เพราะ e-Commerce เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์ในไทยและการขายข้ามประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้สถานการณ์การแข่งขันจะยิ่งดุเดือด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่มกลยุทธ์สร้างจุดขาย ล่าสุด Priceza ได้ประกาศอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าด้วยการรุกตลาดอินโดนีเซีย เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Pricezaเครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ว่า ทั้งช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ Priceza มีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 70 ล้านครั้ง ขณะเดียวกันจำนวนสินค้าบนแพลทฟอร์มก็เติบโตขึ้นถึง 28% จากจำนวน 28 ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา เป็น 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ จากการเติบโตของกลุ่ม Cross border (e-Commerce ข้ามพรมแดน) ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศง่ายขึ้น โดยปัจจุบันบนแพลทฟอร์ม Priceza มีฐานสินค้ารวมกว่า 17 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของสินค้าทั้งหมด สอดคล้องกับยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 1,702 บาทต่อออเดอร์
“ครึ่งปีหลังนี้มาร์เก็ตเพลสยิ่งมีแนวโน้มการแข่งขันดุเดือด จากการที่รายใหญ่ต่างชาติเข้ามารุกตลาดหนักขึ้น รวมถึงรายที่เคยพักการทำตลาดในไทยก็หวนสู่ตลาดประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการ e-Commerce ต้องปรับตัวโดยเพิ่มกลยุทธ์และจุดขายเพื่อรองรับการแข่งขัน รวมถึงการแข่งขันกับสินค้าข้ามพรมแดมจากต่างชาติ”
ในช่วงที่ผ่านมา Priceza ได้เปิดตัวบริการ Priceza Money ผ่านเว็บไซต์https://money.priceza.com เพื่อให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและประกันภัย 3 ด้าน ได้แก่ 1.บริการเปรียบเทียบประกันรถยนต์ มากกว่า 1.6 ล้านแผนประกัน 2.เปรียบเทียบบัตรเครดิต จากสถาบันการเงินชั้นนำมากกว่า 69 ใบ และ 3.เปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคล จากสถาบันการเงินชั้นนำ โดยชูความเข้าใจ Pain Point ของผู้คน อาทิ การทำประกันภัยรถยนต์ดั้งเดิมใช้เวลานาน และ 90% ของคนขับรถ จะรู้สึกไม่สบายใจในการขับเมื่อประกันรถยนต์ขาด จึงมีการพัฒนาแพลทฟอร์มให้เชื่อมโยงกับฟินเทคเพื่อแก้ Pain Point ของผู้บริโภค
ทั้งนี้ Priceza ยังตั้งเป้าหมายขยายไปยังประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่า e-Commerce ในอินโดนีเซียจะสูงถึง 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าตลาด e-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นสัดส่วนสูงสุดในภูมิภาค