ต้องยอมรับว่าตอนนี้กระแสการตลาดได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “She-economy” เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมุมมองต่อผู้หญิงในแง่ของการทำงานและความรับผิดชอบนั้นเปลี่ยนไป เห็นได้จากการที่ผู้หญิงเริ่มหันมาเป็นผู้นำครอบครัวหรือผู้นำธุรกิจมากขึ้น มีกำลังการซื้อที่สูงและต่อเนื่องมากกว่าผู้ชาย จนเกิดพลังให้การผลักดันเศรษฐกิจขึ้น
โดยความน่าสนใจของ She-economy ในแง่การซื้อสินค้าพบว่า การซื้อสินค้าแบรนด์เนมประมาณ 85% เป็นผู้หญิง และประมาณ 22% ของผู้หญิงมีการซื้อสินค้าหนึ่งชิ้นต่อวัน
Lazada หนึ่งในผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซ จากสถิติพบว่าบนแพลตฟอร์มมีลูกค้ากลุ่มผู้หญิงโต 8% สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้หญิงที่สูงขึ้นด้วย โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงสุดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทบิวตี้ 36% รองลงมาคือสินค้าแฟร์ชัน 29% จึงไม่พลาดที่จะจับกระแสดังกล่าว เปิดตัว Lazada Woman’s Festival เป็น mega campaign จัดยิ่งใหญ่เทียบชั้น “11.11” ที่ถือเป็นวัน Shopping Day เพื่อเอาใจผู้หญิงโดยเฉพาะ โดยแคมเปญจะประกอบด้วย
Innovative Magic Mirror การนำเข้ากระจกช้อปปิ้งสุดฮิตจากประเทศจีนมาไว้ที่ไทยครั้งแรก โดยเทคโนโลยีของตัวกระจกจะทำหน้าที่เสมือนตู้ลองเสื้อผ้า เพียงแค่คุณยืนอยู่หน้ากระจก ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ให้อัตโนมัติและสามารถซื้อผ่านตู้ได้ทันที
See Now, Buy Now Livestream Fashion Show แสดงแฟชันโชว์จากดาราและมีการไลฟ์สตรีมผ่านแอปฯ หากชอบชุดไหนที่ดาราใส่สามารถซื้อได้เลย
Showcase Fashion and Beauty brands in the exhibition เน้นสนับสนุน SME กว่า 40 เจ้าที่อยู่บน LazInStyle สร้างพื้นที่แสดงสินค้า ขายแบบ O2O
นอกจากนี้ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Lazada ได้เปิดตัว LazInStyle ขายสินค้าที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งสินค้าบิวตี้ แฟชัน และเครื่องประดับ ในอนาคตจะรวมไปถึงสินค้าแต่งบ้าน ปัจจุบันโตแล้วกว่า 60% ร้านค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม SME ทั้งนี้เป้าหมายหลักคือการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงยุคใหม่อายุ 18 – 24 ปี แม้จะมีกำลังซื้อไม่มาก เฉลี่ยยอดสั่งสินค้า 500 บาทต่อครั้ง แต่ก็ถือเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ เป็นการสร้างความคุ้นเคยบนแพลตฟอร์ม เพื่อต่อยอดให้ฐานกลุ่มลูกค้าอายุน้อยยังคงใช้ Lazada ต่อไป
สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ ทาง Lazada จะมุ่งพัฒนาสร้างอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มทั้งหมด 3 ด้าน ดังนี้
Shoppertainment คือการรวมเอนเตอร์เทนเมนท์เข้ากับการช้อปปิ้ง สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า อาทิ แคมเปญ LazGame ที่ชวนผู้ใช้เล่นกิจกรรมรับส่วนลดในไลฟ์สตรีมมิ่ง กระตุ้นการจับจ่ายเพิ่มขึ้น สามารถรองรับคนได้สูงสุด 1 แสนคนต่อไลฟ์
Super E-Commerce Technology มีการนำเข้าเทคโนโลยีและอีโคซิสเต็ม จาก Alibaba ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง หรือระบบการชำระเงิน เพื่อยกระดับอีคอมเมิร์ซของ Lazada อย่างรวดเร็ว
Super E-Businesses Solution มีการเพิ่ม tools ช่วยให้ผู้ขายทั้งรายเล็กและรายใหญ่สามารถขายของได้ง่ายขึ้น ในกลุ่ม LazMall ผู้ขายสามารถตกแต่งร้านค้าในแพลตฟอร์มได้ และสามารถดู traffic data ในหลังร้านค้าได้ เช่น ลูกค้าชอบซื้ออะไร สินค้าตัวไหนซื้อบ่อย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซสร้างรายได้ประมาณ 118 พันล้านบาท คาดปีนี้ตลาดอาจเติบโตสูงถึง 139 พันล้านบาท และส่วนในปี 2020 มีแนวโน้มรายได้จะโตเพิ่มขึ้นอีก 15.3%
โดยอัตราการเติบโตดังกล่าวสะท้อนจากพฤติกรรมการการใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ประมาณ 45 ล้านคน
- ประมาณ 80% ของคนไทยมีสมาร์ทโฟน
- คนไทยใช้เวลากับอยู่กับมือถือนานถึง 2 ชม./วัน
- คนไทยราว 71% นิยมซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือ (สูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก) ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกคิดเป็น 55% เท่านั้น