เปิดคลังนวัตกรรม “กลุ่มมิตรผล” โชว์ศักยภาพยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน”

  • 12.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยความรู้และนวัตกรรม บริษัทชั้นนำระดับโลกต่างล้วนให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม ตลอดจนนำองค์ความรู้มาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกาที่ตั้งเป้าเป็น Nation of Makers  ขณะที่อังกฤษกำลังผลักดันเป็นประเทศ Design of Innovation หรือจีนที่ประกาศแผน Made in China 2025

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่กำลังเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศแนวหน้าด้านเศรษฐกิจโลก

นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากแนวนโยบายขับเคลื่อนดังกล่าว สู่การปฏิบัติ ภาครัฐจึงให้การสนับสนุนวิจัยและพัฒนา (R&D) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดและตอบสนองกับความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถิติการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP และคาดว่าจะขยับสู่ 1.5% ภายในปี 2564 โดยมีสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20% สะท้อนถึงความตื่นตัวของสองภาคส่วนสำคัญในการพยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยั่งยืนกว่าการแข่งขันด้วยราคาวัตถุดิบและแรงงานเป็นหลัก

ยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกับความยั่งยืน

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความแปรปรวนจากปัญหาโลกร้อน และอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งยังส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งในด้านรายได้ เนื่องจากผลผลิตที่ไม่แน่นอน อีกทั้งส่งผลต่อความมั่นคงภาคอุตสาหกรรมการเกษตรระยะยาว

ซึ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ โดยอ้อยถือเป็นหนึ่งในเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ที่ยังมีศักยภาพสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าได้ทุกส่วน

ในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของอ้อย ตลอดจนเพื่อสอดรับกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ กลุ่มมิตรผล ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาต่อยอด โดยยึดหลักการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เหลือในกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ได้ประโยชน์สูงสุด จึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย เมื่อปี 2540 เพื่อคิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูงอื่นๆ ซึ่งกลุ่มมิตรผลเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร อุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

วรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ลดลงและขาดเสถียรภาพ สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนตลอดกระบวนการให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย ซึ่งในฐานะหน่วยงานภาครัฐ สอน. ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในทุกภาคส่วน

“สอน. รู้สึกดีใจที่ได้เห็นภาคเอกชนอย่าง มิตรผล มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนาแนวทางการทำเกษตรแม่นยำและยั่งยืนให้กับชาวไร่อ้อย และยังได้เห็นการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของอุตสาหกรรมไทย โดย สอน. สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาด้วย และเราหวังว่าจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันนี้มากขึ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สอน. เอ่ย

ก้าวเริ่มสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม

หลังจากประเทศไทยและทั่วโลกต่างต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 นับเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มิตรผลได้เล็งเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและการวิจัย โดยมองว่าเป็นทางออกที่จะสามารถช่วยให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ทั้งยังสามารถเป็นรากฐานสำคัญที่จะต่อยอดได้ในอนาคต จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยขึ้นที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล เอ่ยว่าปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ sustainability กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกคนทั่วโลกให้ความใส่ใจมากขึ้น ประเทศไทยเองก็มีการนำประเด็นดังกล่าวมาใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวแปรสำคัญ

“ซึ่งภายใต้แนวคิด “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน” กลุ่มมิตรผล มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาครัฐในการสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับอ้อย พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจชีวภาพ สอดรับกับโมเดลการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ นั่นคือ BCG Economy – เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชาวไร่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ” อิสระกล่าว

ปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล มีนักวิจัย 70 คน ดำเนินงานวิจัยที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยงบประมาณสนับสนุนปีละกว่า 250 ล้านบาท ภายในศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการประสิทธิภาพสูง เครื่องมือที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน รองรับงานพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย 4 สาขา ได้แก่ งานวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ (Crop Production) มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ และการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและ AI เพื่อการทำเกษตรแบบแม่นยำ งานวิจัยด้านการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำตาล (Sugar Technology and Specialty) มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ทันสมัยและคงไว้ซึ่งคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-based Chemicals and Energy) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำตาล อ้อย ตลอดจนนำการแปรรูปผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) ต่อยอดสู่ธุรกิจด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) และศูนย์ข้อมูลงานวิจัยระดับโลก (Global Sourcing for Innovation) รวบรวมข้อมูลการวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสทางการวิจัยใหม่ๆ

สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ผลจากการเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องและการลงทุนด้านวิจัยในศูนย์วิจัยแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดคุณค่าให้กับพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอ้อยและน้ำตาล นำไปสู่การสร้างคุณค่าให้กับ value chain พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน

ยังส่งผลให้กลุ่มมิตรผลเป็นผู้นำเทรนด์ในเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น น้ำตาลเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากน้ำตาล รวมถึงให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์เรื่องความยั่งยืน อาทิ การทำไร่แบบ Precision farming และ Green Energy พลังงานไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยและเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น

เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานวิจัยเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มมิตรผลจึงได้จัดงาน RDI Open House 2019 พร้อมเปิดคลังแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดำเนินการตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ให้พันธมิตร ทั้งหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย และคู่ค้า ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นร่วมกัน

ซึ่งก้าวต่อไปฃองกลุ่มมิตรผล จะยังคงเดินหน้าผลักดันการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่มีความยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก


  • 12.1K
  •  
  •  
  •  
  •