การจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจนั้น ในแต่ละอุตสาหกรรมย่อมมีความยากง่ายต่างกันไป แต่ถ้าพูดถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามา Transform “ธนาคาร” ธุรกิจที่มีระบบ Core Banking ที่ใช้มานานและมีการเชื่อมโยงระบบกันเป็นใยแมงมุมต่อเนื่องหลายสิบปีนั้นก็ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ดังนั้นการได้เรียนรู้จากธนาคารที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศจึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับทุกๆ ธุรกิจในประเทศไทยก็ว่าได้
ล่าสุดกรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) จัดงานอีเวนท์ใหญ่อย่าง Krungsri Tech Day 2024 อีเวนท์ใหญ่ประจำปีขึ้น โดยนอกจากกรุงศรีจะเปิดแผนใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจให้ได้นำไปต่อยอดกันแล้ว ยังเป็นอีเวนท์ที่กรุงศรีและพาร์ตเนอร์เทคชั้นนำทั้ง 13 เจ้าได้มาแบ่งปันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คนในวงการธุรกิจรวมถึงคนทำงานสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ เป็นเวทีที่ทำให้ได้เห็นภาพอนาคตของอุตสาหกรรมการเงินที่จะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย รวมถึงเป็นโอกาสที่คนที่สนใจสายงานเทคโนโลยีได้อัพสกิลเพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองต่อไปได้ด้วย
อย่างที่คุณเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุในการเปิดงานว่างาน Krungsri Tech Day นอกจากจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพของกรุงศรีเองแล้วยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้
สำหรับไฮไลท์ของ Krungsri Tech Day 2024 ที่กรุงศรี จัดขึ้นที่ True Digital Park ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็คือการเปิดแผนพัฒนาเทคโนโลยีของกรุงศรี แผนซึ่งทำให้เห็นอนาคตของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารรวมถึงบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยแผนนี้มีอยู่ 4 แกนหลักนั่นก็คือ
1.Krungsri AI: เสริมพลังธุรกิจด้วยความสามารถของ AI
คุณตุลย์ โรจน์เสรี ผู้บริหารสายงานข้อมูลและการวิเคราะห์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่าแผนนี้คือการพัฒนาธุรกิจกรุงศรีให้กลายเป็น Banking in The Age of AI ด้วยการรวมพลัง “ทีมผู้เชี่ยวชาญ AI” จากทั่วทั้งองค์กร เพื่อร่วมกันพัฒนาและนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น
คุณตุลย์เน้นย้ำว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรต้องมีหลักคิดตั้งต้นด้วยปัญหาแล้วนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีมาตั้งต้นแล้วหาโจทย์มาตอบเทคโนโลยีเหล่านั้น เปรียบเหมือนกับการนำเกวียนไปไว้ข้างหน้าม้า สถานการณ์ที่ไม่สามารถจะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้
สำหรับการนำ AI มาใช้ในองค์กรคุณตุลย์ ระบุว่าจะเน้นไปที่ 3 เรื่องหลัก คือ “Predictive Engine & Optimization” คาดการณ์และการเพิ่มประสิทธิภาพในเนื้องาน เช่นการนำมาใช้คาดการณ์การเติมเงินใน ATM หรือการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ อีกส่วนคือการใช้ “Conversational AI” มาพัฒนา Chatbot ในการบริการลูกค้า
รวมไปถึงเทคโนโลยี Generative AI ที่แม้ยังไม่ได้ให้บริการลูกค้าแต่กรุงศรีนำไปใช้กับระบบ Knowledge Management ระบบให้พนักงานกรุงศรีค้นหาข้อมูลต่างๆ ขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว อย่างระบบ “Data ปุ๊ปปั๊ป” ระบบที่ช่วยให้พนักงานใช้ดึงข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรได้อย่างสะดวกด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดแบบเดิม
