ถอดรหัส Big Data จากสนามหญ้าสู่องค์กรโลกธุรกิจ ทำไม? ข้อมูลปริมาณมหาศาลจึงสำคัญต่อ World Cup 2022  

  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  

Image_d7098d2

เมื่อฟุตบอลลอยออกจากเท้าของ คิลิยัน เอ็มบับเป้ พุ่งวาบจมสู่ก้นตาข่าย ก็ทำให้ดาวเตะจากเปแอสเชวัย 19 ปี กลายเป็นเจ้าของรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2018 และก้าวขึ้นท้าทาย กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกของจริงขึ้นมาทันที

และยังทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นแชมป์โลกสมัย 2 ปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 อย่างสมบูรณ์แบบ

หลังฟุตบอลโลกที่รัสเชียปิดม่านลง วันเตะฟุตบอลโลกครั้งหน้า 2022 ก็ถูกประกาศออกมาทันทีโดย จานนิ อินฟานติโน ประธานของฟีฟ่า

อีก 4 ปีข้างหน้า ฟุตบอลโลกจะจัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2022 ที่กาตาร์ ในช่วงปลายปี ที่ถือว่าอากาศไม่ร้อนทรมานมาก เหมาะกับทุกชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน

ประธานฟีฟ่า ประกาศชัดเจนระหว่างงานแถลงข่าวปิดฟุตบอลโลก 2018 โดยเขาระบุว่า อยากผลักดันให้เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ขึ้น น่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น โดยให้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันได้มากถึง 48 ทีม

แต่เขาเองก็ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เรื่องการเพิ่มจาก 32 เป็น 48 ทีม ในเวลานี้ ทุกอย่างยังคงเป็นแค่ ไอเดีย

“เรามีข้อตกลงและสัญญากับกาตาร์ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า มีทีมแข่ง 32 ทีมหรือมากกว่านั้น อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เราไม่อยากปิดประตูใส่โอกาสในครั้งนี้”

อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่ร้อนจัดของกาตาร์ ซึ่งเป็นช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ที่อุณหภูมิอาจสูงถึง 41.3 องศา ฟีฟ่าจึงต้องพิจารณาขยับช่วงเวลาการจัดทัวร์นาเมนต์ เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่อาจเป็นอุปสรรค

มากกว่าแค่เรื่องของฟุตบอล

ข้อมูลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฟุตบอลโลก 2018

ในช่วงทัวร์นาเมนต์การแข่งขันที่สำคัญ มีข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาล ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และประมวลผล หากบริษัทหรือและนักวิเคราะห์ทำการรวบรวม และใช้ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว

ปกติแล้ว กูเกิล (Google) มีทีมงานพิเศษ ที่ทำหน้าที่จัดหาข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้นหาแบบเรียลไทม์ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและภาพต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้

Image_71812c8

ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2561 มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมด 64 คู่ ให้แก่ผู้ชมทั่วโลกราว 3.2 พันล้านคน และฟีฟ่า (FIFA) ใช้เงินลงทุนมากถึง 241 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8  พันล้านบาท)

เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมทั่วโลก จะมีโอกาสได้รับชมภาพการแข่งขันในครั้งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในแง่ของการโฆษณาทั่วโลก

มีองค์กรธุรกิจรวมทั้งแบรนด์ต่างๆ ต่างพากันทุ่มงบโฆษณาสูงถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท)

ด้วยเงินลงทุนจำนวนมาก ความตื่นเต้น และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ของผู้คนทั่วโลกในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ จึงมีข้อมูลมากมายมหาศาล ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผล และใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

Image_e24e5f9

ระบบวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data Analytics) จะมีบทบาทอย่างไร ในการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดนี้ ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย NetAppได้ระบุแนวทางที่สำคัญ 3 ข้อดังต่อไปนี้

#1 : การปรับปรุงประสิทธิภาพของนักเตะโดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูล

การใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของนักฟุตบอล ที่เข้าร่วมการแข่งขันได้อย่างง่ายดาย

ย้อนกลับไปในปี 2557 ทีมฟุตบอลของเยอรมนี ร่วมกับเอสเอพี (SAP) พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกจากการแข่งขันในแมตช์ต่างๆ เข้ามาช่วยฝึกซ้อมให้กับนักฟุตบอลทีมชาติ และทำให้ทีมชาติเยอรมนี ครองถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2557

