หลังจาก “โรงภาพยนตร์ลิโด” 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์แบบ Stand Alone ในเครือ “Apex” ต้องปิดฉากลงเมื่อ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ล่าสุด “ลิโด” ยังคงไม่หายไปไหน และจะยังอยู่คู่ “ย่านสยามสแควร์” ต่อไป เมื่อ “สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้สยามสแควร์ยังคงเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะวัฒนธรรม นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จึงได้มองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาบริหารและดูแลพื้นที่ “ลิโด”
ในที่สุดได้ “LOEViS Entertainment” มาเป็นพันธมิตร ถือเป็นครั้งแรกของค่ายเพลงรักค่ายนี้ ที่ขยายฐานธุรกิจเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ โดยจัดตั้งบริษัท LIDO CONNECT ทางกลุ่ม LOVEiS ถือหุ้น 70% และอีก 30% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อชุบชีวิต “โรงภาพยนตร์ลิโด” เดิมให้กลายเป็นแหล่งศิลปะ – วัฒนธรรม – ความคิดสร้างสรรค์
ไม่รื้อ “ลิโด” ทำห้างฯ แต่เลือกรีโนเวตเป็น “พื้นที่ปล่อยความคิดสร้างสรรค์”
“แนวคิดหลักของสำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้มองเพียงการสร้าง Maximise Revenue แต่เรามองการสร้างคุณค่าเพิ่มให้สังคม จากพื้นที่ที่เรามีอยู่ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ มีธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และมีธุรกิจที่สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผ่านการให้โอกาสผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ
ดังนั้นเมื่อ “ลิโด” ครบสัญญาเช่า ตัวอาคารและพื้นที่โดยรอบขาดการบูรณะมานานแล้ว เราจึงมาคิดว่าอะไรที่สังคมไทยยังขาด และเราจะเติมเต็มได้ ในพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งเราไม่อยากนำพื้นที่ตรงนี้ มาทำเป็นห้างสรรพสินค้า เพราะการเป็นห้างฯ นั้นง่ายมาก แต่ด้วยพื้นที่ Prime Area อย่างนี้ จึงมาดูว่าอะไรคือสิ่งที่ย่านสยามสแควร์ยังขาดอยู่
ด้วยความที่ขนาดพื้นที่ “ลิโด” ไม่เล็ก และไม่ใหญ่ ขณะเดียวกันทางจุฬาฯ ไม่มีกำลังไป Operate เองได้ และที่ผ่านมาเรามองหาพาร์ทเนอร์ ที่มีศักยภาพมาร่วมกับเรา โดยได้ “LOVEiS” เพราะนับตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นค่าย Bakery Music ถือกำเนิดขึ้นในย่านสยามสแควร์ จึงมีความผูกพันกับพื้นที่นี้ และมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และไม่ใช่การมองที่ Maximise Profit เช่นเดียวกัน
เชื่อว่าการเข้ามาของ LOVEiS จะสามารถเติมเต็มพื้นที่นี้ ในฐานะเป็น community ที่เริ่มจากคนดนตรี แล้วจึงขยายไปยังผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยที่มาของความร่วมมือกับ “LOVEiS”
เปิดเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “LIDO CONNECT”
– โรงภาพยนตร์ลิโด สร้างขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็น 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์ของเครือ Apex ต่อมาได้ปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 1994 และเปิดให้บริการถึงพฤษภาคมในปีนี้
– “สำนักงานจัดการทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) หาพันธมิตรที่มาบริหารพื้นที่ตรงนี้ ในที่สุดได้ “LOVEiS” เข้ามาเป็นผู้บริหารพื้นที่รายใหม่ ทดลองเบื้องต้นสัญญามีระยะเวลา 5 ปี โดยข้อตกลงทาง “PMCU” ดูแลงานรักษาความปลอดภัย และงานระบบต่างๆ ของอาคาร ขณะที่ “LOVEiS” ดูแลด้านการใช้งานพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ มาลง ด้วยงบประมาณปรับปรุงโดยรวมเกือบ 100 ล้านบาท
– เมื่อ “LOVEiS” เข้ามาสำรวจพื้นที่ ต้องการพัฒนาให้เป็นมากกว่าโรงภาพยนตร์ แต่คือ พื้นที่ศิลปะ-วัฒนธรรมทุกแขนง และแหล่งความคิดสร้างสรรค์ ที่จะมีกิจกรรมหลากหลายประเภทหมุนเวียน เช่น Live Performance ด้านต่างๆ เช่น การแสดงละครเวที คอนเสิร์ต เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสดูการแสดงสด รวมถึงจัดดนตรีหลากหลายประเภท นิทรรศการ กิจกรรมด้านการวาดภาพ และงานเขียน ฯลฯ
เพื่อในที่สุดแล้วพื้นที่แห่งนี้จะเป็น “Multi-Function” ที่รองรับกิจกรรมได้หลากหลาย และเป็น “Connection Hub” เชื่อมโยงทุกคนมาอยู่บนพื้นที่เดียวกัน
– ปรับตัวสะกดและชื่อจาก “ลิโด” เป็น “ลิโด้ : LIDO CONNECT” ตลอดระยะเวลา 50 ปีของโรงภาพยนตร์ลิโด เขียนว่า “ลิโด” มาตลอด แต่คนส่วนใหญ่อ่านว่า “ลิโด้” ดังนั้นโฉมใหม่ทาง “LOVEiS” จับเอาเรื่องโน้ตของไทยที่มีอยู่ 5 โน้ต มาเสริมให้คอนเซ็ปต์ของลิโด้ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จากพื้นเสียงในระนาบเดิมที่อ่านว่า “ลิ-โด” เติมไม้โทรลงไป เพื่อสื่อความหมายถึงการทำสิ่งที่มากกว่า
– คอนเซ็ปต์การออกแบบ คือ “back to original” เพื่อเคารพโรงภาพยนตร์เดิม และดึงเอาเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมยุค 70’s ซึ่งเป็นยุคที่โรงภาพยนตร์ลิโดสร้างขึ้น กลับมาใช้ เก็บโครงสร้างและองค์ประกอบการตกแต่งภายในของยุค 90’s ไว้ ผสมผสานกับดีไซน์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร
– “ลิโด” มีพื้นที่เกือบ 4,000 ตารางเมตร การปรับปรุง จะดัดแปลงให้น้อยที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับจัดกิจกรรมหมุนเวียน
โดยชั้น 1 มีพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร แบ่งเป็น 750 ตารางเมตร สำหรับเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ และอีก 750 ตารางเมตร เปิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางสาธารณะที่ให้ทุกคนได้มาปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งด้านหน้าของอาคาร จะเปิดให้มองเห็นจากภายนอกสู่ภายใน และสามารถเดินทะลุโครงการไปอีกด้านของอาคาร ที่เป็นถนนเส้นหลักภายในสยามสแควร์
ขณะที่ชั้น 2 มีขนาด 1,500 ตารางเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์ จำนวน 3 โรง โดยยังคงเก็บรักษาโรง 1 (มี 147 ที่นั่ง) และโรง 2 (มี 234 ที่นั่ง) เป็นโรงภาพยนตร์ต่อไป แต่หนังที่จะมาฉายที่นี่ ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด และต้องไม่ซ้ำกับที่สกาลา / ส่วนโรง 3 ปรับเป็นพื้นที่สำหรับ Multi-purpose เช่น แสดงคอนเสิร์ต ละครเวที หรือกิจกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ชั้น 2 มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร โดยจะแบ่งเป็นห้องขนาด 30 ตารางเมตร จำนวน 7 – 8 ยูนิต สำหรับให้ร้านค้ามาเช่า ซึ่งร้านที่มาเช่าพื้นที่ที่นี่ ต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ของโครงการ LIDO CONNECT และมีข้อตกลงรายได้ของร้านค้า 20% จะถูกนำไปใช้สำหรับงาน CSR
– ยังคงเก็บรักษา “อัตลักษณ์” บางอย่างของลิโดไว้ เช่น ไฟนีออน และป้ายแสดงโปรแกรมหนัง
– “LIDO CONNECT” เป็นครั้งแรกของค่าย “LOVEiS Entertainment” ที่ diversify ธุรกิจจากค่ายเพลง และจัดคอนเสิร์ต มายังธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่
– “LIDO CONNECT” จะเปิดให้บริการพฤษภาคม 2019