จากผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์โรคระบาด ส่งผลให้หลายธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กได้รับผลกระทบ จากความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ Nestle ผู้ผลิตรายใหญ่ในกลุ่ม FMCG ที่ได้รับผลกรทบเช่นกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะยังมีสินค้าบางกลุ่มที่สามารถเติบโตได้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด จนทำให้ Nestle ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมในการก่อสร้างโรงงานใหม่
โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวในประเทศไทย โดย Nestle เตรียมทุ่มงบกว่า 4,500 ล้านบาท พร้อมขยายขีดความสามารถกำลังการผลิตใน 3 โรงงานหลัก ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง, ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยูเอชที พร้อมนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม
ชี้ 5 เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป
โดย นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ชี้ว่า Nestle มองเห็นถึงการเติบโตในระยะยาว จึงเตรียมขยายการลงทุนใน 3 โรงงานหลัก ทั้งโรงงานอมตะ โรงงานบางชัน และ โรงงานยูเอชที นวนคร7 ด้วยการนำอินไซต์ของผู้บริโภคชาวไทยมาต่อยอดสู่การวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่นำนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย
สำหรับอินไซต์เทรนด์ผู้บริโภคที่ได้จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโดยแบ่งออกเป็นความโดดเด่น 5 ด้านดังนี้ การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องการให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่นเพื่อช่วยเติมเต็มความสุขระหว่างวัน ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความท้าทาย ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และ e-Commerce รวมถึง Food Delivery มีการเติบโตสูง เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก
จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าวช่วยให้ Nestle สามารถวางกลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายขึ้น พร้อมสนับสนุนการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้า Nestle ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงบริการ Food Delivery ในรูปแบบ Cloud Kitchen
เสริมการลงทุนเตรียมขยายการผลิตรองรับ
Nestle จึงนำอินไซต์เหล่านี้เป็นข้อมูลวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในครั้งนี้ โดยเริ่มจากโรงงานอมตะแห่งใหม่ที่จะเน้นการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโต โดยมีอัตราเติบโตถึง 9% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภครักสัตว์เหมือนลูก ประกอบกับสังคมที่นิยมอยู่คนเดียวหรือแต่งงานช้า ทำให้ใส่ใจการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
อีกทั้งช่วงสถานการณ์โรคระบาดได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงเป็นเวลานานทำให้เกิดความผูกพันธ์มากขึ้น โดยโรงงานอมตะแห่งใหม่จะมีการลงทุนกว่า 2,550 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการที่เติบโตขึ้น ด้าน โรงงานบางชัน จะเน้นการผลิตไอศกรีมของ Nestle โดยจะนำนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ในโรงงาน
โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่เป็นกระดาษเพื่อให้สามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลได้ 100% พร้อมทั้งเสริมกำลังการผลิตเพื่อรองรับเทรนด์ผู้บริโภคที่ให้รางวัลกับตัวเองผ่านของกินเล่นอย่างไอศกรีมช่วยเติมเต็มความสุขระหว่างวัน พร้อมสร้างความแปลกใหม่ที่หลากหลาย เช่น ไอศกรีมโมจิ ที่นำเทรนด์จากเกาหลีและญี่ปุ่นมาสู่ตลาดไทย ไอศกรีมคิทแคทและไอศกรีมโอริโอ
ผลักดันนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากผลิตภัณฑ์ใหมแล้ว Nestle ยังให้ความสำคัญกับเทคโนดลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป็นครั้งแรกที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ไอศกรีมที่ทำจากกระดาษสามารถย่อยสลายได้และนำมา Recycle ได้ 100% กับไอศกรีมเนสท์เล่ เอ็กซ์ตรีม นามะ ส่งผลให้ยอดขายไอศกรีม Nestle มีการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ Nestle ลงทุนกว่า 440 ล้านบาทในโรงงานบางชัน โดยเฉพาะการผลิตกำลังการผลิตและเตรียมรองรับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
ด้าน โรงงานยูเอชที นวนคร7 แห่งใหม่ จะเป็นโรงงานที่เน้นการผลิตสินค้านม UHT ในกลุ่มไมโลและนมตราหมี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าและสุขภาพ โดยผลการวิจัยของนีลเส็น (Nielsen) พบว่า เครื่องดื่มนมวัวยูเอชทีและเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ยูเอชที จะมีการเติบโตถึง 3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่พกพาสะดวกเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา
Nestle จึงลงทุนสร้างโรงงานยูเอชที นวนคร7 ด้วยงบกว่า 1,530 ล้านบาท โดยเน้นเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กับนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างหลอดกระดาษแบบงอได้ ที่จะนำไปใช้ทั้งผลิตภัณฑ์ไมโล ยูเอชทีและนมตราหมี ถือเป็นครั้งแรกที่นำหลอดกระดาษมาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยูเอชทีในประเทศไทย โดยตั้งเป้าลดการใช้หลอดพลาสติกให้ได้มากกว่า 500 ล้านหลอดในปี 2564 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2568
รับกระแสออนไลน์เติบโตพร้อมส่งบริการ Delivery
หนึ่งในอินไซต์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคือการให้ความสำคัญกับเรื่องของ e-Commerce และ Food Delivery Nestle เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยช่วงเทศกาล 11.11 ที่ผ่านมา Nestle ได้ร่วมกับ LAZADA จัดแคมเปญพิเศษช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่าย และช่วยเพิ่มยอดขายได้ถึง 68% ในวันเดียว รวมถึงการร่วมกันจัดกิจกรรม Shoppertainment อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย Nestle คาดการณ์อัตราการเติบโตผ่านช่องทาง e-Commerce อยู่ที่ 30% แต่สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจ e-Commerce เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 100% ส่วนหนึ่งเกิดมาจากที่สถานการณ์ทำให้คนที่ไม่เคยซื้อขาย e-Commerce ลองหันมาซื้อ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้การทำตลาดในรูปแบบ Personalize มีความสำคัญอย่างมาก โดย Nestle เตรียมสร้างหน่วยงานสำหรับดูแลเรื่อง e-Commerce โดยตรงด้วยงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท
โดยงบประมาณดังกล่าวจะเน้นในการจัดหาเครื่องมือที่ดีที่สุด รวมทั้งมองหาร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการจัดการอบรมเพื่อให้ก้าวทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยการลงทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยีด้านการตลาด โฆษณาและระบบการจัดการข้อมูล เพื่อนำเสนอสินค้าบริการและพัฒนาการสื่อสารที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ “แม็กกี้ (Maggi)” เปิดตัวธุรกิจ Cloud Kitchen ในชื่อ Maggi Kitchen ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Nestle รุกตลาด Food Delivery เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสั่งอาหารผ่านช่องทาง Food Delivery
ทั้งหมดนี้คือการลงทุนครั้งใหญ่ของ Nestle ในช่วงเวลาที่เรียกว่าอนาคตยังเป้นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าด้วยอินไซต์ที่ Nestle มี น่าจะช่วยให้ Nestle มองเห็นช่องทางและโอกาสในการเจาะตลาดที่มีศักยภาพ ที่สำคัญแว่วว่า Nestle กำลังศึกษาผลิคภัณฑ์ที่อาจจะมีศักยพภาพในประเทศไทย ซึ่งถ้าวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจนมองเห็นศักยภาพจริงของผลิตภัณฑ์ก็พร้อมเพิ่มไลน์การผลิตได้ทันที