“ให้รางวัล vs. ลงโทษ” สองทางเดิน “ห้างฯไทย” ต้องเลือก! สร้างพฤติกรรมคนไทยงดใช้ถุงพลาสติก

  • 131
  •  
  •  
  •  
  •  

plastic

แม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้ “ถุงผ้า” มาหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนปริมาณการใช้ “ถุงพลาสติกหูหิ้ว” ในประเทศไทย ยังไม่ลดน้อยลง และยังคงเห็นกันในชีวิตประจำวัน เป็นผลมาความคุ้นชิน และพฤติกรรมของคนไทยที่ฝังรากลึก ทั้งในฝั่งผู้ขาย และฝั่งผู้บริโภค เมื่อใดก็ตามที่ซื้อสินค้า ไม่ว่าจะชิ้นเล็ก หรือชิ้นใหญ่ “ผู้ประกอบการ” ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าทั่วไป และค้าปลีกสมัยใหม่ จะหยิบของใส่ถุงพลาสติกให้โดยอัตโนมัติ

เช่นเดียวกับฝั่ง “ผู้บริโภค” ส่วนใหญ่ต้องการให้ร้านค้าใส่ถุงพลาสติก ทำให้การซื้อของแต่ละครั้ง มีไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ถุง เหตุผลที่คนไทยต้องการ “ถุงพลาสติกหูหิ้ว” ทุกครั้งที่ซื้อของ เพราะความสะดวกสบายในการหิ้ว และมองว่าสามารถนำถุงนั้นไปใช้เป็นถุงขยะต่อได้อีก

มีรายงานสถิติปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของคนไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 คน ใช้ถุงพลาสติก 3 ใบต่อวัน ส่งผลให้ขยะพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ปีละ 7,000 ล้านใบ !! และขยะจากถุงพลาสติกในประเทศไทย ร้อยละ 75 ไม่สามารถกำจัดได้

 

อย่างไรก็ตาม เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในสังคมไทย เมื่อคนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม ที่ส่วนหนึ่งมาจากขยะถุงพลาสติก ประกอบกับทางฝั่ง “ผู้ประกอบการภาคเอกชน” โดยเฉพาะ “ค้าปลีกสมัยใหม่” หรือ “Modern Trade” ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ดีพาร์ทเมนท์สโตร์, ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนของสังคมที่ในแต่ละปีมีการใช้ “ถุงพลาสติก” ปริมาณมหาศาล ได้ใช้วันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมใจรณรงค์ “งดใช้ถุงพลาสติก” อย่างจริงจังขึ้น !! หลังจากก่อนหน้านี้หลายเชนโมเดิร์นเทรดในไทย ทำโครงการ “ลดใช้ถุงพลาสติก” มาสักพักใหญ่แล้ว ซึ่งมีทั้งผู้บริโภคที่รับรู้ และไม่รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำถุงผ้ามาเอง แทนการใช้ถุงพลาสติก

แต่นับจากนี้การรณรงค์จะเข้มข้นขึ้น โดยมุ่งไปที่การสร้างพฤติกรรมคนไทยให้ปฏิเสธ/งดใช้ถุงพลาสติก ด้วยวิธีการ “ให้รางวัล” เพื่อสร้าง “แรงจูงใจ” ในการปฏิเสธรับถุงพลาสติก โดยลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก จะได้รับ “คะแนนสะสมเพิ่ม” ในบัตร Loyalty Card ของเชนค้าปลีกนั้นๆ

ตรงกันข้ามกับต่างประเทศ ที่ภาครัฐ จับมือภาคเอกชน ควบคุมการใช้ถุงพลาสติกชัดเจน เพื่อลดขยะพลาสติก โดยเน้นไปที่ “บทลงโทษ” ทั้งการเก็บภาษีถุงพลาสติก ไปจนถึงการใช้ “ยาแรง” ออกกฎหมายจำคุก หรือปรับเงิน มีผลครอบคลุมตั้งแต่ผู้ผลิต – ผู้จัดจำหน่าย – ผู้บริโภค !!!

Supermarket

 

“กลุ่มเซ็นทรัล” รวมพลังเชนค้าปลีกในเครือ กระตุ้นคนไทยปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก

 

“กลุ่มเซ็นทรัล” รณรงค์ลดการใช้ถุงในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าในเครือ ตั้งแต่ปี 2551 เมื่อลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุง จะได้รับแต้มสะสม “The 1” และจากนี้ ในวันที่ 4 ธันวาคม และทุกวันที่ 4 ของเดือนนับจากเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป เชนค้าปลีกในเครือกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ จะงด หรือลดการใช้ถุงพลาสติกกับลูกค้า ด้วยแนวคิด “งดถุง ได้แต้ม ทุกวัน ทุกครั้งที่ช้อป”

– ห้างเซ็นทรัล/เซน จัดรายการ “CENTRAL l ZEN Bring Your Own Bag” ไม่รับถุงช้อปปิ้งวันที่ 4 ธันวาคมนี้ และทุกวันที่ 4 ของทุกเดือนจากนี้ จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 20 คะแนน/ใบเสร็จ และรับเพิ่มอีก 10 คะแนน/ใบเสร็จ เมื่อช้อปด้วยถุงผ้าของเซ็นทรัล

ส่วนวันอื่นๆ ลูกค้าที่ไม่รับถุงช้อปปิ้ง จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 10 คะแนน/ใบเสร็จ และหากนำถุงผ้าของเซ็นทรัล หรือถุงผ้าเซน มาช้อปจะได้รับคะแนน The 1 เพิ่มอีก 10 คะแนน

– เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ จะงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้าตั้งแต่วันที่ 3 – 4 ธันวาคมนี้ และตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ทุกวันที่ 4 ของเดือน จะงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้าที่มาช้อปปิ้ง หากลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกในวันที่ 3 – 4 ธันวาคมนี้ จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 8 คะแนน เช่นเดียวกับวันอื่น หากลูกค้าไม่รับถุง จะได้รับแต้มสะสม 8 คะแนน

– โรบินสัน ไม่รับถุง หรือเตรียมถุงผ้ามาจากบ้าน จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 10 คะแนน และยังมีกิจกรรม “ช้อปไม่รับถุง” รับคะแนน The 1 จำนวน 10 คะแนนทุกวัน

– ซูเปอร์สปอร์ต หากลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกในวันที่ 4 ธันวาคม จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 20 คะแนนทันที

– แฟมิลี่มาร์ท ทุกวันที่ 4 ของเดือน จะงดให้ถุงกับลูกค้า ทุกสาขาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า โดยจัดเตรียมถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป ทั้งถุงกระดาษโชคดี ถุงผ้าเคลือบรักษ์โลก

– ออฟฟิศเมท ทุกวันที่ 4 ของเดือน งดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า โดยลูกค้าจะได้คะแนน The 1 จำนวน 10 คะแนน และหากลูกค้าซื้อสินค้าครบ 150 บาท จะได้รับสิทธิ์ซื้อถุงผ้าราคาพิเศษ 29 บาท

– ไทวัสดุ และ บ้านแอนด์บียอนด์ จะงดใช้ถุงทุกวันที่ 4 ของเดือน เริ่มตั้งแต่ 4 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป โดยลูกค้าที่ไม่รับถุงทุกวันที่ 4 ของเดือน รับคะแนน The 1 จำนวน 8 คะแนน และวันอื่นๆ หากไม่รับถุง รับคะแนนวัน The 1 จำนวน 8 คะแนน

– บีทูเอส นับจากวันที่ 4 ธันวาคมเป็นต้นไป ทุกวันหากลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก จะได้รับคะแนน The 1 จำนวน 5 คะแนน และหากไม่รับพลาสติกห่อปกหนังสือจะได้รับอีก 5 คะแนน

– เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (ซีอาร์จี) ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ จะใช้วิธีลดใช้ถุงพลาสติกแทน และในอนาคตกำลังอยู่ระหว่างการจัดหาบรรจุภัณฑ์ และหูหิ้วที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ ที่ย่อยสลายได้ มาทดแทนการใช้พลาสติก

– โรงแรมเครือเซนทารา จะเปลี่ยนถุงซักผ้า (Laundry Bag) จากถุงพลาสติก เป็นถุงผ้า หรือถุงสปันบอนด์ นอกจากนี้ Shopping Bag และ Beach Bag ที่ให้บริการให้ห้องพัก จะเปลี่ยนเป็นถุงผ้าทั้งหมด และทำต่อเนื่องทุกวันไม่ใช่เฉพาะแค่วันที่ 4 เท่านั้น

Central Group No Bag

 

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เพิ่มวัน – เพิ่มแผนกรณรงค์มากขึ้น

 

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ได้ประกาศเป็น “Green Department Store” และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาคีสมาชิกของ Climate Neutral Network ผ่านโครงการ The Mall Think Green ในการร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ หันมาใช้ถุงพลาสติกแบบ Oxo Biodegradable Bag ที่ย่อยสลายได้เองภายใน 1 ปี พร้อมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก และให้ใช้ถุงผ้าแทน มาตั้งแต่ปี 2550

ในปี 2561 ได้เพิ่มวัน และแผนกที่ร่วมรณรงค์มากขึ้น ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในห้างฯ ผ่านบัตร M Card หากปฏิเสธรับถุงช้อปปิ้ง ถุงพลาสติก จะได้รับคะแนน M Point เพิ่มอีก 10 คะแนนในทุกวัน และจากนโยบายที่กลุ่มเดอะมอลล์ ประกาศงดให้บริการถุงพลาสติก เนื่องในวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีนโยบายต่อยอดการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มวัน งดให้บริการถุงพลาสติก ในทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน และยังได้รับคะแนน M Point 10 คะแนน เช่นเดิม

สำหรับวันที่ 4 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ต่อยอดการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมร่วมกัน ทางห้างฯ จะงดให้บริการถุงพลาสติกกับลูกค้าเพิ่มอีก 1 วัน โดยลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ในการช้อปปิ้ง และรับคะแนนสะสม M Point 10 คะแนน ที่เดอะมอลล์ทุกสาขา, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, พารากอน ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และบลูพอร์ต หัวหิน พร้อมตั้งเป้าสิ้นปีนี้ ลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้มากกว่า 6 ล้านใบ

The Mall Group no bag

 

“เทสโก้ โลตัส” ใช้กลยุทธ์ 5R ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม – ชูแนวคิด “Circular Economy”

 

“เทสโก้ โลตัส” ใช้กลยุทธ์ “5R” ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ “Reduce” – การลดใช้ถุงพลาสติก ไม่ซ้อนถุง ใช้เท่าที่จำเป็น หรือไม่รับถุงพลาสติกเลย / “Reuse” – การนำถุงกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ถุงผ้า / “Recycle” – การนำกล่องกระดาษกลับมาแปรรูปเป็นถุงกระดาษ

“Reward” – การสร้างแรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการมอบแต้มกรีนพ้อยท์ และ “Rebate” – การให้ส่วนลด 1 บาท ต่อ 1 ใบเสร็จ เมื่อลูกค้านำถุงผ้าเทสโก้ โลตัส ที่มีบาร์โค้ดพิเศษมาใช้ซื้อสินค้า ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีถุงผ้าหลากหลายดีไซน์ ราคา 89 และ 99 บาท ผลิตขึ้นโดยมีบาร์โค้ดพิเศษติดอยู่ด้านข้างถุง เพื่อให้ลูกค้าไม่ลืมที่จะนำถุงผ้ากลับมาใช้ทุกครั้งที่มาซื้อของที่เทสโก้ โลตัส

ล่าสุดจับมือกับ “ธุรกิจแพคเกจจิ้งเอสซีจี” นำกล่อง และกระดาษใช้งานแล้วในธุรกิจของเทสโก้ โลตัส มารีไซเคิลเป็น “ถุงกระดาษ” เพื่อใช้ในวันสิ่งแวดล้อมไทยที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ที่เทสโก้ โลตัส 2,000 สาขาทั่วประเทศ เป็นไปตามแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ในการนำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด กลับมาสร้างคุณภาพ และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ ในการงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ร้านค้าทุกรูปแบบ

สำหรับการณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของลูกค้า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืนของกลุ่มเทสโก้ โลตัส ที่เรียกว่า “The Little Helps Plan” โดยเทสโก้ โลตัสเริ่มรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2553 และในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ลดถุงพลาสติกไปได้แล้ว 100 ล้านใบ และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เพิ่มแต้ม Green Point 5 เท่า จากเดิม 20 แต้ม เป็น 100 แต้มทุกวัน ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น 70%

tesco-scg

 

“บิ๊กซี” งดแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศ

 

“บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทบีเจซี ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิญชวนลูกค้า ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม นี้ ด้วยการ “งดแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศ” โดยรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพิ่มเติม บิ๊กซีได้นำถุงผ้ามาจัดจำหน่าย ในราคาพิเศษอีกด้วย

นอกจากนี้เพื่อร่วมรณรงค์อย่างยั่งยืน Big C Food Place ได้จัดในมีแคชเชียร์เลนพิเศษ “No Plastic Bag Lane” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก ให้สามารถชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนปฏิเสธการรับถุงพลาสติก และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

