ใครหลาย ๆ คนน่าจะเคยเข้าร่วมงานอีเวนท์ อาทิ งานประชุม งานจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้า และงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ ตลอดทั้งปี มีทั้งงานขนาดเล็กและงานขนาดใหญ่ รวมถึงอาจจะมอบประสบการณ์สุดแสนพิเศษให้กับหลาย ๆ คนที่เข้ามาร่วมในงาน แน่นอนว่าอีเวนท์เหล่านี้ มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจไมซ์ (MICE)” ด้วยเช่นกัน
มาทำความรู้จักกับธุรกิจไมซ์…
“ ไมซ์ ” เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานอีเวนท์ต่าง ๆ ที่พัฒนาการจัดงานทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชุมบริษัทไปจนถึงระดับนานาชาติ เป็นการจัดงานที่มุ่งเน้นบริการนักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมและงานแสดงสินค้าเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากเป็นงานสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวอย่างของงานไมซ์ที่เห็นภาพได้ชัดเจน ได้แก่
“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center – QSNCC) โดยเกิดขึ้นจากประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปี ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 จึงทำให้มีการก่อสร้างศูนย์ประชุมขึ้นมา และเปิดวันแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2534 ก่อนปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2562
ปัจจุบันศูนย์ฯ สิริกิติ์อยู่ในความดูแลของ “กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง” ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงเป็นสถานที่จัดงานประชุมและอีเวนท์สำคัญต่าง ๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน ทำให้ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”เป็นที่จดจำของเหล่าชาวต่างชาติ โดยศูนย์ประชุมจะเปิดให้บริการวันที่ 12 กันยายน นี้
เป้าหมายของธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย
เพื่อรองรับงานอีเวนท์ในประเทศและนานาชาติ ในการตอบโจทย์ธุรกิจไมซ์ เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แนวโน้มธุรกิจไมซ์นานาชาติน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ด้วยศักยภาพที่มี ทำให้ศูนย์ประชุมจะก้าวมาเป็นอีเวนท์แพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและยกระดับอีเวนท์ของปะเทศไทย
คุณ สุทธิชัย บัณฑิตวรภูมิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 จากงานไมซ์ ที่ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 จากการปรับปรุงพื้นที่ของศูนย์ จะมีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคน/ปี เพิ่มขึ้นจากก่อนปิดปรับปรุง 6 ล้านคน/ปี ด้วยจำนวนการจัดงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 300-400 งานต่อปี จากเดิมแค่ 100 งานต่อปี
ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในการต้อนรับธุรกิจไมซ์ที่เข้ามาในประเทศ
การปรับปรุงพื้นที่ครั้งนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 15,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่รวมมากขึ้นถึง 5 เท่า เป็น 300,000 ตารางเมตร สามารถแบ่งพื้นที่จัดอีเวนท์ 78,500 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับร้านค้าทั่วไป 11,000 ตารางเมตร สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ ด้วยจำนวนฮอลล์จัดนิทรรศการ 8 ห้อง ห้องเพลนารี 4 ห้อง ห้องบอลรูม 4 ห้อง และห้องย่อย 50 ห้อง รองรับผู้เข้าใช้บริการได้มากถึง 100,000 คน/วัน พร้อมลานจอดรถใต้ดินที่สามารถจอดรถยนต์ได้มากถึง 3,000 คัน
รวมไปถึงการเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ที่เชื่อมตรงเข้าถึงพื้นที่โดยตรง และจะมีการปรับราคาค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากราคาเดิมมากกว่าศูนย์ประชุมอื่นกว่า 20% เพราะมีข้อได้เปรียบเรื่องโลเคชั่น ที่อยู่ใจกลางเมือง
ธุรกิจไมซ์กลับมาอีกครั้งหลังการผ่อนคลายมาตรการการล็อกดาวน์ลง
ธุรกิจไมซ์กำลังกลับมาอีกครั้ง หลังจากการผ่อนคลายมาตรการการล็อกดาวน์ลง เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มากมาย จนสร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจจากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาใช้การจัดอีเวนท์ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
คุณ จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า มีการกระตุ้นการจัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล ในการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยโครงการกระตุ้นการตลาด “Thailand MICE Back” เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจไมซ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพร้อมดึงงานอีเวนท์ระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย
โดยประเทศได้รับความไว้วางจากผู้จัดงานระดับอินเตอร์ จากหลากหลายประเทศเข้ามาจัดในประเทศไทยครั้งแรก อาทิ
- เจ้าภาพในการเป็นสถานที่จัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ได้แก่ “งาน APEC 2022” ถือเป็นงานประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดในปีนี้ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2565
- Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลก ปกติแล้วจะจัดอยู่ที่ประเทศฮ่องกง โดยปีนี้เปลี่ยนมาจัดที่ประเทศไทยในวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2565
- Jewellery & Gem ASEAN Bangkok (JGAB) งานจัดแสดงสินค้าอัญมณีครั้งยิ่งใหญ่ รวบรวมทั้งการค้าขาย สัมมนา และกิจกรรมเสริมความรู้ด้านอัญมณี เพื่อผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จากทั่วโลก เดิมจัดที่ประเทศสิงคโปร์ โดยปีนี้เปลี่ยนมาจัดที่ประเทศไทยในวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน 2565