“Microsoft” ชูกลยุทธ์ 4 ด้าน ทรานส์ฟอร์มธุรกิจไทย – ติดอาวุธ Digital Skill คนไทยในยุค AI เปลี่ยนโลก!  

  • 539
  •  
  •  
  •  
  •  

AI is a Game Changer” หรือ AI เปลี่ยนโลก” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง และนับวันจะยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยี AI” (Artificial Intelligence) อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตทำงาน รวมถึงอยู่ในระดับ Micro Sector อย่างภาคธุรกิจ และระดับ Macro Sector อย่างภาคสังคม และประเทศชาติ

ต่อไป “AI” จะถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่เราทุกคน – ทุกภาคส่วนของสังคม และประเทศชาติขาดไม่ได้!

เหมือนเช่น “ไฟฟ้า” นวัตกรรมใหม่ของโลกเมื่อกว่า 180 ปีที่แล้ว, “อินเทอร์เน็ต” นวัตกรรมเมื่อกว่า 50 –  60 ปีที่แล้วที่เข้ามา disrupt เชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน หรือ “โทรศัพท์มือถือ” ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการใช้งานทั่วไป นวัตกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว

เมื่อ AI กลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี เรามาเจาะลึกกันว่าแล้ว “เทคโนโลยี AI” จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในมิติไหนบ้าง รวมถึงมุมมอง และการปรับตัวขององค์กรใหญ่ในประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมอย่างไร ?!?

ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของไมโครซอฟท์ Microsoft Envision Summit 2019” ได้ฉายภาพ AI จะเข้ามาขับเคลื่อน พร้อมทั้งยกระดับภาคธุรกิจ และสังคมใน 4 เรื่องสำคัญ คือ

  1. “Engage” เทคโนโลยี AI คือรากฐานสำคัญขององค์กร เพื่อสร้าง Customer Experience ให้ดีขึ้น

Satya Nadella, CEO ของ Microsoft เคยกล่าวไว้ว่า We have to meet the unmet, unarticulated needs of customers. That’s the source of innovation.”  (เราต้องสามารถที่จะค้นหาและตอบสนองความต้องการที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่ได้พูดออกมา เพราะบางครั้งความต้องการเหล่านั้น ลูกค้าก็ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการ นั่นคือ ที่มาของการที่เราจะพัฒนานวัตกรรมที่มีความหมายให้กับลูกค้า)

จากคำพูดดังกล่าวของ CEO ของ Microsoft สะท้อนให้เห็นว่าหัวใจของการทำธุรกิจยุคนี้อยู่ที่การสร้าง “Customer Engagement”

แต่การจะได้มาซึ่ง Unmet Needs” และเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ เพื่อสร้าง “ประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า” ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์หลากหลาย มีความต้องการซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงเร็ว หัวใจสำคัญต้องย้อนกลับไปที่ Business Process” ว่าองค์กรนั้นๆ นำเทคโนโลยี AI มาเป็นหนึ่งใน fundamental ของกระบวนการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพพนักงานในองค์กรหรือไม่ ?

คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า AI สามารถช่วยธุรกิจ 5 ด้านสำคัญ คือ

1) ทำให้องค์กรขับเคลื่อนด้วย “Data” (Data-driven Organization) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีคำเปรียบ Data ว่าData is a new currency.” ทำให้หลายองค์กรยอมขาดทุนก่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล แต่ทุกวันนี้พบว่ายังคงมีหลายบริษัทไม่ได้นำ Data ที่มี มาสร้างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนา Customer Experience ในขณะเดียวกันพบว่าทุกองค์กร มีช่องว่างในการพัฒนาการให้สินค้าและบริการ เพื่อการตอบสนองลูกค้าให้ดีขึ้น

เพราะฉะนั้นเพื่อทำให้ Data ที่องค์กรมี ถูกนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรนำเทคโนโลยี AI” มาช่วยวิเคราะห์ และตีความข้อมูล เพื่อพัฒนา Customer Engagement

2) AI เปลี่ยนวิธีการ Engagement ให้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

องค์กรอาจฝัง AI อยู่ในแอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีการให้บริการ เพื่อเปลี่ยน Business Process ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีการนำ Chat Bot” มาใช้ส่วนงานบริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลสินค้า ตอบคำถาม แนะนำสินค้าใหม่ ซึ่งเทคโนโลยี Chat Bot มี AI อยู่ในนั้น ทำหน้าที่เรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภค สำหรับใช้พัฒนาสินค้า และประสบการณ์ลูกค้าต่อไป

อีกตัวอย่าง “ธุรกิจธนาคาร” ในอดีตการทำธุรกรรมการเงินต้องไปที่สาขาเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ มีเทคโนโลยี eKYC สามารถเปิดบัญชีธนาคาร โดยใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วย Face Recognition และ QR Code สำหรับชำระค่าสินค้า ทำให้อยู่ที่ไหน ก็สามารถทำธุรกรรมการเงินได้

3) AI คาดการณ์ยอดขายบริษัท และวิเคราะห์ลูกค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน Microsoft” ใช้ AI ในการทำ Sales Planning ของแต่ละไตรมาส ปรากฏว่าหลังจากใช้ AI วางแผนยอดขายได้อย่างแม่นยำ

หรือนำ AI มาทำ Churn Analysis เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นทุนของการสร้างลูกค้าใหม่ สูงกว่าต้นทุนของการรักษาลูกค้าเก่า ดังนั้นถ้าองค์กรรู้ล่วงหน้าได้ว่าลูกค้ารายไหนกำลังเปลี่ยนใจจากแบรนด์เรา ไปสู่แบรนด์อื่น จะได้หาวิธีการรักษาลูกค้ารายนั้น เพื่อป้องกันการเกิด Brand Switching

4) AI ช่วยพนักงานตัดสินใจได้แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

เชื่อว่าในฐานะลูกค้า ย่อมมีบ้างในบางครั้งที่เราได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากการให้บริการของผู้ประกอบการธุรกิจ เช่น การทำงานของแต่ละแผนกงานไม่ได้ประสานงานกัน และไม่ได้เห็นขั้นตอน หรือความคืบหน้าของงานแต่ละแผนก ทำให้ลูกค้าเสียเวลาบอกเล่าปัญหาของตัวเองใหม่ทุกครั้งที่ติดต่อเข้าไปยังบริษัท หรือเวลาที่ติดต่อสอบถามเข้ามาที่ Call Center แต่กลับไม่ได้รับคำตอบทันที หรือแม้แต่พนักงานติดต่อไปหาลูกค้าผิดจังหวะ ผิดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ การนำ AI มาเรียนรู้กระบวนการทำงาน และ Pain Points ของลูกค้า จะช่วยการทำงาน และการตัดสินใจของพนักงานแม่นยำขึ้น และช่วยแก้ Customer’s Pain Points ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

5) Customer Engagement คือ โจทย์ใหญ่องค์กรธุรกิจไทย

โจทย์ใหญ่ในวันนี้ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย คือ การสร้าง Customer Engagement การเข้าถึง และสร้างความผูกพันกับลูกค้า ยิ่งในยุคนี้ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้แบรนด์เราเป็น Top of mind ของลูกค้า

ดังจะเห็นได้จาก Microsoft” สำรวจผู้บริหารระดับสูง 100 คนในประเทศไทย สอบถามถึงถ้าเอา AI ไปใช้ ต้องการนำไปใช้พัฒนาส่วนไหนมากที่สุดของการดำเนินธุรกิจ คำตอบส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า ต้องการนำ AI ไปใช้ในการทำ Customer Engagement” เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น

  1. Work” เทคโนโลยี AI พลิกโฉมรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น “Growth Mindset”

ตามที่กล่าวไปข้างต้นปัจจุบันองค์กรธุรกิจ พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น Data-driven Organization” ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทย มีคนทำงาน 38 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานที่ติดต่อกับลูกค้า (Frontline Workers) ราว 17 ล้านคน กระจายอยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ภาคบริการ คนกลุ่มนี้ถือเป็นประตูแรกของการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

เพราะฉะนั้นถ้าพนักงานที่เป็น frontline workers มีข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์โดย AI มาช่วยให้เขาปฏิบัติการ หรือตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น และกล้าที่จะตัดสินใจ จะทำให้เกิด Speed” ในการตอบสนองลูกค้าได้เร็ว ยิ่งในยุค Digital Disruption “Speed to response” และ Speed to market” คือกุญแจสำคัญของธุรกิจ

“การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Data ต้องทำ Culture Transformation ควบคู่กัน เพราะในยุค Digital Disruption องค์กรที่จะเติบโตต่อได้ ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น “Growth Mindset” คือ องค์กร และพนักงานมีทัศนคติพร้อมปรับตัว ยืดหยุ่น ไม่หยุดพัฒนา และมองหาโอกาสเติบโตใหม่อยู่เสมอ”

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ Microsoft” ที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น คือ Microsoft Teams” แอปพลิเคชันศูนย์กลางสำหรับการทำงานเป็นทีม และมีคุณสมบัติด้าน AI

เช่น Content Camera ช่วยให้การประชุมผ่านวิดีโอยิ่งสะดวก และเป็นธรรมชาติมากขึ้น สามารถแยกแยะลายเส้น และตัวอักษรที่เขียนบนกระดานไวท์บอร์ดด้านหลังผู้พรีเซนต์ หรือเข้าร่วมประชุม เพื่อดึงออกมาเป็นภาพซ้อนบนหน้าจอให้อ่านง่าย หรือ Live Captions ซึ่งจะเปิดให้บริการในภาษาอังกฤษในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อถ่ายทอดเสียงพูดของผู้เข้าประชุมออกมาเป็นข้อความบรรยายบนหน้าจอแบบสดๆ

ปัจจุบันพนักงาน Microsoft ทั่วโลกกว่า 140,000 คน ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์ม Microsoft Teams และองค์กรไหนที่ใช้ Microsoft Office 365 อยู่แล้ว สามารถทดลองใช้แอปพลิเคชันนี้ได้ ซึ่งเป็นบริการฟรีที่อยู่ใน Microsoft Office 365 แพลน Business Essentials ขึ้นไป

  1. Innovate” สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

AI ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของสององค์กรใหญ่ CPF” และ PTT ExpresSo นำเทคโนโลยี AI ใช้ในกระบวนการผลิต โดยร่วมกับ Sertis” (เซอร์ทิส) บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลโซลูชั่นชั้นนำ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ AI และการจัดการข้อมูล ได้นำแพลตฟอร์ม AI, Cloud ของ Microsoft มาตอบโจทย์ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร และพลังงาน

สำหรับ CPF” ร่วมมือกับ Sertis” พัฒนาโครงการ CPF AI FarmLab Powered by Sertis” นำนวัตกรรม AI และ Computer Vision (การแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว) มาพัฒนาระบบบริหารและจัดการฟาร์ม เพื่อสร้างระบบป้องกันโรค และติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานในฟาร์มปศุสัตว์ พร้อมเก็บสถิติย้อนหลังโดยละเอียด เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่สัตว์ในฟาร์มจะได้รับเชื้อจากแหล่งภายนอก

ขณะที่ PTT ExpresSo” ร่วมกับ Sertis” ทำโครงการ Smart Energy Platform by ExpresSo x Sertis” นำเทคโนโลยีบล็อกเชน และ AI มาประยุกต์ใช้กับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำให้ทราบกำลังการผลิตและการใช้งานพลังงานไฟฟ้าในอาคารต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเพื่อคาดการณ์แนวโน้มความต้องการในอนาคต

  1. Solve” เทคโนโลยี AI แก้ปัญหาสังคม และช่วยมนุษย์เอาชนะอุปสรรคชีวิต

เทคโนโลยี AI จะเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เช่น กรณีผู้ไร้สัญชาติ หรือผู้อพยพ คนกลุ่มนี้ไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ในประเทศที่ตนเองมาอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นเทคโนโลยี AI จะช่วยคนกลุ่มนี้ สามารถยืนยันตัวตน

หรือช่วยคนในสังคมให้ชนะอุปสรรคทางร่างกาย เช่น กรณีของ Emma เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ วันหนึ่งเธอต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทำให้ไม่สามารถจับปากกา ดินสอ หรือแม้แต่อุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้สำหรับวาดรูป – เขียนหนังสือได้

Haiyan Zhang นักวิจัยของ Microsoft ได้ยินเรื่องราวของ Emma จุดประกายให้เธอ พร้อมด้วยทีมงาน พัฒนา Wearable Device ควบคุมการสั่นของมือ เพื่อให้ Emma ได้กลับมาสร้างสรรค์งานดีไซน์ ซึ่งเป็นอาชีพที่เธอรักได้อีกครั้ง

นี่คือ พลังของเทคโนโลยีที่เราสามารถช่วยคนที่บางครั้งเขาอาจไม่ได้มีโอกาสเหมือนเรา ได้กลับมามีโอกาส มีชีวิต มามีครอบครัว ทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้” คุณธนวัฒน์ เล่าถึงประโยชน์ของ AI ในด้านสังคม  

เดินหน้าสร้าง “Digital Skill” ให้คนไทย

นอกจาก AI พัฒนา Customer Engagement, การทำงาน, นวัตกรรม และช่วยมนุษย์แล้ว ยังมีอีกหนึ่ง Corporate Purpose สำคัญของ Microsoft ประเทศไทย” คือ ความมุ่งมั่นสร้าง Digital Skill” ให้กับคนไทย

“ประเทศไทยมีประชากร 66.4 ล้านคน เรามีคนทำงาน 38 ล้านคน เรามีคนที่อยู่ในธุรกิจ SME 16.4 ล้านคน และมีคนที่ทำงานด้านไอที 268,000 คน ในจำนวนคนที่ทำงานด้านไอที เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 48,000 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนคนทำงานทั้งหมดในไทย มีคน 99.7% ไม่มีทักษะด้าน Coding และ Software

เหตุผลที่ “Microsoft ประเทศไทย” สนใจประเด็นนี้ เพราะผมเชื่อว่าวันนี้เป็นโอกาสที่เราจะสามารถทำให้คนไทยหลายล้านคนในประเทศไทยมี Digital Skill

ดังนั้นเราจึงเปิดตัว “Power Platform” แพลตฟอร์มที่จะทำให้คนไทยทุกคนสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมมาก่อน โดยใช้เวลาเรียนรู้ 1 – 2 วัน ก็สามารถพัฒนาแอปฯ ได้เอง

Microsoft เชื่อมั่นว่า Power Platform จะช่วยให้ทุกองค์กรมีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี และคนไทยจะทรานส์ฟอร์มตัวเองให้มีทักษะดิจิทัล นี่คือสิ่งที่ Microsoft ประเทศไทยโฟกัส และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทย และคนไทยไปด้วยกัน” คุณธนวัฒน์ สรุปทิ้งท้ายถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ

ไม่มีองค์กรไหน ธุรกิจใดไม่ถูก Disrupt! ถอดบทเรียน 4 บริษัทใหญ่ “SCG – กิฟฟารีน – อนันดา – MFEC”

หาก Digital Disruption เปรียบเสมือนสึนามิที่ถาโถมเข้ามา คงไม่มีอุตสาหกรรมใด องค์กรไหน ไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิลูกนี้ เพียงแต่จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมรับมือ

หลังจากเห็นภาพแล้วว่า “เทคโนโลยี AI” จะเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในมิติไหนบ้าง คราวนี้มาดูกรณีศึกษาองค์กรธุรกิจใหญ่ที่แต่ละบริษัท เกิดขึ้นในยุค Analog แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล มีกลยุทธ์ปรับตัวอย่างไร และความท้าทายบทต่อไป ?!?

SCG” ชิง Disrupt ตัวเอง เปลี่ยนโมเดลธุรกิจกระดาษ สู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ – ลงทุนในสตาร์ทอัพ

ใครเลยจะคิดว่าองค์กรขนาดใหญ่มีอยู่มายาวนานกว่า 100 ปี และมีรากฐานธุรกิจแข็งแกร่ง จะเผชิญกับ Digital Disruption เช่นกัน ซึ่งนั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นแล้วกับ SCG”

“ย้อนกลับไปเมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption อย่างชัดเจน คือ “กลุ่มธุรกิจกระดาษ” เพราะเวลานั้นเข้าสู่ยุค Paperless เราตัดสินใจเปลี่ยน Business Model จากธุรกิจกระดาษ เป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ชื่อว่า SCG Packaging

ต่อมาเราเห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตเร็วมาก เรามองว่าถ้า SCG ยังทำธุรกิจแบบเดิมอยู่ ไปไม่ไหวแน่ จึงได้ตัดสินใจต้อง adopt เทคโนโลยี และองค์ความรู้จากภายนอก เข้ามาใช้ใน Ecosystem มาใช้ใน Supply Chain ของบริษัท

ด้วยการตั้งหน่วยงาน “AddVentures by SCG” ทำหน้าที่เป็น Venture Capital ลงทุนในสตาร์ทอัพข้างนอกที่มีศักยภาพ โดยเริ่มต้นลงทุนในสตาร์ทอัพ 2 บริษัทคือ “Builk” พัฒนาแพลตฟอร์มด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และ “GIZTIX” ทำด้านโลจิสติกส์ และอีกส่วนเป็นการลงทุนสร้างสตาร์ทอัพภายในองค์กร (Internal Startups)” คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG เล่าจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจปรับองค์กรครั้งใหญ่

แม้วันนี้ SCG” จะก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการทำ Digital Transformation มาได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางของการทรานส์ฟอร์ม ไม่มีจุดสิ้นสุด

Digital Transformation เป็นการเดินทางที่ไม่วันจบ เพราะเทคโนโลยี และผู้บริโภคเปลี่ยน แต่ความสำคัญอยู่ที่การเกิดขึ้นของ Digital Disruption ทำให้มุมมองขององค์กรเปลี่ยนไปในทางที่ว่าเรา adopt เทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น

ขณะเดียวกันทำให้เราย้อนกลับไปทำความเข้าใจลูกค้า จากในอดีตเราคิดว่าเรารู้จักลูกค้าดีแล้ว แต่เมื่อเอา Mindset การเปลี่ยนแปลงเข้ามาใส่ในการทำงาน พบว่ามุมมองของบริษัทฯ ต่อการทำความเข้าใจลูกค้าเปลี่ยน และต้องทำให้คนในองค์กรไม่ติดกับดักความสำเร็จในอดีต ทำให้คนยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะยอมรับในเทคโนโลยี”  

“กิฟฟารีน” ต้องมี Mindset พร้อมเรียนรู้ – พร้อมปรับตัวตลอดเวลา

“กิฟฟารีน” เป็นธุรกิจขายตรงรูปแบบ MLM (Multi-Level Marketing) ตลอดระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจกว่า 20 ปี มีการเติบโตทุกปีโดยเฉลี่ย 10% ต่อปี จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างการยึดอยู่แต่โมเดลธุรกิจเดิมที่ต้องซื้อสินค้านักขาย หรือผู้จำหน่ายอิสระเท่านั้น และโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม ไม่ใช่ Success Formula อีกต่อไป!

พญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เล่าว่า เวลานั้นบริษัทฯ โฆษณาทีวี แต่กลับไม่ได้ result เท่าเดิม ขณะเดียวกันคนมี perception ว่ากิฟฟารีนหาซื้อยาก ต้องซื้อผ่านนักขายเท่านั้น เพราะเราคือธุรกิจขายตรง ไม่ขายตามร้านค้าต่างๆ คนซื้อก็ซื้อยาก จะหานักขาย ก็หาไม่เจอ หรือนักขายจะไปขอเจอใคร ถ้าเขาไม่รู้จัก ก็ไม่อยากให้เจอ เป็น Disruption ที่ใหญ่มาก

สิ่งที่บริษัทฯ ทำ ประการแรกคือ Communicate กับพนักงาน และนักขายว่าเราจะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องยกกองทัพตัวเองเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ได้ เราต้องมีความรู้ด้าน Digital Technology

ความยากในเวลานั้นคือ มีทั้งพนักงานที่อยู่มานาน ไม่อยากเปลี่ยนแปลง กับพนักงานรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยี และที่ยากกว่านั้นคือ นักขาย ซึ่งกิฟฟารีนมีหลายแสนคน เขารู้สึกว่าทำไมเขาต้องเปลี่ยนแปลง เราจึงแก้ด้วยการเรียกลูกคุณมาเรียนเทคโนโลยีด้วย เพื่อลูกคุณจะได้เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น

ขณะที่ช่องทางจำหน่าย เราให้นักขายเข้าไปใน e-Marketplace เช่น LAZADA, Shopee และมี e-Business Card ว่าเป็นสมาชิกที่ถูกต้องของกิฟฟารีน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้ามาเจอนักขาย และสินค้าของกิฟฟารีนบนแพลตฟอร์ม e-Marketplace เพราะฉะนั้นวันนี้ Disruption ได้สร้างโอกาสใหม่ให้กับกิฟฟารีน

“เราพยายามบอกกับนักขาย หรือนักธุรกิจ และพนักงานตลอดเวลาว่า วันนี้ที่เราทำได้ เราอย่าเพิ่งดีใจ อย่าคิดว่าเทคโนโลยีจะหยุด เพราะทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งที่เรารู้วันนี้ อาจจะล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องมี คือ Mindset ของการตื่นตัวที่พร้อมจะเรียนรู้ – พร้อมจะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา”

“อนันดา” อย่ามองแต่คู่แข่งในธุรกิจอสังหาฯ ด้วยกันเอง แต่ให้มอง Disruptor อื่นที่แวดล้อม

แต่ไหนแต่ไรมากุญแจสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ “โลเกชั่น” ในทำเลเดินทางสะดวก ถ้าเป็นยุคนี้ ทำเลทองคือ ติดรถไฟฟ้า ทำให้การแข่งขันของ Real Estate Developer แต่ละค่าย แข่งแย่งทำเลทอง และแข่งกันขึ้นโครงการ ไม่ว่าจะเป็นแนวราบ หรือแนวสูง

ในยุค Digital Disruption ปัจจัยธุรกิจและการแข่งขันเปลี่ยน! ไม่ใช่แค่เพียงมองแต่ Developer ในสนามแข่งขันเดียวกันเองเท่านั้น ต้องมองถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเดินทาง และโครงสร้างเมือง

“ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์ เน้นฟังก์ชั่นโลเกชั่นเป็นหลัก แต่เทรนด์ต่อไปที่ผมมองไว้คือ Mobility Disruption เช่น Passenger Drone และ Automated Disruption เช่น ยานยนต์ขับด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เคยมีการทำสำรวจในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่าระยะทางระหว่างที่พักอาศัย กับที่ทำงาน ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 – 45 นาที แต่หลังจากมีการพัฒนาเทคโนโลยี Auto Drive เกิดขึ้น คนบอกว่าระยะทางการเดินทางระหว่างบ้าน กับที่ทำงาน เป็น 1 ชั่วโมงก็ได้ เพราะเขาจะได้นั่งทำงานไปด้วยในระหว่างที่เดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจ ควรมองกระจกหน้าว่าความเปลี่ยนแปลงจะมาเมื่อไร จับจังหวะให้ดี เพื่อปรับตัวให้ทัน อย่ากลัว AI และอย่ามองว่า AI จะช่วยเราทุกอย่าง ควรจะสร้าง Roadmap ของตัวเองว่าสิ่งที่เราไม่รู้ เราต้องเตรียมพร้อมอะไร ในขณะเดียวกันมองกระจกหลัง เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว” คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เล่าภาพ Next Step ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

MFEC” ทรานส์ฟอร์มองค์กร อย่ามองข้าม “Human Transformation”

การทำ Digital Transformation ในองค์กรให้ได้ผล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ได้อยู่ที่การมีเทคโนโลยีสุดล้ำ หรือมีเทคโนโลยีใหม่ แต่พื้นฐานต้องเริ่มต้นจาก Human Transformation”

ดังที่ คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีให้เป็น จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร และกระบวนการทำงาน แต่หลายองค์กร หลายคนมักจะประสบปัญหาว่าซื้อเทคโนโลยี หรือซื้อโปรแกรมดี นำมาใช้กับบริษัท แล้วทำไมผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือยังไม่สร้างประสิทธิภาพ

“ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ Human Transformation เพราะพนักงานคือคนขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มองค์กร คนต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก่อน เพราะถ้าคนยังไม่พร้อม การลงทุน IT หรือเทคโนโลยีไป คือ ต้นทุน

ขณะเดียวกันในการเปลี่ยนแปลง ใครก็ตามที่สามารถจับเทรนด์ผู้บริโภคได้ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ย่อมได้ตลาดนั้นไป ซึ่งผมมองว่าเทรนด์ต่อไปที่มาแน่นอน คือ AI เห็นได้จากการพัฒนาในช่วง 2 – 3 ปีนี้ แนวโน้มการใช้ AI โตขึ้นแบบ Exponential”

แบรนด์ไทย – ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เตรียมรับมือให้ทันกับเทคโนโลยีอนาคต

นอกจากนี้ในงาน Microsoft Envision Summit 2019 ยังมีมุมมองจากองค์กรชั้นนำอีกมากมาย หนึ่งในนั้น AIS” พันธมิตรของ Microsoft ชี้ว่า การ Disruption เป็นสัญญาณเตือนธุรกิจที่ภัยอันตรายในโลกอนาคตที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ หมายความว่าธุรกิจใดที่ไม่สามารถผสานเทคโนโลยีกับธุรกิจได้ ก็มีโอกาสล้มเหลวในการทำธุรกิจได้เช่นกัน

สิ่งเดียวที่ผู้ประกอบการหรือพนักงานทุกองค์กรทำได้คือ การรู้สึกเอาตัวรอด เพราะความรู้สึกดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันให้องค์กรชนะเทคโนโลยี AI และก้าวข้ามผ่านช่วง Disruption ได้

แต่หากองค์กรใดที่ไม่รู้สึกถึงการเอาตัวรอดหรือคิดว่าอยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว เท่ากับว่าองค์กรนั้นรอวันปิดกิจการได้เลย สำหรับการปรับตัวรับมือของ “AIS” เน้นความเป็นเจ้าขององค์กรให้กับพนักงานทุกคน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเมื่อเทคโนโลยี 5G มาถึง

ไม่เพียงแต่องค์กรขนาดใหญ่ ในฝั่งแบรนด์ไทยที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

เช่น “ลูกอมคูก้า” เดิมใช้แรงงานคน 100% แต่เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผลิตก็สามารถช่วยลดการสูญเสียในการผลิต หรือ “ยาแก้ไอตะขาบ 5 ตัว” ใช้ IoT เข้ามาช่วยให้การผลิตก่อให้เกิด Productivity และลด Downtime ของเครื่องจักรลงได้

หรือกรณีศึกษาของ Class Café” ผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ใช้เครื่องมือต่างๆ ของ Microsoft จนช่วยให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในงาน Microsoft Envision Summit 2019 ซึ่งจริงๆ แล้ว Microsoft ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยี

และแน่นอนว่าการมาถึงของ 5G ในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะช่วยให้เทคโนโลยีจาก Microsoft สามารถทำงานได้มากกว่าคำว่า “เต็มประสิทธิภาพ” และ Microsoft ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับยุคและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


  • 539
  •  
  •  
  •  
  •