ส่องวิสัยทัศน์ “L’ORÉAL FOR THE FUTURE” ประเมินทุกสูตร-ปรับทุกขั้นเพื่อใส่ใจโลก

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ปี 2023 คือปีที่ 3 ที่ลอรีอัล (L’ORÉAL) เดินหน้าทำโครงการความยั่งยืนแบบครบวงจรระยะที่ 2 ที่มีชื่อเรียกว่า “ลอรีอัลเพื่ออนาคต” หรือ L’ORÉAL FOR THE FUTURE อภิมหาโปรเจ็กต์ระยะยาวนี้หวังผลให้เกิด “พลังแห่งการใส่ใจโลก” ในหลายด้าน แต่เป้าหมายหลักนั้นถูกวางกำหนดให้เกิดภายในปี 2025 และปี 2030

 

 

หนึ่งในเป้าหมายหลักของโปรแกรมคือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกไซต์งานของ L’ORÉAL ภายในปี 2025 และภายในปี 2030 ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมความงามอย่าง L’ORÉAL ตั้งเป้าให้มีส่วนผสม 95% จากแหล่งชีวภาพ แร่ธาตุที่ไม่ขาดแคลน หรือแหล่งหมุนเวียน โดยมุ่งมั่นที่จะรีไซเคิลน้ำจากกระบวนการอุตสาหกรรม โดยนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ 100% ภายใน 6 ปีจากนี้

นัยของโปรแกรมนี้คือการพาตลาดบิวตี้เข้าสู่ยุคใหม่ เพราะชัดเจนว่า L’ORÉAL ต้องการโฟกัสเรื่อง Sustainable Sourcing หรือการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ด้วยการวางเป้าหมายเพื่อให้ส่วนผสมที่นำมาใช้ สามารถนำไปตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา อันปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าแบบได้ 100% ขณะเดียวกันก็เน้นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 100% ภายในปี 2030 ซึ่งยังต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เติมได้หรือนำไปรีไซเคิลได้แปลว่าซัพพลายเชนสินค้าความงามทั้งวงจรกำลังจะเกิดการพลิกโฉมในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนี้

การพลิกโฉมซัพพลายเชนสินค้าความงามทั้งวงจร ภายใต้พันธกิจเพื่อความยั่งยืน “L’ORÉAL FOR THE FUTURE” นั้น เกิดขึ้นภายใต้การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Targets โดยครอบคลุมทั้งการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, การวางนโยบายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก, การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญคือ Green Science ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และความยั่งยืนของ L’ORÉAL ทีเดียว

 

7 แผนความยั่งยืนของ L’Oréal

ก่อนจะไปถึง 7 แผนงานด้านความยั่งยืนของ L’Oréal เราควรรู้ว่า L’Oréal คือบริษัทความงามยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ไม่ได้มีแค่ “ลอรีอัล ปารีส” แต่มีแบรนด์ในมือกว่า 37 แบรนด์ทั่วโลก (ในประเทศไทยมี 15 แบรนด์ อาทิ การ์นิเย่ ลา โรช-โพเซย์ ลังโคม) วันนี้บริษัทอายุ 115 ปีอย่าง L’Oréal มีพนักงานมากกว่า 87,000 คน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ 4,000 คนในศูนย์วิจัย 20 แห่ง ซึ่งสานต่อความพยายามและความมุ่งมั่นในการสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก (Create the Beauty that Moves the World) ที่ L’Oréal วางเป็นเป้าหมาย (purpose) ของบริษัท

L’Oréal ดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนอย่างจริงจังมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ “การ์นิเย่” (Garnier) จะประกาศว่าเป็น Green Beauty บริษัทแม่อย่าง L’Oréal ก็ได้เริ่มปรับนโยบาย ทั้งแนวทางการบริหารจัดการ การผลิต ออกแบบสูตรและบรรจุภัณฑ์บนพื้นฐานของความยั่งยืนมายาวนาน โดยตั้งเป้าหมายให้อิงหลักวิทยาศาสตร์ และเคารพต่อขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก หรือที่เรียกกันว่า Planetary Boundaries ซึ่งเป็นขีดจำกัดที่โลกสามารถรับไหวอย่างชัดเจน

 

 

1 ใน 7 แผนความยั่งยืนของ L’Oréal ที่โดดเด่นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือการประกาศปรับรูปแบบการดำเนินงานครั้งใหญ่เพื่อดันเป้าหมายด้านความยั่งยืนอิงจาก Science Based Targets ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือในส่วนการผลิต ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการ การรีไซเคิลน้ำและใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในโรงงาน บรรจุภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อลดการใช้พลาสติก การใช้พลาสติกรีไซเคิล รวมไปถึงแผนงานในอนาคตเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน

แผนที่ 2 คือการทประเมฺินผลิตภัณฑ์ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเปิดเผยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มจากที่แบรนด์ Garnier มีการโชว์คะแนนความยั่งยืนของแต่ละผลิตภัณฑ์ แบรนด์อื่นก็ได้รับการประเมินด้วยเช่นกัน โดยบริษัทแม่ปรับเปลี่ยนจุดที่เป็นแก่นของธุรกิจ ทั้ง “สูตรและส่วนผสม” ที่มีการนำ Green Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนมาใช้ เพื่อคิดค้นสูตรให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดจากส่วนผสมธรรมชาติ ให้ประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย และให้แน่ใจว่าส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของ L’Oréal นั้น มาจากแหล่งชีวภาพหรือแร่ที่มีมากไม่ขาดแคลนมากที่สุด

แผนที่ 3 คือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแผนที่ต่อเนื่องจากในปี 2017 ที่ L’Oréal เป็นหนึ่งในหนึ่งร้อยบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย Science-Based Targets โดยเป้าหมายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ L’Oréal ในปี 2030 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องตามเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน +1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ใช่เฉพาะส่วนการผลิตและกระจายสินค้า แต่จะลดคาร์บอนในการขนส่งและผลกระทบทางอ้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์ L’Oréal ด้วย

 

 

แผนที่ 4 คือการจริงจังกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดย L’Oréal เริ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา เรียกว่าทุ่มเทเวลาเกือบ 15 ปี เพื่อทำให้ฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ของ L’Oréal ลดน้อยลง มีทั้งการปรับให้มีน้ำหนักเบาเพื่อลดการใช้ทรัพยากร เปลี่ยนใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิล คิดค้นการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ อาทิ ขวดน้ำหอมที่เติมใหม่ได้ พัฒนาการใช้งานแบบแบบรีฟิลสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทครีมบำรุงผิว และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลกลับสู่กระบวนการ circular economy ได้

แผนที่ 5 คือการบริหารจัดการน้ำ ตรงนี้ L’Oréal ยกให้น้ำเป็นศูนย์กลางของธุรกิจเพราะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทั้งในกระบวนการผลิตและในการใช้ผลิตภัณฑ์ ดังนั้นความสามารถในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคของ L’Oréal ที่ครบถ้วน จึงขึ้นอยู่กับการเข้าถึง การบริหารจัดการ และการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน

นี่เป็นเหตุผลที่ L’Oréal มุ่งมั่นสร้างความมั่นใจว่าได้มีส่วนร่วมในรักษาคุณภาพและปริมาณที่สูงอย่างยั่งยืนของน้ำตลอดห่วงโซ่มูลค่า รวมไปถึงในลุ่มน้ำ และชุมชนที่ L’Oréal ให้บริการและดำเนินกิจการ ซึ่งภายในปี 2030 บริษัท L’Oréal จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากการใช้ผลิตภัณฑ์ L’Oréal เฉลี่ย 25% ต่อผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับปี 2016 และสูตรจะไม่ส่งผลกระทบเมื่อชำระลงแหล่งน้ำ

Green Science ปฏิวัติ-สร้างสรรค์สูตร

 

แผนที่ 6 ของ L’Oréal คือการหยิบใช้ Green Science ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์จำเพาะ ที่เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกและเทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึง Green Chemistry และศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์สูตรที่ L’Oréal นำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

L’Oréal มองว่า Green Science จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาพลิกวิธีการสร้างสรรค์และกระบวนการผลิตของ L’Oréal เพราะ Green Science ทำให้ L’Oréal ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างการเพาะปลูกส่วนผสมที่ยั่งยืน และสกัดสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติมอบให้ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น เทคโนโลยีชีวภาพหรือ Green Chemistry สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความคาดหวังของทุกคน

ไม่เพียงแค่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นและใช้สารเคมีน้อยลงเท่านั้น แต่ Green Science ช่วยให้ L’Oréal สังเกตและศึกษาธรรมชาติเพื่อค้นหาส่วนผสมใหม่ ๆ มีการลอกเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry) จนมี 4 สถิติล่าสุดที่น่าทึ่ง ดังนี้

– 65% ของส่วนผสมธรรมชาติของ L’Oréal เป็นวัตถุดิบชีวภาพหรือได้มาจากแร่ธาตุทไม่ขาดแคลน

– 80% เป็นวัตถุดิบที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ง่าย เช่น กรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งได้มาจากแป้งข้าวโพดและใช้สำหรับการสร้างเนื้อสัมผัส

– 32% เป็นวัตถุดิบธรรมชาติหรือมีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เช่น วิตามินซี

– 29% เป็นส่วนผสมที่ได้จาก Green Chemistry หรือกระบวนการทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ใช้พลังงานต่ำ และสารทำละลายที่อ่อนโยนอย่างน้ำและเอทานอล ไปพร้อม ๆ กับการลดปริมาณของเสียที่เกิดขี้น

ตัวอย่างผลลัพธ์ของ Green Science ที่โดดเด่นมาก คือมาสคาร่าที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 99% ให้ความหนาและความติดทนยาวนานเหมือนผลิตภัณฑ์ทั่วไป บนเนื้อสัมผัสแบบครีมที่ล้างออกได้ง่าย ผ่านการทดสอบทางการแพทย์แล้วว่าเหมาะสมทั้งสำหรับดวงตาที่บอบบาง และผู้สวมใส่คอนแทคเลนส์

 

 

แผนที่ 7 ของ  L’Oréal คือการรักษาความงามของโลก และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบย้อนกลับ การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งยั่งยืน อีกทั้งยังให้งบประมาณกับองค์กรที่ฟื้นฟูด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่สุดแล้ว  L’Oréal รู้ดีว่าทั้ง 7 แผนยังไม่เพียงพอ และต้องการจะไปให้ไกลกว่าเดิมในโลกยุคหน้า ซึ่งจะเป็น New Era ที่อุตสาหกรรมความงามจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน.


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE