จับตาทายาท “โอสถานุเคราะห์” เศรษฐีหุ้น Top 5 ของไทย เมื่อโอสถสภา เข้าตลาดหุ้น

  • 3.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

001

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งมากว่า 127 ปีแล้ว และเป็นกิจการอายุร้อยปีเพียงไม่กี่แบรนด์ ที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย และทุกแบรนด์ยังเป็นแบรนด์แถวหน้ามาทุกยุค

อายุ 105 ปี ก็มีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อายุ 112 ปี ก็มี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

องค์กรอายุเกินร้อยปีอย่างโอสถสภาถึงปัจจุบัน ผ่านผู้บริหารเข้าสู่รุ่นที่ 5 ย้อนไปสู่ยุคแรกๆ ผู้ที่เป็นยุคบุกเบิกอยู่ในสกุลเดิมคือ แซ่ลิ้ม หรือ “คุณแป๊ะ โอสถานุเคราะห์” เปิดร้านขายยา และขายสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่มีชื่อว่า เต๊กเฮงหยู ถือเป็นต้นกำเนิดของโอสถสภา

002

รุ่น 2 บุตรชายคุณแป๊ะคือ คุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ เข้ามาสานต่อธุรกิจ จนกระทั่งเข้าสู่รุ่น 3 คือยุคของคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ บุตรชายคุณสวัสดิ์ เข้ามาดำเนินการสืบทอดธุรกิจ จากนั้นก็ถือยุคบุตรชายคุณสุรัตน์ นั่นคือ ยุคของ คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ที่เป็นบุตรชายคนโต คุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และคุณนิติ โอสถานุเคราะห์

มีคำถามเกิดขึ้นว่า เหตุใดเพิ่งจะมาตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เป้าระดมทุน 1.5 หมื่นล้าน

โอสถสภา เพิ่งจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลหรือไฟลิ่ง ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561

จำนวนหุ้นหุ้นสามัญที่จะเสนอขายให้กับประชาชน (IPO) มีจำนวนไม่เกิน 603,750,000 หุ้น

หุ้น IPO ที่ว่านี้ ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท จำนวนไม่เกิน 506,750,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น รวมถึงหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Y Investment Ltd จำนวนไม่เกิน 30,000,000 หุ้น

1 OSOT

รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.10% ของจำนวนหุ้นสามัญ ที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้น IPO

ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในการนำเข้าตลาดหุ้นคือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA

โอสถสภาได้ใช้เวลาเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์มาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว เพราะดีลงาน IPO ของบล.บัวหลวง และบล.ภัทร ส่วนใหญ่ จะดำเนินการแบบเงียบๆ ไม่ค่อยอยากให้เป็นข่าว จนกระทั่งถึงวันที่ยื่นไฟลิ่ง ถึงจะมีการเผยแพร่ข้อมูลออกมา

มีการประเมินจากนักวิเคราะห์ว่า โอสถสภาน่าจะต้องการเงินจากการระดมทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือตัวเลขอาจจะมากถึง 1.5 หมื่นล้านบาททีเดียว

สินค้าตั้งแต่เกิดจนแก่

แต่ก่อนที่จะไปดูว่า โอสถสภาต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้อะไรบ้างนั้น เรามารู้จักแบรนด์สินค้าของโอสถสภากันก่อนดีกว่า

ปัจจุบัน ชื่อของ โอสถสภา เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ทว่าในด้านของแบรนด์สินค้าต่างๆ ก็เชื่อเช่นกันว่า คนทั่วไปจะรู้จักกันดี (มาก) ด้วยเช่นกัน

 

product

โอสถสภา เป็นผู้ผลิต ทำการตลาดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วยกลุ่มสินค้า 2 กลุ่ม คือ

1.ผลิตภัณฑ์กลุ่มหลัก มีเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ และกาแฟพร้อมดื่ม

2.ผลิตภัณฑ์กลุ่มรอง คือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ

ในส่วนของผลิตภัณฑ์กลุ่มหลัก มีสินค้าที่เป็น Flagship หรือเรือธง ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีนั่นคือ เครื่องดื่มเอ็ม-150

เอ็ม-150 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2528 และปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังของประเทศไทย สำหรับปี 2560 เครื่องดื่มบำรุงกำลังมีมูลค่าตลาดค้าปลีกคิด เป็นสัดส่วน 39.0% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกภายในประเทศ

เอ็ม-150 มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในตลาดระดับผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ซึ่งมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และยังจำหน่ายในเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย รวมทั้งเวียดนามอีกด้วย

3 OSOT

เอ็ม-สตอร์ม เครื่องดื่มชนิดนี้ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2553 มีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย เป็นผู้บริโภคอายุน้อยในตลาดพรีเมี่ยม (Premium Market) ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ถึง 35 ปี

ลิโพวิตัน-ดี เป็นอีกแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยมรองจาก เอ็ม-150 โดยเริ่มขายมาตั้งแต่ปี 2508 เครื่องดื่มลิโพมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในตลาดพรีเมี่ยม ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

นอกจากนี้โอสถสภา ยังมีเครื่องดื่มบำรุงกำลังอื่นๆ อีกที่จับกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันไป เช่น เครื่องดื่มฉลาม ที่ขายอยู่ในระดับภูมิภาคของประเทศไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี 2533 ซึ่งสินค้าฉลามมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ทางภาคเหนือและภาคใต้ของไทย

โสมอิน-ซัม เปิดตัวครั้งแรกในปี 2553 และกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง ด้วยภาพลักษณ์ใหม่พร้อมกิจกรรมเพื่อการโฆษณารูปแบบใหม่ในปี 2560

4 OSOT

เอ็มเกลือแร่ (M-Electrolyte) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2537 ภายใต้ชื่อแบรนด์ เอ็ม-สปอร์ต แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อในช่วงปลายปี 2560 เป็นเอ็มเกลือแร่ (M-Electrolyte) เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อายุน้อย

นอกจากนี้ยังมีกาแฟพร้อมดื่ม เอ็ม-เพรสโซ เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2561, เครื่องดื่มชาร์คคูลไบท์ (บางประเทศในยุโรปจะจำหน่ายในชื่อ ชาร์ค) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2543 และเครื่องดื่มชาร์ค เปิดตัวครั้งแรกในปี 2541 โดยเป็นเครื่องดื่มสูตรพิเศษสำหรับตลาดในเมียนมาร์ และโอสถสภายังมีเครื่องดื่มแบรนด์สินค่าอื่นๆ อีกเช่น  เครื่องดื่มซี-วิต, เครื่องดื่มเปปทีน, เครื่องดื่มคาลพิส และเครื่องดื่มคาวาอิ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในปี 2560

ผู้นำสินค้าเด็กและความงาม  

มาดูผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลของโอสถสภากันว่าจะมีอะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้ตราสินค้า เบบี้มายด์ และ ทเวลฟ์พลัส ในส่วนของสินค้าภายใต้แบรนด์เบบี้มายด์ เช่น แป้งเด็ก เจลอาบน้ำและสบู่ก้อน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงโลชั่นและมอยซ์เจอร์ไรเซอร์สำหรับเด็ก รวมทั้งสินค้าภายใต้แบรนด์ ทเวลฟ์พลัส ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง ที่มีทั้งน้ำหอม แป้ง สินค้าทำความสะอาดผิว และกลุ่มผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น สินค้าระงับกลิ่นกาย

โอสถสภาเป็นทั้งผู้ผลิต ทำการตลาด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง ภายใต้ตราสินค้าทเวลฟ์พลัส สินค้าจะวางขายทั้งในประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา

ปัจจุบันมูลค่าตลาดค้าปลีกของผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง มีมูลค่ากว่า 7,849 ล้านบาท สำหรับปี 2560

โอสถสภาพยังเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ อีก เช่น บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ลูกอมต่างๆ (โบตันมิ้นท์บอล, โอเล่ ฯลฯ) โดยรายได้จากสินค้าต่างเหล่านี้จะคิดเป็น 4-5% ของรายได้รวมทั้งหมด

