เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา “บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “TTA” แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ ในชื่อ “บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด” (P80A) เพื่อประกอบธุรกิจสายการบิน (Airline Business)
– ทุนจดทะเบียน 300,000,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 30,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
– ทุนที่ออกและชำระแล้ว 75,000,000 บาท
– มูลค่าเงินลงทุนของ TTA 75,000,000 บาท
– สัดส่วนการถือหุ้น TTA ถือหุ้น 100% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด
– แหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดภายในบริษัทฯ
นอกจากนี้จากข้อมูลจดทะเบียนบริษัทในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด” พบว่า วันที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
มีรายชื่อคณะกรรมการ ดังนี้
1. นายประยุทธ มหากิจศิริ
2. นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ
3. นายฌ็องปอล เทเวอแน็ง
4. นายสมชัย ไชยศุภรากุล
5. นายสมชาย อภิญญานุกุล
6. นายโดม ลิ่วลมวิบูลย์
7. นายคทารัฐ สุขแสวง
8. นาวาอากาศโทแพน มหารักขกะ/
ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน : 51102 การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่ไม่มีตารางเวลา
วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน : ธุรกิจการบิน/ขนส่งทางอากาศโดยทั่วไป
หลังจากจัดตั้งบริษัท พร้อมรายงานตลาดหลักทรัพย์แล้ว ล่าสุด “บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด” (P80 AIR) ประกาศเปิดรับสมัครลูกเรือ (แอร์โอสเตส) ทั้ง Cabin Crew ผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ และ Senior Cabin Crew ที่มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2565
ในประกาศดังกล่าว ยังระบุว่า บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ ชื่อ พี 80 แอร์ จำกัด (P80 AIR) เพื่อประกอบธุรกิจสายการบิน (Airline Business) เที่ยวบิน Regional
ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่า ชื่อ “P80 AIR” คล้ายกับชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสกัดจากลำไย 100% “P80” ของบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ภายใต้เครือพีเอ็ม กรุ๊ป (PM Group) ที่มี “คุณประยุทธ มหากิจศิริ” เป็นประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ที่มีเป้าหมายต้องการพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์ Healthy Lifestyle ของผู้คนยุคนี้ที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรสกัดจากลำไย P80 นั้น มาจากคำว่า Perfect 80 เพื่อต้องการสื่อว่าคุณจะมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ดูอ่อนกว่าวัย แม้อายุ 80 ปี
COVID-19 กระทบสายการบินหนัก จอดทิ้งกว่า 2 พันลำ! – “TTA” สบโอกาสเจรจา ขยายธุรกิจใหม่
ปี 2565 “TTA” เตรียมงบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท ใช้กับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เช่น ซื้อเรือ Offshore และถ้าเห็นว่ามูลค่าเรือต่ำลง มีความเหมาะสมที่จะซื้อ บริษัทมีเงินสดสำรอง เพื่อลงทุนคว้าโอกาสนั้นไว้ รวมทั้งใช้สำหรับการขยายไปยังธุรกิจอื่น
ดังที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการจัดตั้งบริษัท พี 80 แอร์ จำกัด, บริษัท โทรีเซน แอลพีจี จำกัด (TLPG) ดำเนินธุรกิจเรือขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม โดย TTA ถือหุ้น 100% และตั้ง บริษัท โทรีเซน เอฟเอสโอ จำกัด (TFSO) ประกอบธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน
“สาเหตุที่เราเข้ามาในธุรกิจสายการบิน เรามองเห็นโอกาส จากก่อนหน้านี้สายการบินที่เคย Operate อยู่ปีก่อนๆ พบว่ามีหลายสายการบินต้องออกไป และสายการบินที่ยังคงอยู่ ต้องแก้ปัญหาหนี้สินของตัวเอง เนื่องจากช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบิน suffer กับต้นทุน และมีหนี้สินเกิดขึ้น รายได้แทบจะเป็นศูนย์
ประกอบกับเราเห็นว่ามีเครื่องบินจอดทิ้งไว้ประมาณ 2,000 กว่าลำ เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสที่เราจะดิวและเจรจาต่อรองที่จะไปชาร์เตอร์เครื่องบินเข้ามา และชาร์เตอร์ออกไป โดยยังไม่ได้โฟกัสว่าจะทำการขายตั๋ว หรือมาร์เก็ตติ้งโดยตรง แต่จะมีพาร์ทเนอร์ และขณะนี้เรามีมืออาชีพที่มีความรู้ และความชำนาญกว่า 30 ปี มาจัดตั้งและดำเนินการธุรกิจนี้
นี่คือ Business Model ของเราที่เห็นว่ามีโอกาส และเรามีเงินสดในการลงทุน คิดว่าอีกประมาณ 9 เดือน จะสามารถ Operate ได้ โดยระหว่างนี้เป็นช่วง Setup ต่างๆ” คุณคทารัฐ สุขแสวง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่การงิน บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) อธิบายธุรกิจสายการบินในเครือ TTA เมื่อครั้งแถลงผลประกอบการปี 2564 แก่นักลงทุน
เสริมพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจ “TTA”
ปัจจุบัน “บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “TTA” ดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจคือ
– กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ
– กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
– กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร
– กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
– กลุ่มการลงทุนอื่น
โดยรายได้ในไตรมาสที่ 1/2565 จำนวน 6,034.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 979.8 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 418 เมื่อเทียบกับปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจหลักเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ
อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23 ในไตรมาสที่ 1/2564 เป็นร้อยละ 28 ในไตรมาสที่ 1/2565 จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ ส่งผลให้ EBITDA เติบโตร้อยละ 164 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,306.5 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 TTA มีสินทรัพย์รวม 38,325.9 ล้านบาท ลดลง 621.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 2 จากสิ้นปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น จำนวน 1,301.3 ล้านบาท สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ตามกำหนดชำระจำนวน 1,500.0 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2565