กุญแจสำคัญของ Krungsri AI ก็คือการ Embedded AI เข้าไปในตลอด Journey ของลูกค้าตั้งแต่การสร้าง Awareness ไปจนถึง Loyalty ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จำเป็นต้องมีทีม Krungsri AI อยู่เบื้องหลังที่จะช่วยแบ่งปันความรู้ สร้างทรัพยากรบุคคล วางกรอบการทำงานด้วยมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล พร้อมกับการวิจัยและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นธุรกิจ AIaaS หรือ AI as a Service ตามที่วางอนาคตไว้ด้วย
2.Krungsri Transformation: เปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต
คุณพชร วันรัตน์เศรษฐ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เล่าว่า กรุงศรีกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้โครงการ “Jupiter by Krungsri” โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างรากฐานใหม่ที่แข็งแกร่งและทันสมัย เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การเปลี่ยนแปลงนี้ครอบคลุม 4 มิติคือ
มิติแรกคือ “New Core Foundation” การสร้างรากฐานใหม่ พัฒนาระบบ Core Banking ใหม่โดยโครงการ ”Jupiter” จะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ปรับปรุงระบบ IT เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับกระบวนการทำงานทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้บริการและประสบการณ์ลูกค้าดียิ่งขึ้น การเชื่อมต่อและผสานระบบต่างๆ ที่มีอยู่เดิมทำได้ง่ายและคล่องตัวมากขึ้น
มิติที่ 2 คุณพชร บอกว่าคือ “Modernize Solutions” หรือการพัฒนาโซลูชันต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ทันสมัย มีความเสถียรมากขึ้นโดยนำเทคโนโลยีและโซลูชันใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วในการให้บริการ
มิติที่ 3 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซับซ้อน “Optimize and Efficient” คือการลดความซับซ้อนของระบบและกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทำให้มีทรัพยากรเหลือไปทำใน 2 มิติแรก รวมถึงเน้นการพัฒนาบริการที่สะดวก เข้าถึงง่าย และ ปลอดภัยสำหรับลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น
ส่วนมิติสุดท้ายคือ Green IT คือการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้เริ่มดำเนินการต่างๆ เช่น การย้ายศูนย์ข้อมูล (Data Center) ไปยังสถานที่ใหม่ที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีความพร้อมสำหรับอนาคตเป็นรากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Krungsri AI เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกดิจิทัลได้
- Embedded Finance: ตอบโจทย์ทางการเงินทุกมิติชีวิต
นอกเหนือจาก Krungsri AI แล้วอีกหนึ่งไฮไลท์ของแผนพัฒนาเทคโนโลยีของกรุงศรีครั้งนี้ก็คือ Embedded Finance หรือการนำบริการของธนาคารไปตอบสนองกับชีวิตประจำวันของผู้คนให้มากขึ้น นำไปสู่บริการ Bank as a Service (BaaS) ที่กรุงศรีจะเน้นมากขึ้น
สำหรับแผนนี้ คุณสายสุนีย์ หาญประเทืองศิลป์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและข้อมูล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เองก็เล่าว่า กรุงศรีมองเห็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรม Embedded Finance ที่กำลังมาแรงโดยในประเทศไทยมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตมากกว่า 60,000 ล้านบาทในปีนี้ และจะเพิ่มสู่หลัก 200,000 ล้านในอีก 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้กรุงศรีจึงมุ่งมั่นที่จะนำบริการทางการเงินเข้าไปผสมผสานในชีวิตประจำวันของลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในทุกมิติ
คุณสายสุนีย์เล่าต่อว่า BaaS คือบริการที่กรุงศรีพร้อมที่จะเปิด API เพื่อนำบริการต่างๆ ที่มีมากกว่า 1,000 รายการ ให้พันธมิตรทางธุรกิจนำไปต่อยอด สร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน คำขอสินเชื่อ หรือแม้แต่การซื้อประกันภัย ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเพราะเป็นบริการที่มีโครงสร้างพื้นฐานจากธนาคารกรุงศรี
คุณสายสุนีย์ ระบุว่า Embedded Finance เป็นความพยายามของกรุงศรีในการสร้าง Digital Ecosystem ที่แข็งแกร่ง โดยมองว่าความต้องการทางการเงินของลูกค้ามักเกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินโดยตรง เช่น การซื้อบ้าน การดูแลสุขภาพ หรือการท่องเที่ยว ธนาคารจึงมุ่งมั่นที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกช่วงเวลาเหล่านี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวกสบายที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม
4.Social Impact: สร้างคุณค่าสู่สังคมพัฒนาบุคลากรสายเทค
สำหรับแกน Social Impact สร้างคุณค่าสังคมของกรุงศรี คุณสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ก็แชร์ว่าในแกน Social Impact หรือการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม นั้นกรุงศรีมีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลให้กับตลาดแรงงานที่มีปัญหาเรื่องแรงงานสายเทคมีไม่เพียงพอกับความต้องการในขณะที่คนในบางสายงานมีความต้องการลดลง
คุณสยาม เล่าว่าเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้กรุงศรีมี 3 โปรแกรมใหญ่เพื่อพัฒนาบุคลากรสายเทคทั้งในและนอกองค์กร เช่น โครงการ Krungsri Universe Collaboration โดย Stellar by krungsri โครงการที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายแห่งอัพสกิลสายเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงและรับนักศึกษาเหล่านั้นมาฝึกงาน ทำงานจริงที่ธนาคารกรุงศรี ซึ่งคุณสยาม เล่าว่าผลงานของน้องๆ นิสิตเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานจริงมาแล้วด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีโครงการในการสร้างทรัพยากรบุคคลสายเทคอีกสองโครงการอย่าง “QA Academy” ของ nimble บริษัทเทคอาร์มผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้กับธนาคารกรุงศรี ที่ขยายโอกาสการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้กับบุคลากรนอกสายเทคที่สนใจให้สามารถข้ามสายงานสู่ตลาดแรงงานสายเทคสามารถสร้างทรัพยากรบุคคลทำงานสายเทคได้จริงแล้วหลายคน และเวลานี้ QA Academy กำลังเข้าสู่ Season ที่ 2 มีคนสนใจสมัคร 550 คนและผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการแล้ว 14 คน
รวมถึงโครงการใหม่อย่าง “Krungsri Upskill & TITAN Program” โครงการที่กรุงศรีร่วมกับ IBM ที่กำลังเปิดรับสมัครให้บุคลากรนอกสายงานเทคโนโลยีที่สนใจงานในสายนี้ได้เข้ามาร่วมโครงการ โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกงานและวันสุดสัปดาห์ให้เข้ามาทดลองต่อยอดทักษะที่ตลาดต้องการอย่างเช่น Professional Project Management รวมถึง Future Skill ต่างๆ นอกจากจะได้ทักษะแล้วยังได้สร้างคอนเนคชั่นกับผู้นำในอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยีหลายๆ คน เรียกว่าเป็นสนามทดลองความสนใจในงานสายใหม่ที่สุดท้ายแล้วจะมีโอกาสได้ร่วมงานจริงกับกรุงศรีได้ต่อไปในอนาคต โครงการที่นอกจากจะสร้างบุคลากรให้กรุงศรีเองแล้ว ยังเป็นการสร้างบุคลากรสายเทคในตลาดให้เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับใครที่สนใจก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแผนการพัฒนาเทคโนโลยีของธนาคารกรุงศรี ทั้ง 4 แกนหลัก ไม่ว่าจะเป็น Krungsri AI, Krungsri Transformation, Embedded Finance และ Social Impact ล้วนเป็นความพยายามในการเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างประสบการณ์ที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ พร้อมทั้งสร้างคุณค่าและผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง การเรียนรู้จากแผนการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นภาพอนาคตของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว