เป็นที่รู้กันว่าการทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการจำเป็นต้องยื่นหลักฐานรายได้แก่กรมสรรพากร เพื่อเสียภาษีตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่ช่วงหลายปีที่มามีคนจำนวนหนึ่งพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ไม่ยื่นข้อมูลการทำธุรกิจแก่สรรพากร ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวสามารถทำได้ง่าย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาที่ตั้งการทำธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อเอาผิดได้
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล โดยสาระสำคัญ คือ บัญชีของผู้ใช้คนไหน มีความเคลื่อนไหวทั้งรับโอนและฝากเงิน มากกว่า 3,000 ครั้งต่อปี หรือทั้งรับโอนและฝากเงินจำนวน 200 ครั้ง แต่มียอดรวมมูลค่ากว่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบบัญชี เพื่อเช็คการจ่ายภาษี ลดช่องโหว่ทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การร่างข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะบุคคลที่ทำธุรกิจออนไลน์เท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ทุกอาชีพ ถือเป็นการยกระดับการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จากสถิติผู้ใช้แรงงาน ที่มีอายุ 30 – 39 ปี จำนวน 10.7 ล้านคน มีเงินเดือนประจำราว 8.2 ล้านคน ยื่นภาษีเพียง 5.2 แสนราวเท่านั้น และบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ ไม่มีระบบเงินเดือนที่ชัดเจนจำนวน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษีเพียง 3.1 แสนคน และจำนวนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี มีจำนวน 6.4 แสนราย แต่ยื่นเสียภาษีจริงมี 4.2 แสนราย จากตัวเลขจะเห็นได้ว่ามีบุคคลจำนวนมาก ไม่ยื่นเสียภาษีทางกฎหมาย ซึ่งการร่างเพิ่มเติมประมวลกฎหมายดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ง่ายขึ้น เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์