หลังจากหลายธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ต่างพาเหรดกันออกมาสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ในรูปแบบของการใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างพยายามหาช่องทางในการนำเงินคริปโตมาใช้จ่ายแทนเงินปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ออกมาแสดงความชัดเจนในด้านของการไม่สนับสนุนให้มีการใช้โต้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ
ล่าสุด ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ประกอบไปด้วย คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง มีมติร่วมเห็นชอบห้ามนำคริปโตหรือโทเคนต่างๆ มาใช้แทนเงินสด พร้อมทั้งนำเสนอ หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งหมายถึงคริปโตและโทเคนต่างๆ โดยแบ่งเป็น 6 ข้อห้ามดังนี้
1. ห้ามโฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระ ค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2. ห้ามจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยเงินคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล
3. ห้ามให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัล
4. การขายเงินคริปโตเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการจะต้องโอนเข้าบัญชีผู้ซื้อขายที่เป็นคนทำรายการเท่านั้น ไม่สามารถขายพร้อมโอนไปยังร้านค้าทันที
5. ห้ามให้บริการโอนเงินคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลไปยังบัญชีอื่น เพื่อสำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการ
6. ห้ามดำเนินการอื่นใดที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้เงินคริปโตมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีความกังวลหากมีการใช้คริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลในการใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมีผลต่อความเชื่อมั่นของค่าเงินบาท และจะกระทบต่อแผนดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐดำเนินการมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คล้ายกับลักษณะของการใช้เงินตราต่างประเทศเข้ามาทดแทนการใช้เงินบาท นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างบางประเทศที่มีข้อจำกัดในเรื่องของคริปโต ยกตัวอย่างเช่น
จีนและรัสเซียที่ห้ามทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับคริปโต ไม่ว่าจะเป็นการขุด การเทรดหรือการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ที่ห้ามนำเงินคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ขณะที่อินเดียอยู่ในระหว่างการพิจารณาเสนอกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้การใช้เพื่อชำระสินค้าและบริการในอินเดียเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศเดียวในโลกที่สนับสนุนทุกกิจกรรมของคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับกฎเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องปฏิบัติตามและทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ที่มา: ลงทุนแมน