มารู้จัก Challenger Bank ที่ทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง KBank กล้าลงทุนระดับแสนล้านบาท พร้อมเป้าหมายสินเชื่อเข้าถึงชุมชน

  • 595
  •  
  •  
  •  
  •  

ธนาคารถึงเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ปรับตัวเข้ามาสู่โลกเทคโนโลยีในรูปแบบ FinTech แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถให้บริการได้เต็ม 100% นั่นจึงทำให้ Startup เริ่มผันตัวสู่การเป็น Challenger Bank ที่ให้บริการธนาคารได้อย่างเต็มรูปแบบบนระบบดิจิทัล และทำให้ KBank ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ของตลาด FinTech จำเป็นต้องปรับตัวกับการ Disrupt ในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยให้เหล่า Challenger Bank มาเป็นส่วนหนึ่งของ KBank ภายใต้การลงทุนเชิงกลยุทธ์กว่า 1 แสนล้านบาท

 

เรียกได้ว่าเป็นระลอกที่ 2 ของการ Disruption ในธุรกิจธนาคาร หลังจากที่ครั้งก่อนกลุ่มธุรกิจ Non Bank จะเปิดตัวบริการ e-Wallet จนทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องปรับตัวขนานใหญ่ จนนำไปสู่การใช้จ่ายแบบ Digital Payment แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจธนาคารที่ยังมีความละเอียดอ่อนในเรื่องของความเชื่อมั่น ทำให้หลายกระบวนการยังคงช้า โดยเฉพาะการขอสินเชื่อ โดยการ Disrupt ครั้งใหม่มาจากกลุ่ม Startup ที่หลอมรวมความเชี่ยวชาญของหลาย Startup จนนำไปสู่ Challenger Bank

 

Challenger Bank คืออะไร

ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า ธนาคารให้บริการที่รวดเร็วแล้วหรือยัง หลายขั้นตอนที่ยังคงต้องเสียเวลาตรวจสอบหลักฐาน รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ไม่ได้ออกมากันบ่อยๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นมากจากยุโรป เมื่อเหล่า Startup ด้าน FinTech มองเห็นจุดอ่อนของระบบธนาคาร ที่แม้จะหันมาให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลแล้วก็ตาม  โดยเฉพาะในกระบวนการต่างๆ ที่มีความล่าช้า เช่น การตรวจสอบเพื่อขอสินเชื่อ เป็นต้น

ซึ่ง Startup FinTech เหล่านี้สามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า มีความคล่องตัวมากกว่า และยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ และพร้อมที่จะขยายศักยภาพด้วยการจับมือกับ Startup FinTech รายอื่นๆ ซึ่งจะเข้ามา Disruption ธุรกิจธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและกระบวนการที่รวดเร็วกว่า นั่นจึงทำให้ธนาคารต้องเร่งแก้ปัญหาความล่าช้า รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค

 

KBank ลงทุนแสนล้านเตรียมพลิกโฉมดิจิทัลไปอีกขั้น

ธนาคารกสิกรไทย (KBank) มองเห็นการ Disruption และความต้องการของลูกค้า เดินหน้าลงทุนโครงการเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยเน้นมุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยและผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร หรืออาจยังใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยจะเร่งลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับองค์กรไปอีกขั้น และยังนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคาร

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า “เราเป็นธนาคารที่มีจุดแข็งไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว มีทั้งความมั่นคงและเชื่อถือได้ และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มตามแบบฉบับของธนาคารในปัจจุบัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ คือการหลอมรวมเอา DNA ของ Challenger Bank ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย

Challenger Bank ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการธนาคารในระดับโลก ซึ่งท้าทายธนาคารแบบปัจจุบันด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน Challenger Bank ยังดึงดูดลูกค้าของธนาคารในปัจจุบันให้หันมาใช้บริการ Challenger Bank มากขึ้น โดยกำจัดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน มอบการให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา

สำหรับปีนี้และในอีก 2 ปีข้างหน้า ธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท ในด้านระบบต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่เคยลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ อาจจะมีการปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล โดยใช้เงินลงทุนประมาณ  30,000 ล้านบาท

 

พิจารณาสินเชื่อง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น

ธนาคารกสิกรไทยยังได้ริเริ่มทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการแบบใหม่ๆ มาใช้แล้วมากมายหลายอย่าง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์นี้อย่างเต็มกำลัง โดยประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านทางออนไลน์ได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และใช้เวลา 24-72 ชั่วโมงสำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตน

โดยผู้ที่มีบัญชีกับธนาคารสามารถยื่นสมัครขอสินเชื่อบุคคล พร้อมรอการพิจารณา และหากได้รับการอนุมัติเงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชีภายในไม่ถึง 30 นาที

ในอดีตขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ๆ อีกทั้งลูกค้ายังถูกบังคับให้จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาด้วยตัวเอง ซึ่งหลังจากนี้ ธนาคารกสิรไทยก็ตั้งเป้าที่จะให้บริการสมัครขอสินเชื่อและได้รับเงินกู้ยืมแบบเกือบทันทีนี้ แม้ว่าลูกค้าจะยังไม่มีบัญชีของธนาคารกสิกรไทยด้วย

 

3 บริการในการขอสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายเล็ก

คุณขัตติยา ชี้ว่า ธนาคารกสิกรไทยกำลังบุกเบิกเรื่องการปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง buy-now-pay-later” ให้กับผู้ที่ทำงานอิสระหรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาการอนุมัติจากข้อมูลอื่นแทน จากการใช้วิธีดังกล่าวช่วยให้ธนาคารกสิกรไทยอนุมัติสินเชื่อไปแล้วเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาทในบางราย

บริการดังกล่าวเป็นความตั้งใจมอบสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อใดๆ มาก่อน และอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบ เมื่อคนกลุ่มนี้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นจะค่อยๆ ได้รับการขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามความสามารถในการชำระคืน รวมถึงต่อยอดไปใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารในอนาคต

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้นำร่องทดลองวิธีการต่างๆ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการผสานเอาความเป็น Challenger Bank และเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ โดยไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ แต่จะมีวิธีการสัมภาษณ์และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประเมิน

ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายหรือกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่มีเวลาไปติดต่อใช้บริการที่สาขาธนาคาร เพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาในระบบธนาคารง่ายขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ LINE ให้บริการธนาคารผ่านโซเชียลมีเดียในนาม LINE BK แม้ไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ก็สามารถสมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และถ้ามีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที

โดยรูปแบบดังกล่าวจะพิจารณาสินเชื่อจากอัลกอริทึมและข้อมูลประกอบที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของผู้ขอสินเชื่อ โดยได้รับการอนุญาตจากผู้ขอสินเชื่อก่อน โดย 1 ใน 3 เป็นการกู้จากธนาคารครั้งแรกในชีวิต เกือบครึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน และเกือบ 80% อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถเข้าถึงลูกค้ากว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

กู้เงินผ่านร้านขายของชำก็ได้นะ

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก เพื่อให้เป็นช่องทางการเข้าถึงบริการสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมแก่ลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กในต่างจังหวัดหรือร้านขายของชำ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้นธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าให้ร้านขายของชำเหล่านั้น เป็นตัวแทนในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านขายของชำนั้นด้วย

ด้วยการประเมินความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อของร้านขายของชำและลูกค้าของร้านเหล่านั้น ที่ใช้วิธีการแบบใหม่แตกต่างไปจากเดิม และการทำให้ขั้นตอนต่างๆ เรียบง่ายขึ้น ธนาคารกสิกรไทยจึงตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถขยายจำนวนร้านค้าที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในต่างจังหวัดได้มากกว่าพันร้านค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมายในการช่วยให้ประชาชนในชุมชนขนาดเล็กทั่วประเทศเข้าถึงบริการของธนาคาร


  • 595
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา