นอกจากจะตื่นเต้นว่า ร้านอาหารใดได้รับดาว ‘มิชลิน สตาร์’ จากการประกาศผล ‘มิชลิน ไกด์’ เล่มที่ 2 ของไทย ประจำปี 2019 ซึ่งครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมร้านในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพังงา สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ก็คือ เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ‘ไทย’ ได้อะไรจากการจัดทำมิชลิน ไกด์ บ้าง
เป็นที่รู้กันว่า การจัดทำ ‘มิชลิน ไกด์’ และ ‘มิชลิน สตาร์’ เป็นระยะเวลา 5 ปี ทางไทย โดย ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ หรือ ททท. ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 4.1 ล้านเหรียญ ด้วยการแบ่งจ่ายปีแรก 9 แสนเหรียญ และอีก 4 ปีต่อมา ต้องจ่ายปีละ 8 แสนเหรียญ รวมเป็นเงินไทยทั้งสิ้นราว 140 ล้านบาท
ความคาดหวังของ ททท. ก็คือ ต้องการให้ไทยเป็น Food Paradise ของโลกและเป็นการพัฒนาร้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทย ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับโลก รวมถึงเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว 1 คนในเรื่องการรับประทานอาหารให้มากขึ้น 20-30%
“ตอนนี้ ททท. กำลังรอรีเสิร์ชจากมิชลิน ว่า ผ่านไป 1 ปี ผลที่ได้จากมิชลิน ไกด์เป็นอย่างไร ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารในไทยเติบโตเท่าไร เพราะการทำงานของเรากับมิชลิน ไม่เพียงคัดเลือกร้านอาหารเท่านั้น ยังต้องวิเคราะห์อิมแพคของโครงการนี้ที่เกิดขึ้นด้วย คาดว่า ก่อนสิ้นปีนี้จะได้เห็น” ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าว พร้อมเสริมว่า
แม้ผลรีเสิร์ชจะยังไม่ออกมา แต่เท่าที่ทราบ คือ ร้านอาหารที่ได้มิชลิน สตาร์เมื่อปีที่ผ่านมา มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 30-50% และมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของลูกค้า โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า โครงการดังกล่าว ทำให้ภาพของไทยในการเป็น Food Paradise ของโลกชัดเจนยิ่งขึ้น โดย ‘อาหาร’ เองถือเป็นหนึ่งในจุดขายที่ ททท. ต้องการชูขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงตัวตนของไทย สำหรับดึงให้ไทยออกจากการเป็น “Mass Tourisms” มาสู่ “Quality Tourisms” เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากมีการใช้จ่ายสูงแล้ว ยังเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่มีปัญหาในเรื่องการสร้างผลกระทบไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม
“ประเทศไหนก็มีแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล วัฒนธรรม แต่ไทยเราเด่นเรื่องอาหารมาก และไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีผลต่อสังคม เพราะอาหารสะท้อนวัฒนธรรม ศิลปะ และรากเหง้าของไทยด้วย เนื่องจากหลายร้านยังคงสูตรแบบดั้งเดิมไว้”
ร้านเจ๊ไฝ ใครอยากกินต้องจองคิวอย่างน้อย 2 อาทิตย์
ขณะที่ เจ๊ไฝ-สุภินยา จันสุตะ เจ้าของรางวัลมิชลิน 1 ดาว 2 ปีซ้อน เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ได้มิชลิน สตาร์เมื่อปีที่ผ่านมา ยอดขายเพิ่มขึ้นมาก จนเธอต้องยืนทำอาหารตั้งแต่ร้านเปิด ตอนบ่ายสองโมง ไปจนถึงร้านปิดตอนตีหนึ่งแบบไม่ได้พักแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ
นอกจากนี้ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนลูกค้า คือ มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งหากใครอยากชิมฝีมือของเจ๊ไฝ ตอนนี้ต้องจองคิวอย่างน้อย 2 อาทิตย์ หรือถ้า walk in เข้ามา ต้องรออย่างน้อย 4- 6 ชั่วโมง
เตรียมเพิ่ม ‘เชียงใหม่’ ในมิชลิน ไกด์ ปี 2020
สำหรับการจัดทำ มิชลิน ไกด์ ในปี 2020 นั้น จะมีการขยายขอบเขตไปสู่จังหวัดท่องเที่ยวทางภาคเหนือ อย่าง เชียงใหม่ ซึ่งทาง ททท. เองต้องการขยายการจัดทำให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการย้ำภาพของไทยว่า เป็นสวรรค์ในเรื่องอาหาร ควบคู่ไปกับการยกระดับร้านอาหารในไทยให้ทัดเทียมระดับโลก และเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
ส่วน ‘มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพังงา’ ประจำปี 2019 มีร้านอาหารที่ได้รับการติดดาว ‘มิชลิน สตาร์’ รวมทั้งสิ้น 217 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 81 ร้าน โดยร้านที่ได้รับการติดดาวอันเป็นสัญลักษณ์ความอร่อยจากมิชลินรวม 27 ร้าน ซึ่งเกินครึ่งเป็นร้านอาหารไทย
โดยรางวัล 2 ดาว (ร้านอาหารที่อร่อยเลิศคุ้มค่ากับการขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อไปชิม)จำนวน 4 ร้าน เป็นร้านอาหารที่ได้รับรางวัล 2 ปีซ้อน 3 ร้าน อีก 1 ร้าน เป็นร้านอาหารใหม่ที่ปีที่แล้วได้ 1 ดาว
ร้าน Sühring ที่ปีนี้คว้ามิชลิน 2 ดาว เป็นปีแรก
สำหรับร้านที่ได้รับรางวัล 1 ดาว (ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม) มี 23 ร้าน เป็นร้านอาหารที่ได้รับรางวัล 2 ปีซ้อน 13 ร้าน เป็นร้านอาหารใหม่ 10 ร้าน
โดยร้านที่ได้รับ 1 ดาว 2 ปีซ้อน ประกอบด้วย Bo.Lan , Chim by Siam Wisdom , เจ๊ไฝ , Elements , Ginza Sushi Ichi , J’AIME by Jean-Michel Lorain , L’Atelier de Joël Robuchon , Nahm , Paste , Saneh Jaan (เสน่ห์จันทน์) , Savelberg , Sra Bua by Kiin Kiin , Upstairs at Mikkeller
ร้านที่ได้ 1 ดาวปีแรก ได้แก่ Canvasกรุงเทพฯ , GAA กรุงเทพฯ , LE DU , เมธาวลัย ศรแดง , PRU ภูเก็ต , R-HAAN , เรือนปั้นหยา , สวรรค์ , ศรณ์ และสวนทิพย์
ขณะที่ร้านที่ได้มิชลิน สตาร์ 2 ดาว 2 ปีซ้อน ได้แก่ Gaggan , Le Normandie โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล และMezzaluna ส่วนร้านใหม่ที่เพิ่งได้ในครั้งนี้ คือ Sühring (ปีที่แล้วได้ 1 ดาว)