และเพื่อฉลองครบ 25 ปี บิ๊กซี จำหน่ายถุงบิ๊กซีรักษ์โลกในราคา 25 บาท ถึงสิ้นปีนี้ สำหรับสมาชิกบิ๊กการ์ด เมื่อซื้อถุงผ้าที่บิ๊กซีในวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคมนี้ รับคะแนนสะสม 2000 คะแนน และ พิเศษ x 2! สำหรับสมาชิกบิ๊กการ์ดที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 200 บาทและไม่รับถุงพลาสติก จะได้รับคะแนนพิเศษเป็น 200 คะแนนทันที เมื่อช็อปที่บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า บิ๊กซีมาร์เก็ต และรับ 100 คะแนน เมื่อช็อปครบ 100 บาท ที่มินิบิ๊กซี ในวันที่ 4-5 ธันวาคมนี้ ที่บิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ

BigC_BJC

 

“เซเว่น อีเลฟเว่น” เดินหน้านโยบาย 7 Go Green ลด และเลิกใช้ถุงพลาสติก

 

ขณะที่ฝั่งเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของเมืองไทย “เซเว่น อีเลฟเว่น” ใช้นโยบาย “7 Go Green” ถือฤกษ์เมื่อวันที่ 7 เดือน 11 ที่ผ่านมา ประกาศเจตนารมณ์ “ลด และ เลิกใช้ถุงพลาสติก” ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ เพื่อเชิญชวนคนไทยร่วมกันลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกร่วมกัน

ลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกกับโครงการปฏิเสธถุงได้แต้ม โดยร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศจะให้แต้ม 10 แต้มกับลูกค้าที่ชำระเงินผ่านบัตร 7 Value Card นอกจากนี้ ยังมีโครงการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ดำเนินการในหลายโครงการ เช่น โครงการปฏิเสธถุง…ได้ใจ, ใช้ถุงผ้า…บอกลาถุงพลาสติก และขยายผลด้านการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ในมหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาล และตามเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโต และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบนพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

โดยร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาที่ตั้งอยู่บนเกาะ ได้รณรงค์ 4 รูปแบบ คือ 1. งดให้ถุงขนาดเล็กกับลูกค้าทุกคนยกเว้นที่เป็นสินค้าประเภทของร้อน / 2. ยกเลิกแคปซีล(การใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม) / 3. ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มหลอดและเปลี่ยนเป็นใช้กระดาษแทนพลาสติก รวมไปถึงการติดตั้งกล่องกดหลอดเพื่อลดปริมาณการใช้หลอด และ 4. การติดตั้งถังขยะแยกประเภทบริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขา เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อชุมชน พร้อมติดตั้งสื่อรณรงค์ส่งเสริมการลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก

7-11 no bag

 

ต่างประเทศ ใช้มาตรการ “ลงโทษ” เปลี่ยนพฤติกรรมคนได้เร็ว!

 

จะสังเกตได้ว่าการสร้างพฤติกรรมงดใช้ถุงพลาสติกในไทย แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก เพราะในขณะที่ไทย เลือกใช้วิธี “ให้รางวัล” ด้วยคะแนนสะสมใน Loyalty Card

แต่สำหรับในต่างประเทศ ภาครัฐ และภาคเอกชนผนึกกำลังกัน ใช้วิธี “ลงโทษ” คนที่ต้องการถุงพลาสติกหูหิ้วในหลายมาตรการ เช่น หลายประเทศใช้มาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติก ในกรณีไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต หากต้องการถุง ลูกค้าต้องเสียค่าถุง เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเสียเงินค่าถุงพลาสติก ก็ต้องพกถุงมาเอง อย่างปัจจุบันหลายเมืองในสหรัฐฯ ออกนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก

ขณะที่บางประเทศ โหดกว่านั้น!! ออกเป็นกฎหมายบังคับ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ผลิตถุงพลาสติก ร้านค้า ไปจนถึงผู้บริโภค

– วอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองแรกๆ ของสหรัฐ ที่สามารถลดมลภาวะจากขยะพลาสติกได้สำเร็จ โดยใช้วิธีเก็บภาษีถุงพลาสติก ซึ่งรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีถุงพลาสติก นำไปใช้ฟื้นฟู-ทำความสะอาดแม่น้ำ Anacostia และใช้สำหรับผลิตถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อส่งมอบให้กับคนที่มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุที่อาศัยในวอชิงตัน ดี.ซี.

ผลปรากฏว่าหลังจากประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2009 สามารถลดอัตราการใช้ถุงพลาสติกได้มากถึง 85% จากก่อนใช้นโยบายดังกล่าว ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในวอชิงตัน ดี.ซี อยู่ที่ 22.5 ล้านใบต่อเดือน แต่ปัจจุบันลดลงไปอยู่ที่ 3.3 ล้านใบต่อเดือน

Eco Bag_01

– ซานฟรานซิสโก ออกมาตรการกระตุ้นให้คนงดใช้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งถุงพลาสติก และถุงกระดาษในปี 2007 ด้วยวิธีวิธีเก็บค่าธรรมเนียม 10 เซนต์ตรงจุดชำระเงินค่าสินค้า ในกรณีลูกค้าที่ซื้อสินค้า แล้วอยากได้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบ single-use และถุงกระดาษ แต่หลังจากใช้นโยบายนี้ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้เปลี่ยนจากถุงพลาสติกหูหิ้งแบบใช้แล้วทิ้ง ไปสู่การใช้ถุงแบบ Reusable Bag ได้สำเร็จ และนับตั้งแต่ปี 2010 ช่วยลดมลพิษจากถุงพลาสติกลง 72%

– ซีแอตเติล เริ่มใช้นโยบายลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2012 โดยห้ามไม่ให้ Retail Store ให้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขณะที่ร้านขายของชำ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถุงพลาสติกให้บริการแก่ลูกค้าตรงจุดชำระเงิน แต่ทั้งนี้ถ้าถุงนั้น ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิล อย่างน้อย 40% และมีการเก็บภาษีถุง 5 เซนต์ต่อถุง

– สหราชอาณาจักร ในปี 2015 ร้านค้าในสหราชอาณาจักร เริ่มเก็บเงินค่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 5 เพนนีต่อถุง ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคไม่อยากเสียเงินค่าถุง ก็ต้องนำถุงติดตัวมาเองทุกครั้งที่ซื้อสินค้า และหลังจากใช้มาตรการดังกล่าว ปรากฏว่าสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้มากถึง 80% โดยรัฐบาลคาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากนโยบายนี้ว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายกำจัดขยะมูลฝอยได้ถึง 60 ล้านปอนด์

Plastic Bag_01

– เคนย่า ใช้ยาแรงออกกฎหมายห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบ single use ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายถุงพลาสติกทั่วประเทศ และผู้บริโภค หากพบว่าใครฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับ 40,000 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้โรงงานผลิตถุงพลาสติกต้องปิดตัวลง 176 โรงงาน และทำให้อีกหลายหมื่นชีวิตต้องตกงาน เนื่องจากเคนย่าเป็นผู้ส่งออกถุงพลาสติกรายใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก จึงนับเป็นกฎหมายมุ่งลดการใช้พลาสติกรุนแรงที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่รัฐบาลเคนย่ามองว่าการออกกฎหมายเช่นนี้ จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม – การเกษตร – การประมง – การท่องเที่ยวของประเทศได้ในระยะยาว

นอกจากนี้มากกว่า 40 ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ได้ออกนโยบายสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้ เมื่อหลุดไปในทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ และทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทต้องตายจากการกลืนกินขยะพลาสติก

– จีน เป็นที่ทราบกันดีว่าจีน ประสบกับมลภาวะ ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายควบคุม หนึ่งในนั้นคือ ควบคุมการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในร้านค้า และโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ หากลูกค้าต้องการถุงพลาสติก จะต้องมีค่าใช้จ่าย และหากร้านค้าไหนจำหน่ายถุงพลาสติกอย่างผิดกฎหมาย จะมีโทษปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 1,593 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ทำให้จีนสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลง 66%

Plastic Bag_02

ถึงตรงนี้แล้ว ด้วยความที่บริบทของเมืองไทย แตกต่างจากต่างประเทศ ดังนั้นการที่ภาครัฐ และภาคเอกชนไทย เลือกใช้วิธี “ให้รางวัล” เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้คนไทยค่อยๆ ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก มากกว่าจะเลือกใช้มาตรการ หรือออกกฎหมายบังคับ เพื่อ “หักดิบ” พฤติกรรมผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย “ปฏิเสธ/งดใช้ถุงพลาสติก” ให้เกิดขึ้นได้จริง สิ่งสำคัญต้องมาจากการสร้างความร่วมมือ ทั้งจาก “ภาครัฐ – ภาคเอกชน – ภาคประชาชน” และอาศัย “ความต่อเนื่อง” ของการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในฐานะ “ใกล้ชิด” กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นการรณรงค์ควรมีความต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นโครงการงด-ลดใช้ถุงพลาสติก จะกลายเป็นเพียงการทำเพื่อเกาะกระแสสังคม หรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรเท่านั้น และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

Eco Bag_02

Plastic Bag Thailand

 

Source 1 : รายงานสถิติปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของคนไทย PPTV

Source 2 : นโยบายลดถุงพลาสติกต่างประเทศ Earthday  , The Guardian


  • 131
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