4 ปีต่อมา เยอรมนียังคงใช้ประโยชน์จากข้อมูลบิ๊กดาต้า ปรับปรุงการฝึกซ้อม หวังที่จะคว้าตำแหน่งแชมป์เป็นสมัยที่ 5

แต่ก็ผิดหวัง ขณะที่มีทีมหน้าใหม่ๆ สร้างผลงานได้ดีเกินคาด

จึงไม่แปลกใจที่ได้รับรู้ว่า ทีมอื่นๆก็ได้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นให้กับทีมของตนเองเหมือนกัน

#2 : ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสื่อช่วยดึงดูดผู้ชมเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากทีมฟุตบอลที่ใช้ประโยชน์จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว สื่อแขนงต่างๆ ก็ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน

ปกติแล้ว 24 ชั่วโมงก่อนก่อนแข่งขันจะเริ่ม สื่อมวลชนจะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ เกี่ยวกับทีมที่จะเข้าแข่งขัน เช่น ประวัติที่เจอกันมาก่อน ผู้เล่นคนไหนมีผลงานโดดเด่น รวมทั้งการจัดอันดับ

ข้อมูลเชิงลึกจำนวนมากนี้มีประโยชน์ต่อสื่อ ช่วยให้สามารถรายงานข่าวได้อย่างน่าสนใจ เช่น อาจมีการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล เพื่อสร้างกระแสความตื่นตัว และกระตุ้นความสนใจของผู้ชม

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อาจทำนายผลการแข่งขัน ในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ ผ่านช่องทางดิจิตอล ขณะที่สื่อแขนงต่างๆ จะได้รับข้อมูลเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดเตรียมเนื้อหาการวิจารณ์ รูปแบบการเล่นของแต่ละทีม สำหรับช่วงพักครึ่งเวลา รวมถึงก่อน และหลังการแข่งขันแต่ละคู่

ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้ชมทั่วโลก ได้ดื่มด่ำกับกระแสเวิลด์คัพฟีเวอร์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

#3 : การวิเคราะห์ข้อมูลการเล่นในอดีตและปัจจุบันเพื่อทำนายผลการแข่งขันอย่างแม่นยำ

นักวิเคราะห์การแข่งขันได้เริ่มต้นตรวจสอบว่า ทีมชาติแต่ละทีมมีผลงานเป็นอย่างไร ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รวมทั้งทัวร์นาเมนต์อื่นๆ

ที่จริงแล้ว การจัดอันดับทีมต่างๆ โดยใช้ระบบ ELO Rating แบบใหม่ ช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถสร้างรูปแบบ การคาดการณ์ที่ระบุได้เกือบจะแม่นยำว่า ใครจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้!

นอกเหนือจากการทำนายว่า ทีมใดจะเป็นแชมป์แล้ว ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ยังสามารถคาดการณ์ได้ว่า ทีมใดจะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้อีกด้วย

รูปแบบการคาดการณ์นี้ ถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2555 โดยนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) ทำนายจำนวนเหรียญรางวัล ที่อังกฤษซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจะได้รับ

และผลปรากฏว่าคำทำนายดังกล่าวมีความแม่นยำสูงถึง 95% เลยทีเดียว

การแข่งขันฟุตบอลโลก ตอกย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ของการวิเคราะห์ข้อมูลในโลกปัจจุบัน

Image_6fd868b

ทำไม? Big Data Analytics ถึงมากกว่าแค่เรื่องฟุตบอล

ส่วนในโลกธุรกิจ ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตยา ไปจนถึงการเงินระหว่างประเทศ ผู้บริหารกำลังสำรวจตรวจสอบวิธีการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์ จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือ ‘บิ๊กดาต้า’ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มผลกำไร

ข้อมูลจาก EU ระบุว่า ธุรกิจในส่วนของบิ๊กดาต้า มีการเติบโต 40% ต่อปี เร็วกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ICT

ตลาดเทคโนโลยีและบริการด้านบิ๊กดาต้าทั่วโลก มีมูลค่า 21.19 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 704 พันล้านบาท)ในปี 2560

และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 77.58 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,578 พันล้านบาท) ภายในปี 2566 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24.15% ต่อปี

ที่สำคัญ องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ควรเริ่มต้นใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในอนาคต

Image_4992d9b

Image_43c194b

Photo by PATRICK GROUP

Copyright © MarketingOops.com


  • 67
  •  
  •  
  •  
  •