กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจร้านอาหาร ในกลุ่ม Chain Restaurant ที่มีเครือข่ายสาขา และหลากหลายแบรนด์ คือ “Brand Portfolio” ที่มาพร้อมกับการขยาย “ช่องทางการให้บริการ” รูปแบบต่างๆ ทั้ง Dine-in, Take Away, Delivery รวมถึงรับจัด Catering ควบคู่กับการครีเอท “New Experience” ผ่านสาขาใหม่ เมนูใหม่ การตลาดที่สามารถดึงความสนใจผู้บริโภค
ดังเช่น “MAGURO Group” จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้วของ “MAGURO” ร้านอาหารญี่ปุ่นและซูชิที่เปิดสาขาแรกที่ Chic Republic บางนา ถึงวันนี้ขยายสู่การเป็นอาณาจักรธุรกิจร้านอาหารที่เดินหน้าขยาย Brand Portfolio ครอบคลุมอาหารหมวดหมู่ต่างๆ โดยไม่จำกัดสัญชาติ และประเภทอาหาร ควบคู่กับการขยายสาขา เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตด้านผลการดำเนินงาน และเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการรับประทานของผู้บริโภค
จากจุดเริ่มต้นสาขาแรก สู่รายได้แตะพันล้าน – สร้าง Brand Portfolio ร้านอาหารญี่ปุ่น–เกาหลี
เส้นทาง “MAGURO Group” เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อน 4 คนคือ คุณเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง คุณชัชรัสย์ ศรีอรุณ คุณรณกาจ ชินสำราญ และคุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ เปิด MAGURO สาขาแรกที่ Chic Republic บางนา ในปี 2558 วางตำแหน่งแบรนด์เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นและซูชิ ระดับพรีเมียม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Give More Culture” หรือ “การให้มากกว่าที่ขอ”
หนึ่งปีต่อมาได้เปิดเพิ่มอีก 3 สาขา โดยยังคงเน้นทำเลย่านที่พักอาศัยในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น ย่านราชพฤกษ์, แจ้งวัฒนะ เนื่องจากเป็น Residential Area กลุ่มครอบครัวที่มีกำลังซื้อ
กระทั่งในปี 2560 MAGURO ได้เปิดสาขาในศูนย์การค้าเป็นครั้งแรกที่เมกาบางนา และจากนั้นเป็นต้นมา ขยายสู่กรุงเทพฯ ชั้นในที่เป็นย่านเศรษฐกิจ-ย่านช้อปปิ้งสำคัญ เช่น สยามสแควร์, เอสพลานาด รัชดา, เปิดสาขา Flagship Store ที่เซ็นทรัลเวิร์ด และเมื่อช่วงต้นปีนี้ เปิดสาขาที่มาร์เช่ ทองหล่อ ขณะเดียวกันยังคงเปิดสาขาใหม่ย่านที่อยู่อาศัย เช่น ย่านพระราม 2, ย่านศรีนครินทร์ที่พาราไดซ์ พาร์ค
นอกจากแบรนด์ MAGURO แล้ว ในช่วงปี 2564 ยังเปิดแบรนด์ใหม่ “SSAMTHING TOGETHER” ร้านปิ้งย่างเกาหลี และอีกหนึ่งปีถัดมา เปิดแบรนด์ “HITORI SHABU” ชาบูและสุกียากี้ต้นตำรับญี่ปุ่น
สำหรับในปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรกเปิดร้านใหม่ 2 ร้าน จำนวนสาขาร้านอาหารในเครือ ประกอบด้วย
– MAGURO 16 สาขา
– SSAMTHING TOGETHER 6 สาขา
– HITORI SHABU 8 ร้าน
ขณะที่ในครึ่งปีหลัง เตรียมเปิดอีก 11 ร้านใหม่ ทำให้ปีนี้ MAGURO Group เปิดร้านใหม่ทั้งหมด 13 ร้าน อย่างล่าสุดเปิดสาขาใหม่ ทั้ง MAGURO และ HITORI SHABU ที่กรุงเทพกรีฑาอยู่ในโครงการของ Nirvana รองรับลูกค้าในย่านนี้ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีโครงการบ้านเดี่ยวราคาสูงจำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของ MAGURO Group
นอกจากนี้ยังได้เปิดแบรนด์ใหม่อย่างน้อยอีก 2 แบรนด์ คือ “HITORI SUKIYAKI” และอีกหนึ่งแบรนด์ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ด้านผลการดำเนินงาน เมื่อปีที่แล้วถือเป็นปีแรกที่รายได้แตะพันล้านบาท!
