณะเดียวกันการให้เพียงอย่างเดียวสร้างค่านิยมการรอรับ ไม่ได้ทำให้ผู้รับแข็งแรงขึ้น”
– ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช https://readthecloud.co/?p=6883&preview=1&_ppp=80f42e3f1b
ขอบคุณภาพจาก www.facebook.com/WeLovePTT/
ที่ผ่านมากิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่ม ปตท. มักเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน แต่ในมุมมองของคุณเทวินทร์คิดว่า การช่วยสังคมในเชิงกิจกรรมที่ ปตท. ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ เพียงแต่ควรกระจายความช่วยเหลือให้กว้าง ขณะเดียวกันการให้เพียงอย่างเดียวสร้างค่านิยมการรอรับ ไม่ได้ทำให้ผู้รับแข็งแรงขึ้น
ปตท. จึงเปลี่ยนการช่วยเหลือ ให้อยู่ในรูปแบบที่ชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างแข็งแรง แม้ยากที่จะเป็น SE เต็มตัวด้วยปัจจัยต่างๆ แต่ก็มีแนวทางที่พอจะเป็นไปได้ ปตท. เรียกมันว่า “ธุรกิจเกื้อกูลสังคม” โดยเริ่มจากจัดตั้งทีมงานเล็กๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านสังคมและมีความรู้เชิงธุรกิจมาร่วมทำงานวิเคราะห์โจทย์จากปัญหาที่ ปตท. สร้างผลกระทบ ก่อนจะศึกษาปัญหาและทำความเข้าใจที่จริงจังมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้โจทย์ในการทำงาน ทั้งหาจุดเชื่อมโยงของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสังคมจนเกิดความคิดที่ต่างไปจากเดิม
โดยมีโครงการที่ริเริ่มไปแล้วอย่าง ร้านกาแฟคนพิการ ที่ร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่ ด้วยการเปิดร้านกาแฟที่ดำเนินงานด้วยผู้พิการทั้งหมด ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกร การซื้อเมล็ดกาแฟ และมูลนิธิอยู่ได้ไม่ต้องรอเงินบริจาค แต่มาจากการเกื้อกูลกันของภาคธุรกิจต่อสังคม
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เอง ปตท. มีความตั้งใจให้ทุกธุรกิจในกลุ่มมีธุรกิจเกื้อกูลสังคม และแม้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน แต่เป็นไปได้
จากคำของคนต้นคิดอาจตอบได้ว่า สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ไม่ได้อยู่ที่คำนิยามยากๆ หรือรูปแบบของธุรกิจ แต่อยู่ที่ความตั้งใจและเจตนาที่หวังแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากกว่า อาจปรับเปลี่ยนและสร้างสรรค์วิธีการดำเนินธุรกิจในแบบเฉพาะตัว ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบของคำว่า SE, NGO หรือ CSR เพราะแม้ว่าคำนิยามจะสวยงาม แต่หากวิธีการนั้นไม่เกิดการเกื้อกูลสังคมและซ้ำเติมปัญหา ก็ยากที่จะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ขอบคุณข้อมูล
- ‘สุนิตย์ เชรษฐา’ นักกิจการเพื่อสังคมแถวหน้าของไทย สังคมเปลี่ยนได้แค่ลงมือทำ www.creativemove.com/interview/sunit-shrestha
- “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” ชูโมเดลป้อมมหากาฬ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต กับแนวคิด mutual benefits ธุรกิจ-ชุมชนที่ต้องเกื้อกูลกัน thaipublica.org/2016/08/sanon-wangsrangboon
- ดอยคำ…ธุรกิจเพื่อสังคม สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรไทย www.thansettakij.com/content/188360 , www.doikham.co.th/Doi-Kham-History
- Pride of Thailand สำรวจแหล่งพลังงานของคุณเทวินทร์ วงศ์วานิช CEO ของ ปตท. readthecloud.co/?p=6883&preview=1&_ppp=80f42e3f1b