นอกจากนี้ TTA ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยเงินสดภายใต้การบริหารยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 10,591.7 ล้านบาท พร้อมอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับต่ำที่ 0.36 เท่า ณ สิ้นไตรมาส
สำหรับผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรกของปีนี้
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ
รายได้ค่าระวางของ โทรีเซน ชิปปิ้ง ในไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 3,164.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของโทรีเซน ชิปปิ้ง ในไตรมาสที่ 1/2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 119 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 24,987 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 23,898 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 5
ขณะเดียวกัน เรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของมีอัตราการใช้ประโยชน์เรือสูงถึงร้อยละ 100 ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 4,048 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
ทั้งนี้ ด้วยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) ที่สูง และ OPEX ค่อนข้างต่ำ จึงส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 230 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วน EBITDA ของโทรีเซน ชิปปิ้ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 309 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,449.9 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ในไตรมาสที่ 1/2565 โทรีเซน ชิปปิ้ง จึงรายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 1,297.0 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 532 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือจำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 14.0 ปี
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง
บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือ เมอร์เมดฯ รายงานรายได้จำนวน 1,335.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 136 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล งานรื้อถอน (decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) รวมถึงงานสำรวจใต้ทะเลที่ไม่ใช้เรือ
อย่างไรก็ตาม เมอร์เมดฯ มีผลขาดทุนขั้นต้นจำนวน 77.8 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากต้นทุนในโครงการวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพิ่มขึ้น และอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลลดลงในช่วงการซ่อมบำรุงตามแผน
ส่งผลให้ EBITDA ของเมอร์เมดฯ ติดลบที่ 161.0 ล้านบาท โดยสรุป เมอร์เมดฯ มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 151.9 ล้านบาท และมีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบที่แข็งแกร่ง จำนวน 271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 1/2565
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร
ในไตรมาสที่ 1/2565 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA รายงานรายได้ที่ 725.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น (pesticide) และรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานที่เพิ่มขึ้น
ปริมาณขายปุ๋ยรวมอยู่ที่ 26.7 พันตัน ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยชะลอตัวในช่วงฤดูกาลอ่อนตัวและราคาปุ๋ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1/2565
ทั้งนี้ ปริมาณขายปุ๋ยในประเทศคิดเป็นร้อยละ 88 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด มีจำนวน 23.4 พันตัน ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะเดียวกันปริมาณส่งออกปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 3.3 พันตัน เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสที่ 1/2564 ซึ่งถูกจำกัดด้วยอัตราค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่สูง และยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัดการขนส่งไปยังกลุ่มลูกค้าหลักในแอฟริกา
นอกจากธุรกิจปุ๋ยเคมีแล้ว ส่วนรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานของ PMTA ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 186 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 23.3 ล้านบาท จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าในงวดนี้
สำหรับกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 88.0 ล้านบาท สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ส่วนอัตราการทำกำไรขั้นต้นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากร้อยละ 15 และร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 12
โดยสรุป PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 1.1 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2565
กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
มีรายได้ 516 ล้านบาท มาจาก 2 แบรนด์คือ
พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 176 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดเป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่
ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 11 สาขาทั่วประเทศ
กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment)
มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์ บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 83.75 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7
แหล่งที่มาประกาศรับสมัครลูกเรือ : Facebook Page บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน