ถั่วแระญี่ปุ่น หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Edamame” ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารว่างยอดนิยม และอุดมคุณค่าของคนญี่ปุ่น รวมทั้งคนรักสุขภาพทั่วโลก
ใครจะคิดว่า Edamame ที่ส่งไปขายญี่ปุ่น มีแหล่งผลิตอยู่ที่ประเทศไทยนี่เอง ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก คัดแยกเมล็ด ผ่านกระบวนการผลิตระดับมาตรฐานโลก บรรจุในแพ็คเก็จที่ได้รางวัลออกแบบระดับโลกเช่นกัน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เส้นทางอาหารจากจุดบริโภค กลับมาสู่แหล่งผลิต ว่าใครผลิต ผลิตที่ไหน เมื่อไหร่ มาจากแปลงไหน รู้จนถึงชื่อเกษตรกรผู้ปลูก
และที่สำคัญส่งออกไปขายญี่ปุ่น ตีตลาดยังดินแดนแม่ที่ถือเป็นต้นกำเนิด จนได้รับความนิยมภายใต้แบรนด์ “มินนะมาเมะ” และยังส่งออกไปหลายสิบประเทศทั่วโลก ที่ตื่นตัวกระแสอาหารคลีนอีกด้วย
Production Cycle ของ “มินนะมาเมะ” ยังสร้างคุณูปการให้กับชุมชน ด้วยระบบการทำการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเพาะปลูกป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงาน ด้วยการประกันราคารับซื้อ สร้างแรงจูงใจด้วย award สำหรับครอบครัวเกษตรกร ที่ตั้งใจดูแลผลผลิตของตัวเอง ให้ออกได้ตรงตามมาตรฐานโรงงานกำหนด รวมทั้งดูแลเกษตรกรในโครงการเหมือนครอบครัวเดียวกัน ฯลฯ
“มินนะมาเมะ” ยังไม่เพียงเป็นแบรนด์สร้างชื่อให้ประเทศ แต่ยังสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน สร้างอาชีพที่มั่นคง ให้ชาวนาชาวไร่ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
จาก “วงศ์วรรณ” สู่ “มินนะมาเมะ”
คุณศุภพงศ์ วงศ์วรรณ Research & Development Advisor บริษัท Lanna Agro Industry จำกัด เป็นหลานปู่ ของคุณสังวาล วงศ์วรรณ น้องชายของ “พ่อเลี้ยงเมืองแพร่” คุณณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ตระกูลใหญ่แห่งเมืองแพร่ และเป็นตระกูลคหบดีเก่าตระกูลหนึ่งของประเทศไทย
หลังจากหมดยุคสัมปทานป่าไม้ สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลง พ่อเลี้ยงในเมืองแพร่หรือผู้มีฐานะ จะหันเหมาทำธุรกิจไม้ และโรงบ่มใบยา รวมทั้งเป็นนักการเมือง คนในแพร่และจังหวัดใกล้เคียงเอง ส่วนใหญ่ก็หันมาปลูกใบยาสูบมากขึ้น ทำให้จังหวัดแพร่ เป็นต้นทางของโรงบ่ม เริ่มขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังอ.สอง และอ.เชียงแสน จ. เชียงราย
ตระกูลวงศ์วรรณ สายคหบดีเก่าทำธุรกิจป่าไม้ร่วมกับบริษัทอีสต์ เอเชียติ๊ก จำกัด ในรุ่นที่ 1 (แสน วงศ์วรรณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท เทพวงศ์ จำกัด ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบรายแรกของประเทศไทย) และมีชื่อเสียงอย่างมากในรุ่นที่ 2 (ณรงค์-สังวาล วงศ์วรรณ) จากการทำยาสูบ รวมถึงการขยายธุรกิจ ร่วมทุนต่างประเทศ จากฐานเดิมด้านเกษตรกรรมทั้งป่าไม้ และยาสูบ
คนในตระกูลวงศ์วรรณ แต่ละคนได้รับการวางพื้นฐานทางด้านการศึกษามาเป็นอย่างดี คุณณรงค์ก็จบเศรษฐศาสตร์การเกษตร จากเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา เดินในสายการเมือง เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี จึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากกว่าผู้น้องอย่างสังวาล วงศ์วรรณ ที่เลือกเดินสายธุรกิจ (เคยเป็นส.ส.มา 1 สมัย)
จากรุ่นที่ 2 ของเทพวงศ์ ที่มีณรงค์-สังวาล วงศ์วรรณ เป็นหลักกำลัง ก็เข้ารุ่น 3 ของตระกูล ซึ่งก็ถูกส่งไปต่างประเทศเกือบทุกคน กลับมาก็ขยายธุรกิจจนเติบโต จนไม่มีคนไหนในเมืองแพร่ไม่รู้จักตระกูลนี้ ขณะเดียวกันก็เข้าสู่ยุคสิ้นสุดตลาดใบยาไทย และหันเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรเต็มตัว ทั้งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเป้าหมายมุ่งไปสู่โลกของ Agro-Industry
“คุณพ่อผมเป็นสายทำธุรกิจ มากกว่าอยากจะเป็นส.ส. ว่าไปแล้วก็เป็นเกษตรกรทั้งตระกูล ตั้งแต่ปี 1990 ที่เราแตกไลน์จากใบยาสูบมาเป็น OEM นำเลมอนมาสกัดกลิ่นแปรรูปเกษตรส่งออก ฯลฯ จากที่มี Connection กับทางญี่ปุ่น และเริ่ม Pilot Project เกี่ยวกับถั่วแระญี่ปุ่น จดทะเบียนเป็นบริษัท ลานนาอุตสาหกรรม จำกัด ในปี 1993 ถึงวันนี้ โรงงาน Laco อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 40 ไร่ ก็เข้าสู่ปีที่ 25 แล้ว” คุณศุภพงศ์ กล่าว
“เราเป็น OEM มาตลอด จนถึงปี 2012 เรามี Own Brand ปี 2014 เราก็ทำแบรนด์ Edamame เป็นของตัวเองนั่นคือ มินนะมาเมะ หรือ ถั่วแระของทุกคน (มิน=คน, มาเมะ=ถั่วแระ) ปี 2016 เราได้รับรางวัลด้านแพคเกจจิ้ง CDA เชียงใหม่ ดีไซน์ อวอร์ด ดีมาร์ค ดีไซน์ Packaging on the world good design ปี 2017 ก็ได้รับรางวัล Red Dot Award ซึ่งถือเป็นรางวัลออสการ์ของนักดีไซน์ จากเยอรมัน”
คอนเซ็ปต์ Laco
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือ รวมทั้งความใส่ใจควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานเพื่อการส่งออก ขณะเดียวกันคนในประเทศเอง ก็น่าจะเข้าถึงผลผลิตคุณภาพ ไม่ใช่ซื้อของตกเกรดจากเมืองจีนเข้ามาขายตามห้างทั่วไป
“ทุกคนเกิดมา บางสิ่งบางอย่างต้องได้คุณภาพจริงๆ ดีจริงๆ เข้าถึงกันได้ทุกคน คิดอย่างนั้น เลยเกิดมินนะมาเมะขึ้นมา จากที่เคยปลูก ผลิต และส่งออกไปญี่ปุ่นแบบ OEM นี่จึงเป็นสินค้าที่พัฒนาพันธุ์เอง ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และสร้างแบรนด์อย่างจริงจังด้วยตัวเอง ถุงเล็ก 120 g ในราคาแค่ 20 บาท เพื่อให้เข้าถึงกันได้ทุกคน และเป็นอาหารสุขภาพสำหรับทุกคน”
ความนิยมของถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วเหลืองฝักสด (soybean) ของคนรักสุขภาพทั่วโลก เพราะเป็นของว่างแคลอรี่ต่ำ ไม่มีน้ำตาลกลูเทน (Gluten-free) และคอเลสเตอรอล แต่มีโปรตีน แคลเซียมและธาตุเหล็กสูง และสามารถเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี สำหรับผู้ที่งดเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะถูกแช่แข็งก่อนออกสู่ตลาด แต่ความอร่อยและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ยังอยู่เหมือนเดิม
จากพื้นฐานเกษตรกรรม ครอบครัวทำใบยาสูบแตกไลน์มาสู่การแปรรูปเกษตรส่งเสริม ตามหลักของ King’s Principle ที่เป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางเอาไว้ขณะเดียวกันโรงงาน Lanna Agroก็มี Company Mission อยู่ 4 ข้อคือ 1 บริการมาตรฐานสากล 2 ผลิตได้มาตรฐานตามระเบียบมาตรฐานแต่ละประเทศ 3 ส่งต่อตรงเวลา และ 4 เป็นองค์กรสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นและพนักงาน ซึ่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ถึงวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
“คุณพ่อคุณแม่บอกเสมอว่า ไม่ใช่เราเก่ง แต่เรามีทุกวันนี้คือ ลูกน้องทุกคน ถ้าอยู่ได้กินดี เราจะรู้สึกดี เค้าก็จะมีชีวิตที่ดีกว่า หน้าที่ของเราคือ ทำชีวิตของเค้าให้ดีขึ้น แต่เราปีเราจะมีการจัดเกรด 10 รางวัล 5 รางวัล เกษตรกรที่มีผลการปลูกดีเด่น ไปแต่ตัว สามี-ภรรยา 5 คู่ไปเที่ยวญี่ปุ่น สุดท้ายอยากให้เค๊าไปเดินซุเปอร์มาร์เก็ต แล้วเห็นสินค้าของเรา เป็นความภูมิใของเค้า เกษตรกรเป็นอาชีพที่น่าสงสาร เกิดมาติดหนี้อย่างเดียว มันใม่ควรจะเป็นอย่างนั้น”
“ผมไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการยั่งยืน ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลคนของเราให้ดีก่อน เราเกิดมาเจอกับผู้คนเยอะ อยู่กับท้องถิ่น เรามาเพื่อทำให้มันดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่สอนให้ใกล้ชิดกับชาวสวนชาวนา คลุกคลีกับไร่ เก็บถั่วกับคนรายวัน พนักงานเหมือนครอบครัว เราเชื่อในคอนเซ็ปต์ โตไปด้วยกัน มีอยู่จริง แต่อยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ เช่น กับซัพพลายเออร์ ของมีปัญหา ต้องแก้ ไม่ใช่เราไปหาเจ้าอื่น”
“ผมเชื่อว่าบาปกรรมมีจริง พระพุทธเจ้าบอก ถ้าเราไม่อยากให้มันเกิดก็อย่าไปทำ ไม่อยากได้อะไร ก็อย่าไปทำ เราถูกสอนว่า มี 2 สิ่งต้องตรงเวลานั่นคือ พนักงานกับแบงก์ อย่างอื่นพอประวิงเวลาได้ พนักงานเขาทำกับเราที่เดียว แต่เขาดูแลทั้งครอบครัว มีคนที่อยู่ข้างหลังเขา เรา heart made, made my heart อยู่กับชุมชน และแบ่งปันความยั่งยืนสิ่งที่เราทำ เป็นสินค้าคุณธรรม มี 3 ฝ่ายคือ โรงงาน ลูกน้อง และคู่ค้า คู่ค้าอยู่ได้ ลูกน้องและโรงงานก็อยู่ดี สำหรับผมอยู่แบบไม่ต้องอ้วน แค่ Healthy ก็พอ”
“นำเอาสิ่งของที่เกษตรกรผลิตได้มา advance มา apply ก็ต้องเริ่มจากไม่อิจฉา อย่าทำเหมือนเค้า ถ้าทำๆ ด้วยกัน มันไปได้ไกลกว่า ถ้าลอกเค้า ไปได้ไม่ไกล บางคนมีเงิน แต่ไม่มีคุณธรรม” คุณศุภพงศ์ กล่าว
โรงงาน Lanna Agro มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 7,500 ไร่ ในเขตภาคเหนือตอนบนอย่างเชียงใหม่ เชียงราย และภาคเหนือตอนล่างคือ อุทัยธานี ผลผลิต 1.2 หมื่นตันต่อปี มีพนักงาน 1,000 กว่าคน และเกษตรกรอีก 4,000 กว่าครอบครัว
สินค้าคุณธรรม
จากคุณประโยชน์ของ Edamame สามารถครีเอทไปสู่ของว่างทานเล่นได้หลากหลายชนิด ประกอบกับโรงงาน Lanna Agro ทำงานร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ คิดค้นหาเครื่องมือในขั้นตอนการผลิต และมีการวิจัยต่อยอดอยู่ตลอดเวลา ให้ความสำคัญกับเรื่อง R&D วิจัยและพัฒนา อินโนเวชั่น มีสเปเชียลลิสต์ดูในแต่ละส่วน
จนสามารถดีไซน์อาหารว่างออกมาได้หลายรูปแบบ จากพื้นฐานที่เคยปรับปรุงทดลองโปร์ดักส์ใหม่ๆ ส่งออกอยู่เสมอ ทั้งผลไม้เคลือบช็อกโกแลต ซึ่งวัตถุดิบก็มีทั้งกล้วย สตรอเบอรี่ มะม่วง ส่งไปขายที่รัสเชีย ข้าวซอย แกงกะหรี่ ส่งออกไปญี่ปุ่น
มาถึงปี 2016 มีการคิดค้นโปร์ดักส์เซ็ตซุป ด้วยคอนเซ็ปต์ขนาดของถ้วยกาแฟ สำหรับผู้ที่อยากดื่ม อยากอิ่ม ด้วยอาหารตอนเช้าในเวลาอันสั้นที่ไม่ใช่กาแฟ คนโสดที่ตื่นสายๆ จากก้อนเล็กๆ ละลายเร็ว ดื่มแทนกาแฟแต่อิ่มถึงเที่ยง ให้ชีวิตคนง่ายกว่าเดิม
มีทั้งซุปฝักทองผสมเมล็ดถั่ว (Edamame+Pumpkin) ที่อยู่ในตระกูล มินนะมาเมะ, ซุปเห็ด และซุปถั่ว ซึ่งเริ่มส่งออกไปยังฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และลาว รวมทั้ง UAE
ปี 2017 ออกโปรดักส์ Furukari ในตระกูลFruits Bar ผลไม้แห้งเคลือบช็อกโกแลต-นมฮอกไกโด มีทั้งรสทุเรียน สตอเบอรี่ ถั่วแระ มะม่วง ในรูปแบบแพ็คเกจแบบอิมพอร์ตถือเป็นโซลูชั่นหนึ่งของ Lanna Agroที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่อินโนเวชั่นใหม่ๆ ในอนาคต
คุณศุภพงศ์ มองว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด ที่มินนะมาเมะได้ไปขายในห้างที่ญี่ปุ่น ถือเป็นการบุกดินแดนแม่ ที่เป็นแหล่งผลิตและต้นกำเนิดถั่วแระญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ไทย
“สะใจ คือ มินนะมาเมะได้ไปขายในญี่ปุ่น เราเป็น OEM ถ้าวันใดวันหนึ่งค่าแรง ต้นทุนผลิตสูงขึ้น เราขายในตลาดโลก แข่งกับจีน เราจะทำอย่างไร ก็ต้องมี Own Brand มีตัวตนโปร์ดักส์อย่างบลูเบอร์รี่นำเข้าจากแคนาดา ขายถ้วยละ 40 บาท ทุเรียน มะพร้าว ไม่มีใครดีกว่า ทำได้ ก็คิดค้นไปเรื่อยๆ”
“อย่างทุเรียนมีให้กินทั้งปี เพราะแช่แข็ง กล้วยเคลือบช็อกโกแลต ก็ใช้ช็อกโกแลตคุณภาพดี ระดับเดียวกับไอศรีมยี่ห้อดัง รสชาติ ความรู้สึกจะใกล้เคียงกันถ้าได้ลองชิม คิดค้นการทำรสชาติวาซาบิ เป็นคนแรกของโลก ที่กัดเมล็ดแล้วมีรสออกมาจากเม็ดถั่ว ไต้หวันก็มี แต่รสชาติจะติดอยู่ที่เปลือก”
“Choco Fruiz เราก็ลอนช์อยู่ที่ Aeon ที่ญี่ปุ่นกล้วย มะม่วง เปิดตัวที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว”
กำลังผลิต Edamame ในไทย
ตลาด “Edamame” ในประเทศไทยมาจาก Lanna Agro ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตที่เป็นแหล่งใหญ่ ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก และก็มีส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาด้วยสำหรับ Lanna Agro
Product Category ของ Lanna Agro ภายใต้แบรนด์ มินนะมาเมะ แตกเป็น1 Edamame ธรรมดา, วาซาบิ, ซุปถั่วแระ, ซุปฟักทอง, ซุปเห็ด 2 Choco Fruiz แบ่งเป็นรสกล้วย, สตอเบอรี่, มะม่วง, บลูเบอรี่, ทุเรียน, มะพร้าว และ 3 โปร์ดักส์ใหม่ furukari สามารถสร้างยอดขายจาก 4% เป็น 200% ในปีเดียว
“โลกใบนี้ยอมรับได้ จากการที่เราเอาของที่ดีให้” คุณศุภพงศ์ กล่าว
ทุ่มทุนกับแพ็กเกจ
การที่ต้องสร้างคุณภาพให้อยู่คู่กับผู้บริโภคตลอดเวลา Lanna Agro ยอมทุ่มงบประมาณให้กับการออกแบบและคุณภาพของแพ็กเกจ เป็นถุง 2 ชั้น ด้านในบุด้วยฟอยล์ เพื่อเก็บไว้นาน แสงไม่เข้า สามารถนำเข้าสู่ไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยทั้งถุง และถ้วย ภายในบรรจุด้วยอาหารคลีน และหีบห่อภายนอกก็ไม่ทำลายสุขภาพ ได้รับรางวัลระดับโลกเรื่องการออกแบบ ในราคาที่คนเปิดกระเป๋าสตางค์ไม่ต้องคิด เพราะเจ้าของทำสินค้ามาเหมือนไว้กินเอง
“เราให้เกียรติผู้บริโภค คนที่มาซื้อของ”
เป้าหมายคุณศุภพงศ์ หรือ “คุณดุ๊ก” ในวัย 32 ปี ที่มีประสบการณ์เดินทางไปทั่วโลก เริ่มจากการเดินทางไปศึกษาที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 12 ปีในฐานะพี่ชายคนโตของน้องๆ อีก 2 คน ขณะที่โรงงาน Lanna Agro เพิ่งเริ่มต้น จนกลับเข้ามาสานต่อของธุรกิจครอบครัว ทำงานเป็นที่แรกและที่สุดท้ายในชีวิต เริ่มจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย งานด้าน R&D และงานด้านมาร์เก็ตติ้ง จนถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 7 ของชีวิตทำงาน และเข้าสู่ปีที่ 25 ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงาน
เขาต้องการที่จะสร้าง Lanna Agro ก้าวไปสู่การเป็น Home of Edamame สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด จากการศึกษาคุณสมบัติอาหารคลีนจะต้องมีนมเป็นส่วนประกอบหลัก ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้แพ้นมวัว เช่น นมแพะ หรือมองไปที่ถั่วเหลือง ที่เป็นตลาดเดียวกัน
มินนะมาเมะยังมีขายในอเมริกาใต้ บราซิล UAE รวมทั้งในฮอลแลนด์อีกด้วย
“เราเป็น OEM ให้กับตลาดเกือบทั่วโลก แต่แบรนด์ของเรายังไม่ได้ไปทั่วโลก เราเป็นเบอร์ 2 ที่ต้องให้เกียรติเบอร์กับ 1 นั่นทำให้เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จะไม่หยุดอยู่กับความสำเร็จ”
“แผนต่อไปของมินนะมาเมะ อยากเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในสินค้าที่ถือเป็น Supper Food อยากให้เป็นสิ่งที่คนซื้อไปฝากอีกคน ไปให้คนที่คุณรัก”
ตรวจสอบคุณภาพทุกขั้นตอน
“เราทำหมดทุกอย่างไม่ได้ สมดุลของโลกทุกวันนี้ ไม่ใช่คนจะทำทุกอย่างได้ พื้นที่เพาะปลูกในอุทัยธานี จากเดิมปลูกข้าวนาปรัง ก็หันมาปลูกถั่วแระ ภายใต้ระบบ Traceability ที่มีการวางแผนปลูก ให้ปุ๋ย ให้ยา เก็บเกี่ยว วางแผนเรียกเข้าโรงงาน จะต้องสแกนชื่อผู้ปลูก วันเดือนปี ปลูกมากี่ปี ได้อะไรบ้าง เข้าโรงงานวันที่เท่าไหร่”
“นี่คือคุณภาพที่ Lanna Agro ตั้งใจมอบให้ผู้บริโภค”