OR มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านโครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง OR SDG ตลอดทั้งปี

  • 1.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR คือ การสร้างระบบนิเวศของธุรกิจที่สร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผ่านวิสัยทัศน์ “Empowering All Toward Inclusive Growth” ตามแนวทาง OR SDG ซึ่งประกอบด้วย Small มุ่งให้โอกาสคนตัวเล็ก Diversified เพิ่มโอกาสการเติบโตอย่างหลากหลายภายในแพลตฟอร์ม และ Green ที่มุ่งสู่การเป็นสังคม Low Carbon เพื่อเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นด้านที่ OR ผลักดันอย่างเห็นได้ชัดผ่านหลากหลายโครงการตลอดปี 2023

โดยแบ่งออกเป็นโครงการหลักๆ ถึง 3 ด้านกัน ทั้งโครงการในด้านพลังงาน (Energy) ที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวชดเชยการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ และด้านการนำกลับมาใช้ (Circular Economy) ด้วยการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ

 

 

สร้างความมั่นคงด้วยพลังงานหมุนเวียน

แม้ OR จะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานหมุนที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมให้ธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ด้วยการลดการใช้พลังงาน เพื่อนำสู่การกระตุ้นให้เกิดการลดการสูญเสียทรัพยากรภายในองค์กร

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น OR ยังมีการดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานใช้ในสถานประกอบการเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าหลัก และยังมีการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน (REC:Renewable Energy Certificate)

ผลจากทั้ง 2 โครงการ ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ช่วยให้ธุรกิจมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงถึง 8.563 MWp ขณะที่การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียน (REC:Renewable Energy Certificate) สามารถซื้อพลังงานหมุนเวียนสำหรับปี 2023 คิดเป็นจำนวน 2,875 MWh

 

เพื่อพื้นที่สีเขียวชดเชยการปล่อยคาร์บอน

นอกจากการลดใช้พลังงานและการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการใช้พลังงานหลักแล้ว OR ยังมีโครงการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปชดเชยการปล่อยคาร์บอนขององค์กร โดยเป็นโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนผ่าน 2 โครงการหลักที่ร่วมกับพันธมิตรในการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าชุมชนเพื่อให้เป็นปอดสำหรับผู้คนในแต่ละพื้นที่

 

 

โดยจะเป็นโครงการปลูกป่าลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกรมป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยารวมพื้นที่ 1,900 ไร่ ซึ่งในปี 2023 ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าแล้วรวมพื้นที่ 1,500 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 แปลง โดยมีพื้นที่ 280 ไร่อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถนำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้

และโครงการบำรุงรักษาป่าชุมชน โดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินการดูแลและรักษาป่าชุมชน รวมพื้นที่ 8,100 ไร่ กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่, เชียงราย, อำนาจเจริญ และยโสธร ปัจจุบัน OR อยู่ระหว่างกระบวนการจัดจ้างและลงนามในสัญญาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และสามารถนำปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

นำกลับมาใช้เสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ไม่เพียงเท่านี้การนำกลับมาใช้ยังเป็นอีกโครงการที่ OR ให้ความสำคัญเพื่อลดปริมาณขยะ โดยผ่านกระบวนการ Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ และ Upcycling หรือกระบวนการแปรรูปขยะเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่มีจำนวนมากมายมหาศาลแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเหล่านั้นได้

โดย โครงการ Waste to Value เป็นการนำขยะที่เหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเช่น ในร้านกาแฟ Café Amazon ที่มีการนำแก้วและขวดพลาสติก PET จำนวน 2.83 ตัน มาดำเนินการแปรเปลี่ยนให้เป็นเส้นใยเพื่อผลิตเป็นเสื้อพนักงาน, ผ้ากันเปื้อน และโซฟา รวมถึงยังนำถุงฟอยล์บรรจุเมล็ดกาแฟที่ใช้แล้ว มาผสมกับรีไซเคิลพลาสติกเพื่อผลิตเป็นแผ่นผนังตกแต่งภายในร้าน Café Amazon

 

 

หรือการนำเยื่อหุ้มกาแฟที่เหลือจากกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟ มาผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน Café Amazon เช่น โต๊ะ, เก้าอี้, เคาน์เตอร์ชงกาแฟ, ชั้นวางของ และโคมไฟ ที่สำคัญยังมีการนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นต้นไม้เทียมสำหรับตกแต่งภายในร้าน Café Amazon

 

 

แปลงของเสียมาใช้ในร้านสู่ Green Retail

 

ไม่เพียงแค่ร้าน Café Amazon ที่มีการนำขยะกลับมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในร้านแล้ว OR ยังได้มีการนำขยะของเสียจากร้านอื่นๆ ในเครือ OR มาเแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อกลับมาใช้ในร้านค้าของ OR อย่าง โครงการ Wood Plastic Composite ซึ่งเป็นโครงการที่นำกระป๋องน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วจาก Fit Auto กลับมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้เพื่อนำไปสร้างเป็น Furniture สำหรับตกแต่งภายในร้าน FIT Auto

หรือโครงการ “Used Cooking Oil to Biodiesel (B100)” แปลงน้ำมันพืชสำหรับทอดที่ใช้แล้วจากร้าน Texas Chicken ในแต่ละสาขา มาผลิตเป็น Biodiesel B100 โดยผ่านกระบวนการ Recycle ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียประเภทน้ำมันและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) หนึ่งในแผนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

 

และ โครงการ Recycle ถัง LPG เป็นความร่วมมือกันระหว่าง OR, ปตท. และโตโยต้า ทูโช ในการนำถังก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่หมดสภาพการใช้งานกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการซ่อมบำรุงได้อีกครั้ง โครงการนี้นอกจากจะช่วยลดซากเหล็กที่ต้องทำลายทิ้งเปล่าประโยชน์ประมาณ 1,370 ตันต่อปีแล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ถึงประมาณ 9,000 ตันต่อปีที่เกิดจากการทำลายซากเหล็กอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือความพยายามช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมของ OR สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดต้นทุนเพื่อประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ


  • 1.3K
  •  
  •  
  •  
  •