จากสินค้าทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาหลักๆ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์สินค้าที่ประชาชนทั่วไปต่างรู้จัก และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และหลายๆ แบรนด์สินค้านั้น ทางโอสถสภาก็มีส่วนแบ่งการตลาดมากสุด หรือเป็นผู้นำตลาดในประเภทนั้นๆ อยู่

กลับมาสู่คำถามที่ว่า โอสถสภาต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้จ่ายอะไรบ้าง

รายได้โอสถสภา-01

กำไรปี 60 เกือบ 3,000 ล้านบาท

ตามแบบของไฟลิ่งที่ยื่นกับก.ล.ต. นั้น โอสถสภา ระบุว่า เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงการผลิต การจัดจำหน่ายสินค้า ประสิทธิภาพสินค้าและการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท และยังจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินงาน

ในด้านตัวเลขสำคัญทางการเงินของโอสถสภา มีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,003.75 ล้านบาท ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 2,336 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 905.6 บาท, ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 2,980.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,217.2 บาท และปี 2560 มีกำไรสุทธิ 2,939.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 1,226.7 บาท และ ณ สิ้นปี 60 มีสินทรัพย์รวม 15,197.6 ล้านบาท หนี้สินรวม 11,758.2 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,439.4 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโอสถสภาบริษัท ประกอบด้วย “นิติ โอสถานุเคราะห์” ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ถือหุ้น 624,250,000 หุ้น คิดเป็น 25% ภายหลังจากเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 20.78%

“Orizon Limited”  ถือหุ้น 604,148,600 หุ้น คิดเป็น 24.19% จะลดการถือหุ้นลงเหลือ 537,148,600 หุ้น คิดเป็น 17.88% และ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ถือหุ้น 149,735,700 หุ้น คิดเป็น 6% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 4.98%

จับตาทายาทโอสถสภา

สำหรับ นิติ โอสถานุเคราะห์ จัดเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมายาวนาน เป็น “เซียนหุ้น” หมื่นล้านที่ไม่เคยเป็นข่าว เป็นผู้ที่มีบุคลิกโลว์โปรไฟล์และมีมูลค่าพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ด้วยการเข้าไปถือหุ้นบริษัทต่างๆ เช่น MINT HMPRO CENTEL และ CPN ฯลฯ

ล่าสุด เขาถูกจัดอันดับให้เป็น “เศรษฐีหุ้น” อันดับ 5 ของประเทศไทย ด้วยการถือครองหุ้นมูลค่ารวม 28,897.84 ล้านบาท

ว่ากันว่า นิติ ใช้เวลากว่า 20 ปี สามารถสร้างสินทรัพย์ด้วยตัวเขาเองจากตลาดหุ้น กระทั่งปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมมากกว่าทรัพย์สินของทั้งตระกูล

ผ่านมาถึงวันนี้ นิติ กำลังมีบทบาทสำคัญ ต่อการนำพากลุ่มโอสถสภาก้าวขึ้นมาอีกระดับแล้ว นั่นคือ การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับถูกคาดหมายว่า โอสถสภา น่าจะเป็นหุ้นอีกบริษัทที่นักลงทุนทั้งประเภทสถาบัน (กองทุน) นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อย ต่างต้องการหุ้นตัวนี้ไว้ในพอร์ตอย่างมาก

ก่อนหน้านี้มีหุ้นหลายบริษัทที่เข้าตลาดหุ้น เพราะอิทธิพลของแบรนด์สินค้าที่นักลงทุนหรือคนทั่วไปรู้จัก เช่น บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD ที่มีสินค้าเรือธงคือ “สเนลไวท์” และทำให้หุ้น DDD ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และราคาหุ้นปรับขึ้นสูงมาก

โดย DDD มีที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น คือ บล.บัวหลวง

ขณะที่โอสถสภา (มีบล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเช่นกัน) ได้ถูกมองว่า แบรนด์อย่าง เอ็ม-150 ที่เป็นเรือธง จะมีส่วนสำคัญผลักดันให้โอสถสภา ก้าวขึ้นมาเป็นหุ้นชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่ยากนัก

6 OSOT

7 OSOT


  • 3.1K
  •  
  •  
  •  
  •