หลังจากโรคระบาดเข้ามาสั่นสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก กระทั่งแนวโน้มเริ่มดีขึ้น แน่นอนว่าภาคธุรกิจล้วนต้องการคำแนะนำเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและการตัดสินใจ ว่าจะใช้พิจารณาประกอบการลงทุนหรือเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจ ซึ่งประเด็นนี้ Krungthai Precious Plus ได้สร้างโอกาสศึกษามุมมองและแนวทางการทำธุรกิจจากเวที “Wealth Forum 2020 Chapter 2 NEXT is NOW : จับกระแสกลยุทธ์ สู่ความมั่งคั่งวิถีใหม่” จากการรวมตัวของเหล่า CEO คนสำคัญ ที่มาบอกเล่าแนวทางการทำธุรกิจหลังยุค COVID-19 รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการลงทุนจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ไปพร้อมกัน
โลกาภิวัตน์ใหม่กับการขับเคลื่อนโลก หลังยุค COVID-19
ประเด็นนี้ คุณลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต แสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วง Lockdown เพราะไทยพึ่งพิงธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ทั้งยังเกิดผลกระทบด้าน Supply Chain ไม่สามารถส่งออกสินค้าหรือนําเข้าวัตถุดิบได้ ทําให้ทั้ง 2 อุตสาหกรรมซึ่งเป็น GDP สำคัญของประเทศต้องชะงัก แต่เพราะการรับมืออย่างมีคุณภาพของประเทศไทย ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรกระบวนการพักชำระหนี้ต่าง ๆ นโยบายลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้คนทุกกลุ่มมีเงินสดอยู่ในมือได้นานที่สุด ถือเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ส่วนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พบว่าการบริโภคภายในประเทศมีตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาเป็นบวก จากเดิมที่เคยติดลบโดยเฉพาะการขายรถยนต์และการเกษตร ที่เห็นสัญญาณบวกติดต่อกัน 2 เดือนมาแล้ว เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นถึง 4 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย เรียกว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
“แม้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะกลับมาพลิกฟื้น แต่ไม่มีทางเหมือนเดิม ความท้าทายสำคัญอยู่ที่ภาครัฐ ในการรักษาสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนกลับมาจับจ่ายและกล้าลงทุน ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับตัวรับโจทย์ใหม่ เช่น โครงสร้างการท่องเที่ยวที่ไม่ควรต้องรอเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการเปลี่ยนสู่สังคมดิจิทัล ธุรกิจกับแพลตฟอร์มออนไลน์ การขับเคลื่อนสู่ National E-Payment รวมถึงการปรับตัวด้วยการ Upskill และ Reskill ด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองและกลยุทธ์ธุรกิจ จากผู้บริหาร 3 องค์กรชั้นนำ เพื่อการทำธุรกิจมุมมองใหม่ ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย, คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารกลุ่มบริษัท Sea Limited ที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งวิถีใหม่อีกด้วย
ธุรกิจต้องประคองตัว ภาครัฐต้องคุมโรค – ฟื้นเศรษฐกิจ
โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ให้ความเห็นว่า หากการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลา 1-2 ปี จะหมายความว่าประเทศไทยยังไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เต็มกำลัง ดังนั้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กควรรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้ดี ควรเก็บเงินสด ลดต้นทุน อุดหนุนเครือข่าย กระจายความเสี่ยงให้ดีที่สุด เนื่องจากไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดีแต่เพราะมีการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากจึงทำให้อาจต้องติดลบมากกว่าประเทศอื่น แม้ว่าหลังเศรษฐกิจดีขึ้นอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาจมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ไทย รวมถึงการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม อีก 1-2 ปีจากนี้ โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจคือการประคองตัวเอง ขณะที่ โจทย์ของรัฐบาลก็คือการควบคุมโรคระบาด การฟื้นเศรษฐกิจไทย การสร้างทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น การเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล
วิกฤตเต็มไปด้วย ‘โอกาส’ หากเรียนรู้และเข้าใจ
คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี วิเคราะห์ว่า สถานการณ์นี้เป็น Black Swan Event เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนแต่สร้างผลกระทบมหาศาล แต่ข้อดีคือทำให้ทุกคนตื่นตัวและต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอด โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ทำให้คนมองถึงความสำคัญของเงินสดเป็นหลัก ขณะที่ผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขภาพมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่แบรนด์ต้องปรับเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้า
“ในวิกฤตครั้งนี้ก็มีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีเข้ามาสร้างโอกาส เช่น การนำ Data เข้ามาทำความเข้าใจผู้บริโภคว่าเปลี่ยนไปอย่างไร เข้าถึงผู้คนได้อย่างไร รวมถึง Digital Commerce ที่ทำให้ทุกอุตสาหกรรมได้เข้าใจการใช้เทคโนโลยีว่าแตกต่างจากออฟไลน์มาก ต้องใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสม”
ภาคธนาคารมีบทบาทสำคัญด้านการบริหารจัดการและกระแสเงินสด ซึ่งไม่ใช่แค่การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ แต่ยังรวมถึงการนำ Data เข้ามาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการได้ด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็สามารถใช้ความเชี่ยวชาญของธนาคารเพื่อจัดทำโซลูชันต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ จากความร่วมมือต่าง ๆ ในอีโคซิสเต็มดังกล่าว
ไทยควร ‘เปลี่ยน 3 ประเด็น’ ช่วยประเทศเดินหน้า
ขณะที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย แสดงมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า COVID-19 ทำให้เราเห็นว่าโลกดิจิทัลกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รอดของทุกคนจากเดิมที่อาจเป็นเพียงอาหารเสริม ซึ่งสร้างความน่าสนใจด้านมิติ เพราะสร้างทั้งความลึกและความกว้าง โดยความลึกจะเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยอยู่แล้วและใช้เวลามากขึ้น แต่ผู้ใช้กลุ่มใหม่ก็จะความกว้าง ที่อาจสร้างพฤติกรรมใหม่ไม่กลับไปใช้งานแบบเก่าแล้ว เช่น โซเชียลมีเดีย, อีคอมเมิร์ซ, อีแบงก์กิ้ง เป็นต้น เทรนด์เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยควรเดินหน้าใน 3 ประเด็น คือ Digital Access, Digital Skill และ Funding เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิด COVID-19 อีกระลอก และเรื่องการเงิน ที่มีคนตกงานเยอะ เกิดปัญหาหนี้รายย่อยที่แก้ไขยาก ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงให้สถาบันการเงินบาดเจ็บจนไม่สามารถปล่อยกู้ได้มากและกระทบต่อ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้
“ท่ามกลางภาวะ New Abnormal ที่ยังไม่ปกติเช่นนี้ เราควรต้องเข้าใจคำว่า Risk Management ช่วงบริหารความเสี่ยง เพราะเป็นช่วงผันผวนจึงต้องกระจายความเสี่ยงให้ได้ และต้องเข้าใจ Agile ต้องปรับได้อย่างคล่องตัวเพื่อปรับใช้ในระยะกลาง ส่วนระยะยาวต้องใช้ Reimagine รู้จักคิดใหม่ หากโลกกลับไปไร้ COVID-19 แล้วจะเป็นอย่างไร”
เรียนรู้การลงทุน ยุคนี้ต้อง N-E-X-T จึงจะเหมาะ!
เรื่องนี้ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ GDP อาจติดลบถึง 8.8% และหากเกิดการระบาดรอบที่ 2 อาจทำให้เศรษฐกิจติดลบถึง 13% เนื่องจากไทยมีหนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่ภาคการธนาคารในอนาคตมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเหลือน้อย จึงควรวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมุมมองของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะนำคอนเซปต์ NEXT ซึ่งมีความหมายว่า
N = New Normal
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่ออนไลน์ ตั้งแต่การทํางาน การชอปปิ้ง หรือการรักษาสุขภาพ ทำให้ทุกอย่างกลายเป็น Virtual Lifestyle ประกอบกับมีรัฐบาลเป็นองค์กรเดียวที่มีกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเหมาะสมกับธุรกิจที่สามารถสร้าง New Opportunity เป็นทิศทางเดียวกับ New Normal ได้
E = Equity
หรือหุ้น ในมิติการลงทุนเรามีทั้งหุ้น พันธบัตร เงินฝาก ซึ่งในช่วงที่เกิดความผันผวนก็อยู่ในภาวะดอกเบี้ยอยู่ที่ 0% หากต้องการลงทุนในระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ จึงควรลงทุนหุ้นที่มีผลตอบแทนระยะยาว 10 ปี เกิน 10% เรียกว่าท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ไม่ควรทิ้งหุ้นเลย
X = External
การลงทุนควรมองไปต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากวิกฤตนี้ คือ โซเชียลมีเดีย และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งอยู่ในต่างประเทศทั้งนั้น ดังนั้นตลาดหุ้นต่างประเทศจึงมีศักยภาพค่อนข้างดีในปีนี้
T = Technology
เนื่องจากเทคโนโลยีมีบทบาทมากมายในชีวิตประจําวันของทุกคน ในฐานะนักธุรกิจจึงต้องบริการลูกค้าด้วยเทคโนโลยี และทําให้แน่ใจว่าลูกค้าจะบริการลูกค้าของเราด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน กลายเป็น Platform Business ขึ้นมา ดังนั้นการลงทุนในธุรกิจจึงต้องเลือกธุรกิจที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น
“หากจะลงทุนในหุ้น วันนี้เราควรลงทุนในหุ้นที่มีบริษัทขนาดใหญ่ มีงบดุลที่แข็งแกร่ง เพราะบริษัทเหล่านี้จะอยู่ในรอดในภาวะที่มีความผันผวนสูง ในภาวะที่สภาพคล่อง หรือ Cash is King โดยเฉพาะกลุ่ม Healthcare และ Technology ที่มีดีมานด์รองรับชัดเจน แต่ก็ไม่ควรลงทุนแค่หุ้นอย่างเดียว ควรมองถึงพันธบัตรที่มีคุณภาพสูงด้วย เป็นต้น แต่ทั้งหมดแล้ว การมีสภาพคล่องก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน”