ธุรกิจเอสเอ็มอีประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติแผนล่าสุด โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในช้างเท้าหน้าในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่ดูเหมือนที่ผ่านมายังคงเห็นผลสัมฤทธิ์ไม่ชัดมากนัก ยังมีเอสเอ็มอีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเติมโตได้แข็งแรงและยั่งยืน ส่วนเอสเอ็มอีรายเล็ก (Micro SME) ที่มีฐานผู้ประกอบการจำนวนมากกลับโตอย่างเชื่องช้า เพราะขาดแหล่งเงินทุน และความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจ
ผลการสำรวจสำมะโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 พบเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อย ประมาณ 3,000,000 ราย ผลผลิตของเอสเอ็มอีคิดเป็น 42% ของรายได้ประชาชาติ มีอัตราการเติบโตสูงกว่ารายได้ประชาชาติ มากว่า 5 % และมีอัตราการจ้างงานในระบบ 85%
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชากรของ สสว. คาดมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งรายเล็กและรายใหญ่รวม 5.2 ล้านคน จดทะเบียนประกอบกิจการแล้ว 2.5 ล้านคน แต่มากกว่าครึ่งหรือ 2.7 ล้านคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกอบกิจการ หรือแสดงสถานที่ทำงานแน่ชัด และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนใหญ่มีลูกจ้างน้อยกว่า 5 คน
นอกจากไอเดียในการทำธุรกิจแล้ว สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือ “เงินทุน” แต่ที่น่าแปลกใจมีเอสเอ็มอีเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ โดยแบ่ง 16% เป็นสถาบันการเงินของภาครัฐ ส่วนอีก 4% เป็นสถาบันการเงินของแบงก์พาณิชย์ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 60% ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม ขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับยื่นกู้
สำหรับแผนเอสเอ็มอีแบงก์ในปีนี้ เน้นจับกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยมากขึ้นหรือที่เรียกว่าไมโครเอสเอ็มอี ผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า “หน่วยรถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” โดยจะมีหน่วยบริการเคลื่อนที่กว่า 1,000 หน่วย เพื่อให้ความรู้เรื่องเงินทุนถึงที่ พร้อมตรวจสภาพกิจการและขนาดของธุรกิจ เพียงลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของ SME Bank
ปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรายละประมาณ 1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.4 ล้านบาท ขนาดเล็กลง 3 เท่า เพื่อที่จะนำเงินไปสนับสนุน ไมโครเอสเอ็มอีมากขึ้น