5 ความท้าทายในธุรกิจรีเทลยุคใหม่ มองผ่านเลนส์ ผู้บริหารซีคอนสแควร์ ฉีกภาพจำจากห้างสรรพสินค้าสู่ “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์”

  • 36
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ธุรกิจห้างสรรพสินค้านับเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งกันดุเดือดมาตลอด โดยเฉพาะเมืองไทย เพราะเป็นประเทศที่ค้ำจุนด้วยธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งท้าทายและชาเลนจ์มากขึ้นเมื่อผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนพฤติกรรมในการช้อปปิ้งแล้ว หันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น รวมถึงมุมมองใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคมีต่อห้างก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “ซีคอนสแควร์” หนึ่งในห้างเก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมา 30 ปี ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ไม่ต่างกัน ล่าสุด ประกาศปรับปรุงพื้นที่ MunMun Srinakarin (มันมัน ศรีนครินทร์) ณ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ใหม่ พร้อมประกาศตัวเป็น “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์” แห่งแรก ที่รวมความเยอะของงานอาร์ตและไลฟ์สไตล์ บนพื้นที่กว่า 27,000 ตารางเมตร

 

คุณจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสายงานสำนักสื่อสารการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมในศักยภาพของพื้นที่ย่านบางนาและศรีนครินทร์ว่า เป็นพื้นที่ที่กำลังเติบโต และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงเห็นได้จากการที่โครงการอสังหาฯ หลัก 10 ล้านขึ้นไป หรือโรงเรียนนานาชาติ มีการเปิดตัวมากมายในที่แห่งนี้ สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองหลวงได้ และอาจจะก้าวไปสู่ CBD (Central Business District) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วย

แน่นอนว่าหนึ่งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกคือ “ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์” ซึ่งอยู่กับคนไทยมากกว่า 30 ปี และเราเป็นผู้นำของธุรกิจรีเทล์ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เป็น First mover ของวงการอยู่เสมอ แต่นั่นก็ท้าทายที่ทำให้เราต้องทำการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 

ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยสำคัญที่เข้ามาท้าทาย การสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจรีเทล์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ดังนี้

  1. โครงสร้างอาคาร ซึ่งถือว่าเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงได้ยากมาก ไม่ใช่นึกว่าจะแก้ไขปรับปรุงจุดไหนได้ก็ทำได้เลย จำเป็นต้องศึกษาให้ดีและตัดสินใจอย่างรอบคอบด้วย
  2. ค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณ ตามข้อแรก เมื่อตัดสินใจปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีงบฯ ในการสร้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่อีกข้อเช่นกัน
  3. การทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน สืบเนื่องจากการตัดสินใจปรับปรุงแล้ว การทำงานก็ต้องเกี่ยวข้องกับหลายส่วนด้วยกัน
  4. การแข่งขันที่คู่แข่งเองก็เก่งไม่แพ้กัน ต้องยอมรับว่าคู่แข่งเราก็ทำการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเช่นกัน ซึ่งหลายๆ เจ้าก็เก่งไม่แพ้เรา
  5. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า ข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในยุคนี้ของผู้บริโภคด้วย

ทั้ง 5 ปัจจัยทำให้ศูนย์การค้าเผชิญและจำเป็นต้องทำขยับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ “มันมัน” ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย ให้เป็นพื้นที่ Non-commercial สำหรับคนรักงานศิลปะ ทั้งศิลปินและผู้เสพงานศิลป์ บนพื้นที่ 27,000 ตารางเมตร

 

“วันนี้เราต้องการสร้างความแตกต่าง และผุดไอเดียต่างๆ มากมาย จนกระทั่งมาตกผลึกว่า เราเห็นกลุ่มของศิลปะมีช่องว่างอยู่ทั้งอีโคซิสเท็มเลย ยังขาดอะไรหลายอย่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่การแสดงงาน พื้นที่ให้คนเสพ ผลงาน ตลาด ฯลฯ จึงตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่ “มันมัน” ใหม่ให้เป็นพื้นที่ของการแสดงศิลปะ และเราพร้อมแล้วที่จะประกาศตัวว่าเป็น ห้างสรรพสินคราฟ์ท คือการรวมสรรพะสิ่งด้านงานคราฟท์และศิลปะที่มากที่สุดในประเทศมาไว้ที่นี่ ”

เป้าหมายสำคัญของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ “มันมัน” คุณจักรพล ระบุว่า การเปิดพื้นที่ใหม่มีเป้าหมายในการเพิ่มลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่เคยเข้ามาเดินที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ 50% โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Gen Z เพิ่มมากขึ้น รวมถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรักงานศิลปะ ซึ่งปัจจุบันเราก็ทำได้ดี โดยพบว่ามีคนมาใช้พื้นที่ “มันมัน” เพิ่มขึ้น 20% และ 50% เป็นคนที่ไม่เคยมาซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เลยก็มาใช้บริการแล้ว โดยหลักๆ มองไปที่คนที่อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรโดยรอบของห้างฯ

 

“ในแง่ของรีเทิร์นทางธุรกิจ หรือการสร้างผลกำไร ต้องบอกตามตรงว่า เราไม่ได้คิดตรงนั้น แต่เป้าหมายตอนนี้คือการที่เราดรอคนใหม่ๆ เข้ามาใช้พื้นที่ รวมถึงคนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เสพงานศิลปะ แต่เราอาจจะยังไม่ไปถึงการดึงคนจากใจกลางกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ส่วนอื่นของกรุงเทพฯ มาขนาดนั้น แค่ตั้งเป้าว่า คนในรัศมี 10 กิโลเมตรโดยรอบจะต้องมาที่เรา เขาไม่ต้องฝ่ารถติด หรือเดินทางไปไกลเพื่อไปหาสิ่งที่เขาสนใจแล้ว ตรงนี้ก็มีรองรับให้ได้ ส่วนถ้าจะสามารถดึงคนมาได้จริงเราก็ไม่ติดขัดอะไร เพราะการเดินทางก็สะดวกสบายขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ”

กางแมพ “ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ “ แบ่งออกเป็น 3 คอนเซ็ปต์หลัก  

1.Event Ground พิกัด: ชั้น 1

พื้นที่กลางสำหรับจัดงานกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อย่างมีสไตล์ ได้รับความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ที่น่ารักและมีความเชี่ยวชาญในการจัดงานระดับประเทศ อาทิ งาน CHEEZE FLEA SPIRIT MARKET ร่วมมือกับ Cheeze Magazine, งาน MMAD happening 10 Fest ร่วมมือกับ happening and friends, งาน COFFEE TRAVELER ร่วมมือกับ Coffee Traveler Magazine, งาน Artster ร่วมมือกับ TRYSTER

2.MMAD – MunMun Art Destination พิกัด: ชั้น 2 และ ชั้น 3

พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายเพื่อตอบสนองทุกรสนิยมและความชื่นชอบ โดยได้เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคสังคม ประกอบด้วย 12 ภาคีศิลปะ อาทิ BACC pop.up, HOP – Hub of Photography, MMAD MASS Gallery, Palette Artspace, Street Star, L.O.F, BACC รวมไปถึงห้องสมุดด้านศิลปะจาก TCDC COMMONS

3.MunMun Kitchen Club – Food & Coffee Community พิกัด: ชั้น 3

ชุมชนของคนรักการทำอาหาร แหล่งความรู้ สร้างประสบการณ์และลงมือทำอย่างแท้จริง กับ Creative Food & Coffee Space ที่ตอบรับทุกกิจกรรมการทำอาหาร และกาแฟ ในทุกมิติ อาทิ ศูนย์ความรู้ และห้องสมุดด้านอาหาร จาก TCDC COMMONS รวมถึง Coffee Community ที่มีทั้งโรงเรียนด้านกาแฟระดับโลกอย่าง Espresso Academy และโรงคั่วกาแฟกลางห้างจาก Nana Coffee Roaster

แคมเปญ 1 วัน 1,000 อาร์ต

ประเดิมแคมเปญแรก ได้แก่ “1 วัน 1,000 อาร์ต” แคมเปญที่จะพาทุกคนไปสำรวจความเยอะของโลกศิลปะ ภายใต้ธีมใหญ่อย่าง ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’ ที่รวบรวมทั้งงานศิลปะและงานคราฟท์ไว้ด้วยกัน มาเที่ยว 1 วัน ก็ชมงานศิลปะได้กว่า 1,000 ชิ้น ระหว่าง 31 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2567 ที่ มันมัน ศรีนครินทร์ พลาดไม่ได้กับ 4 ไฮไลท์ ได้แก่ 1) DAYDREAM ความฝัน ความหวัง  2) JIGSAW WALL ART  3) MMAD CUBE และ 4) INTO THE CLOUD

 

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ใหม่สำหรับสายอาร์ต ด้วยกิจกรรมและการแสดงงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ MunMun Srinakarin (มันมัน ศรีนครินทร์) ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’  ที่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ติดตามรายละเอียดได้ที่ เฟสบุ๊ค: MunMun และ MMAD – MunMun Art Destination

 


  • 36
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!