‘มาม่า’ หนึ่งในอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก ทานง่าย และราคาย่อมเยาต่อทุกคน จึงไม่แปลกที่จะครองใจคนไทยมายาวนานกว่า 50 ปี แต่ด้วยความที่อยู่มานานนี้เอง อาจทำให้เริ่มเกิดความอิ่มตัวในตลาด
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มาม่าต้องหันไปดูตลาดต่างประเทศอย่าง จีนและเวียดนาม เพราะมองเห็นว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสองประเทศนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้และปีหน้ามีแผนขอลุยทำตลาดต่างแดน มีอะไรน่าสนใจบ้าง ดังนี้
ความน่าสนใจของตลาดจีนและเวียดนาม
มาม่าเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความนิยมจากต่างประเทศทำให้มาม่ามีรายส่งออกถึง 30% จากการส่งออกไป 68 ประเทศทั่วโลก
แต่ในปีนี้และปีหน้ามาม่ามองเห็นว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนและเวียดนามมีขนาดใหญ่สามารถเติบโตได้สูงกว่าในประเทศ จึงมีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น เพราะมีราคาขายเฉลี่ยของมาม่าในต่างประเทศอยู่ที่ 50 บาทต่อซอง ซึ่งสูงกว่าที่ประเทศไทย
ที่สำคัญประเทศจีนตอนนี้ยังมองสินค้าของไทยเป็นพรีเมียม เพราะว่าปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคจีนนิยมอาหารไทยมักจะซื้อเป็นของฝาก และนิยมอาหารไทยมากขึ้น โดยรสชาติต้มยำกุ้งของมาม่าเป็นที่นิยมแบบสุด ๆ ในประเทศจีน เนื่องจากมีรสชาติของความเป็นไทยเผ็ด ๆ มัน ๆ ตามสไตล์ที่จีนชื่นชอบทำให้ยอดขายส่งออกของรสชาตินี้ปังสุด ๆ
คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เล่าให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วมาม่านั้นเคยลงทุนในประเทศจีนมาก่อนช่วงปี 2541-2543 ไม่ได้ผลตอบที่ดีมากนั้น แต่ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีอิทธิพลต่อจีน เพราะได้เข้าไปทำตลาดผ่านคอมเมิร์ซจีน อย่าง “taobao” (เถาเป่า เว็บขายสินค้าชื่อดังของจีน) และ Douyin (แพลตฟอร์ม TikTok ในจีน) โดยจะใช้ KOL เป็นหลัก ซึ่งประเทศจีนมีประชากรถึง 1 พันล้านคน ขอเพียงเราเจาะได้ 1% ก็ถือว่าเป็นตลาดใหญ่แล้ว
ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “เวียดนาม” ซึ่งก็เคยถอยออกมาในช่วงปี 2543 เช่นกัน เพราะคู่แข่งแบรนด์ท้องถิ่น 3-4 แบรนด์แข็งแรงมาก และเวียดนามเป็นตลาดที่ต้องทำสงครามราคา แต่ด้วยจำนวนประชากร 90 ล้านคนจึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ อีกทั้งห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยยังเข้าไปเปิดในเวียดนามจำนวนมาก ทำให้ไม่ยากถ้าเราจะตีตลาดเวียดนามอีกครั้ง
กลยุทธ์ที่ใช้ จะทำให้ยอดขายเติบโต
กลยุทธ์ของมาม่าคือการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักผ่านแพลตฟอร์ม ภาพยนตร์ ซีรีส์วาย และละคร ต่างประเทศที่เข้ามาดู ก็จะเห็นฉากนักแสดงกินมาม่า ทำให้แฟนคลับในต่างประเทศก็อยากลิ้มลองรสชาติของมาม่าแบบไทย ๆ ตามรอยดาราที่ชื่นชอบ ที่สำคัญมาม่ายังมีไม้เด็ดอื่น ๆ ได้แก่
- ปรับรสชาติให้เข้ากับท้องถิ่น มาม่ามีการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ตัวอย่าง “มาม่า รสจีน” เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีน
- ใช้สื่อการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภค มาม่าใช้สื่อการตลาดที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภครุ่นใหม่
- ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น มาม่าร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อขยายตลาดและสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับร้านอาหารในต่างประเทศเพื่อให้บริการมาม่า
กลยุทธ์เหล่านี้ช่วยให้มาม่าประสบความสำเร็จในการทำตลาดต่างประเทศ และกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
ตลาดในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า พร้อมขยายโรงงานผลิตแห่งใหม่
คุณพันธ์ เปิดเผยว่า ยอดขายในปีนี้ตกลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสองปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงว่างเว้นรัฐบาลกำลังซื้อจึงลดลง ถึงจะมียอดขายลดลงในประเทศ แต่กำลังการผลิตไม่ได้ลดลง เนื่องจากมาม่ามีหลากหลายรสชาติ และมีการขยายตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มในโรงงานหลายแห่ง โดยมีการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพและความเร็วในการผลิตเพิ่มขึ้น
เพื่อรองรับการทำตลาดที่มากขึ้นในอนาคต โดยลงทุนโรงงานเพิ่มที่เมียนมา เพื่อสร้างโรงงานใหม่ที่มัณฑะเลย์ ซึ่งย้ายโรงงานมาจากย่างกุ้งและเตรียมศึกษาการลงทุน โนว์ฮาวต่าง ๆ ที่ประเทศเคนย่า เนื่องจากตลาดแอฟริกามีความน่าสนใจในแง่ผู้บริโภครับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตจำนวนทั้งหมด 8 แห่ง ในประเทศ 5 แห่ง โดย 3 แห่ง ได้แก่
– อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี 1 แห่ง กำลังการผลิต 262 ตันต่อวัน
– จ. ลำพูน 1 แห่ง กำลังการผลิต 136 ตันต่อวัน
– จ. ระยอง 1 แห่ง กำลังการผลิต 94.01 ตันต่อวัน
และโรงงานผลิตเส้นขาวจังหวัดราชบุรีจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 60 ตันต่อวัน และโรงงานผลิตในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา, กัมพูชา, บังกลาเทศ และฮังการี กำลังการผลิตรวม 16,044 ตันต่อปี โดยสามารถแบ่งประเภทกำลังการผลิต
– บะหมี่ประเภทซองอยู่ที่ 964,320 หีบต่อเดือน โดยความเร็วในไลน์ผลิตแบบซองสูงสุดอยู่ที่ 450 ซองต่อนาที
– บะหมี่ประเภทถ้วยอยู่ที่ 1,159,498 หีบต่อเดือน ความเร็วไลน์ผลิตสูงสุด 300 ถ้วยต่อนาที
– ผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่ที่ 193,125 หีบต่อเดือน
ที่สำคัญ คุณพันธ์ยังได้ตอบคำถามประเด็นการขึ้นราคาว่า ที่ผ่านมาในการปรับราคาของมาม่า เพราะปัญหาวัตถุดิบหลักอย่างน้ำมันปาล์มเเละมันสำปะหลังพุ่งสูง จนผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับไหว ต้องประกาศขอขึ้นราคา
เเต่เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุม บริษัทต่างก็พยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด และในเร็ว ๆ นี้ จะมีการปรับขึ้นราคาหรือไม่นั้น บริษัทมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น โดยจะพยายามชะลอการขึ้นราคาอย่างถึงที่สุดเหมือนที่ทำตลอดมา
สำหรับทิศทางการทำธุรกิจในอนาคต มาม่าจะมุ่งต่อยอดสู่ Future food โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและไม่หยุดนิ่ง
ด้านผลประกอบการคาดว่าในปี 2566 นี้ จะมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 4 % โดยคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะสามารถเติบโตอยู่ที่ 5 – 7 % ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นในประเทศ 70 % และต่างประเทศ 30 % ในอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40 – 50 %