– ปี 2564: รายได้รวม 387.61 ล้านบาท – กำไรสุทธิ 9.57 ล้านบาท
– ปี 2565: รายได้รวม 665.85 ล้านบาท – กำไรสุทธิ 31.36 ล้านบาท
– ปี 2566: รายได้รวม 1,045.81 ล้านบาท – กำไร 72.48 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2567 MAGURO Group มั่นใจว่าแบรนด์ร้านอาหารในเครือ จะสร้างการเติบโตรายได้รวม 30%
ชูหลักคิดเปิดร้านอาหารที่เติบโตอย่างยั่งยืน – ไม่เปิดตามกระแส
ด้วยความที่ MAGURO Group ดำเนินธุรกิจร้านอาหารรูปแบบ Chain Restaurant และเป็นบริษัทมหาชน จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับ Landscape การแข่งขันธุรกิจร้านอาหารในทุกวันนี้เปลี่ยนไป มีลักษณะ Market Fragmentation นั่นคือ ร้านอาหารจะแยกย่อยเฉพาะด้านมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น Category ร้านอาหารญี่ปุ่น จากในอดีต 1 ร้าน ให้บริการเมนูอาหารญี่ปุ่นหลากหลายประเภทในร้านเดียว ขณะที่ปัจจุบันจะเห็นร้านอาหารญี่ปุ่น แยกย่อยเป็นเซ็กเมนต์เฉพาะ เช่น ร้านข้าวหน้าเนื้อ, ร้านอุด้ง, ร้านเทปันยากิ, ร้านยากินิกุ เหมือนเช่นในประเทศญี่ปุ่น ที่แต่ละร้านจะเป็น Specialist อาหารประเภทต่างๆ
อีกทั้งยังเกิด New Player ทั้งในกลุ่ม Chain Restaurant และผู้ประกอบการ SME ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว มี Demanding ซับซ้อน มี Brand Loyalty ลดลง มองหาประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ ทำให้ผู้เล่นในธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวเร็ว ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญของผู้เล่นกลุ่ม Chain Restaurant จึงอยู่ที่ “Brand Portfolio” มีความหลากหลายของแบรนด์ และประเภทอาหารในพอร์ตฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากที่สุด
ดังนั้นต่อไปนอกจากแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น และแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีแล้ว จะได้เห็น MAGURO Group มีแบรนด์ใหม่ในเครือที่หลากหลายสัญชาติอาหาร หลากหลายประเภท
“ภาพของธุรกิจร้านอาหารในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีการแข่งขันสูงขึ้น และ Category แยกย่อยมากขึ้น รวมทั้งยังมีช่องทางการเข้าถึงของลูกค้าผ่านสื่อต่างๆ ของแบรนด์มากขึ้น เพราะฉะนั้นการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย ไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่แบรนด์หนึ่งเปิดได้ร้อยสาขา สมัยนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว เนื่องจากลูกค้ามีตัวเลือกเยอะ สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย
สำหรับ MAGUR Group ทั้ง 3 แบรนด์ (MAGURO, SSAMTHING TOGETHER, HITORI SHABU) การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) ดี แม้ต้องเจอความท้าทายสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อหด ส่งผลให้ยอดขายจากสาขาเดิมของร้านในเครือ MAGURO Group ลดลง 2% เมื่อเทียบกับผู้เล่นอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ยอดขายจากสาขาเดิมลดลง 10% เราถือว่าลดลงน้อยกว่าผู้เล่นในตลาด
อย่างไรก็ตามเรายังมองหาโอกาสใหม่ๆ ด้วยความสามารถในการสร้างแบรนด์ มีทีม R&D แข็งแรง ศึกษาตลาดสม่ำเสมอ ซึ่งใน Pipeline ของเรา มีอาหารประเภทต่างๆ ที่เราพัฒนาไว้เยอะพอสมควร เพื่อเตรียมความพร้อมตลอด ถ้าเราเห็นโอกาสตรงไหน หยิบจับเอามาสร้างเป็นแบรนด์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหม่ หรือขยายจากแบรนด์เดิม เป็น Sub-brand” คุณเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเตรียมความพร้อมด้าน Brand Portfolio
MAGURO Group ตั้งเป้าว่าจะเปิดแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ต่อปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาส ณ เวลานั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหมวดอาหารญี่ปุ่น เป็นตลาดหลักของ MAGURO Group และหมวด Non-Japanese Restaurant
การตัดสินใจเข้าไปในธุรกิจร้านอาหาร category ใดก็ตาม MAGURO Group จะศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และตลาดอยู่เสมอ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภค และสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นใน Pipeline มีการพัฒนาอาหารประเภทต่างๆ เตรียมไว้ เพื่อสามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งการเข้า
“เป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ เรามีแบรนด์เดียว แต่พอเราได้เปิดแบรนด์ที่ 2, 3 แล้วประสบความสำเร็จ ทำให้เรามองว่า MAGURO Group ไม่ใช่แค่ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลีเท่านั้น เรามอง Universe ใหญ่กว่านั้นที่ภายใต้กรุ๊ปเรา จะประกอบด้วยร้านอาหาร ไม่ได้จำกัดสัญชาติ ไม่ได้จำกัดประเภท ไม่แน่ว่าอนาคตอาจเห็นเราไปทำร้านอาหารอีสาน ร้านอาหารไทย อาหารจีนก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO Group ย้ำว่า “ตลาดร้านอาหารที่เราจะเข้าไปนั้น เราไม่ทำแบรนด์อาหารแฟชั่น เพราะมองว่าอาหารตามกระแสแฟชั่นไม่ยั่งยืน ซึ่งหลักคิดของ MAGURO Group แบรนด์ร้านอาหารของเรา ต้องอยู่ได้ 20 – 30 ปีขึ้นไป อย่างอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีที่อยู่คู่คนไทย”
นำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไมล์สโตนครั้งสำคัญ
อีกหนึ่ง Milestone สำคัญของ MAGURO Group เมื่อกลางปี 2567 ได้จดทะเบียนและเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรกเมื่อ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะนำไปเปิดแบรนด์ใหม่ และขยายสาขาเพิ่ม รวมทั้งปรับปรุงสาขาเดิม ครัวกลาง และระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการขยายตัวของจำนวนสาขาในอนาคต อีกทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ถึงวันนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าที่เรามองไว้เยอะ จากตั้งแต่วันแรก สาขาแรกเปิดที่ Chic Republic บางนา เราไม่ได้คิดว่าต้องเอาบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คิดว่าทำให้ดีที่สุด และอยู่ให้รอด แต่การตอบรับจากลูกค้าที่มาใช้บริการสาขาแรกดีเกินคาด ทำให้เราขยายสาขาที่ 2, 3, 4, 5… อย่างต่อเนื่อง
เราจึงเริ่มคิดแล้วว่าเราสามารถ scale ได้ และมีความสามารถในการสร้างแบรนด์ ก็น่าจะนำบริษัทเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ” คุณเอกฤกษ์ เล่าถึงการความสำเร็จอีกสเต็ปในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
พัฒนาระบบ CRM รักษาฐานลูกค้า
นอกจากกลยุทธ์ Brand Portfolio และขยายสาขาแล้ว MAGURO Group ได้มีการใช้ Data จากระบบ CRM (Customer Relation Management) เพื่อพัฒนาเมนู การให้บริการ และรักษาฐานลูกค้า
คุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขยายความเพิ่มเติมว่า ใช้ระบบ CRM เพื่อจับพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบัน พบว่าลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารที่ร้านในเครือ MAGURO ในทุกๆ แบรนด์ มีความหลากหลายทั้งด้านอายุ อาชีพ รวมถึงผู้ร่วมรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยกลุ่มขนาดเล็ก คือ 2-3 ท่าน ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อนฝูง
“บริษัทฯ ปรับวางกลยุทธ์เพิ่มเติมในส่วนของเมนูอาหารที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงขนาดของเซ็ตอาหารที่แต่เดิมจะเน้นเป็นเซ็ตเมนูขนาดใหญ่
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มาในรูปแบบครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนขนาดใหญ่ ก็จะมีการเพิ่มเซ็ตเมนูขนาดเล็ก-กลางเข้ามารองรับกลุ่มลูกค้าที่มาทานคนเดียว หรือมาเป็นคู่
เช่นเมนู Lady’s Salmon ซาชิมิแซลมอน 5 ชิ้น ขนาดพอดีคำ และ Perfect Portion Salmon ซาชิมิแซลมอนขนาดใหญ่เต็มคำในปริมาณ 4 ชิ้น เพื่อส่งมอบความพรีเมียมให้เข้าถึงลูกค้าอย่างครอบคลุม ซึ่งในทุกๆ เมนูยังคงส่งมอบความ ‘Give More Culture’ หรือ การให้มากกว่าที่ขอ’ เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง” คุณจักรกฤติ กล่าวสรุป