“CLMV” ตัวอักษรย่อ 4 ตัว ซึ่งมีที่มาจาก Cambodia, Loas, Myanmar และ Vietnam ซึ่งถ้าท่านที่คุ้นเคยกับบทความเกี่ยวกับ Startup หรือกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนในต่างประเทศบ่อยๆ อาจจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
ความสำคัญของ CLMV คือเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อัตราค่าจ้างแรงงานยังไม่แพงนัก ดังนั้น กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นประเทศที่มีคนสนใจเข้าไปลงทุนทางด้านการผลิตและการตลาดเป็นจำนวนมาก และสำหรับนักลงทุนไทยด้วยความที่ทั้ง 4 ประเทศอยู่ติดกับไทย จึงเหมาะมากที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนทางธุรกิจ
โดยเฉพาะ “เมียนมา” (Myanmar) ซึ่งมีศักยภาพในด้านแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีระดับค่าแรงที่ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุ น้ำมัน และที่ดินสำหรับทำการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในประเทศที่ไม่สูงนัก อีกทั้งยังมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย จึงนับได้ว่าเป็นประเทศอาเซียนในลำดับต้นๆ ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะก้าวไปลงทุนที่เมียนมา อาจจะต้องเตรียมพร้อมกันก่อนสักหน่อย เพื่อการลงทุนที่รอบคอบและมั่นคงที่สุด ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงได้สรุปใจความสำคัญและสาระความรู้ในงานสัมมนา Krungsri Business Talk ในหัวข้อ “สร้างโอกาส เปิดตลาดเมียนมา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรุงศรีจัดให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ความรู้ในการขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมียนมาในแง่มุมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เจาะลึกถึงโอกาสการค้าการลงทุน เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศนี้ ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนและตลาดแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาร่วมบรรยายและเสวนา
สำหรับท่านแรกที่จะมาช่วยติดอาวุธให้กับนักธุรกิจไทย ในการบุกตลาดเมียนมา คือ คุณ พรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรี เห็นประตูที่เปิดกว้าง ให้ผู้ประกอบการไทยไปคว้าโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่มากมายในเมียนมา เราพร้อมสนับสนุนด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร อีกทั้งมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งในประเทศและอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในเมียนมาด้วย”
ท่านต่อมา ได้แก่ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ สายงานวิจัย (Krungsri Research) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งชี้ว่า เมียนมาเป็นตลาดเปิดสำหรับผู้เล่นระดับกลาง ด้วยประชากรกว่า 52 ล้านคนที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเมียนมายังมีโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการ
“นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังได้เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ และสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ลดระยะเวลาการจัดตั้งบริษัทเหลือแค่ 2 อาทิตย์ จากเดิม 2 เดือน ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้นักธุรกิจไทยเข้าไปคว้าโอกาสในเมียนมาเป็นอย่างมาก”
ด้าน ผศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งแรกเลยที่จะต้องทำก่อนที่จะไปลงทุนที่เมียนมา ก็คือการศึกษาเรียนรู้ถึงความต้องการและพฤติกรรมของคนเมียนมาว่าคืออะไร และวัฒนธรรมอะไรที่มีผลต่อการใช้จ่ายของเขา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในทำธุรกิจในประเทศนี้ ยกตัวอย่างเช่น สีส้ม เป็นสีที่ใช้ในศาสนา ดังนั้น รถกระบะสีส้ม ที่ขายดีในประเทศไทย จะขายยากมากในเมียนมา
ขณะที่ ดร. ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือ V-Serve Group รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวชัดเจนเลยว่า โอกาสในเมียนมามีอยู่มากมาย ความไม่พร้อมของเมียนมา นั่นคือ ‘โอกาส’ ของเรา
“ผมประสบความสำเร็จในตลาดเมียนมา ธุรกิจของผมช่วยบริษัทโลจิสติกส์ต่างประเทศชั้นนำ ให้ก้าวข้ามผ่านระบบที่ไม่พร้อมของเมียนมาไปได้ นอกจากนี้ พันธมิตรท้องถิ่นมีความสำคัญ เป็นตัวกำหนดความล้มเหลวหรือความสำเร็จของธุรกิจ ดังนั้น ต้องเลือกให้ดี ผมแนะนำให้หาพันธมิตรผ่านทางธนาคาร เพราะความเสี่ยงของท่าน คือความเสี่ยงของธนาคาร”
ในแง่ทำเล หลายฝ่ายเองก็มองว่า เมียนมา คือประตูสู่ภูมิภาคเอเชียกลางและใต้ โดยจุดนี้ คุณ สุรวัฒน์ ปิ่นสุวรรณบุตร กรรมการผู้จัดการ Myanmar Alliance Venture เองก็กล่าวในประเด็นนี้เช่นกันว่า เมียนมาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้อาเซียนเป็นผืนเดียวกัน สามารถกระจายสินค้าไปยังจีน อินเดีย และบังคลาเทศได้ และเมียนมาเองยังมีความต้องการอีกมาก ศักยภาพการเติบโตสูง มีกำลังจ่าย ธุรกิจโรงพยาบาลน่าสนใจ เพราะลูกค้าต่างชาติอันดับหนึ่งของโรงพยาบาลชั้นนำในไทยคือ คนเมียนมา ที่มีกำลังจ่ายแต่ไม่สามารถหาสิ่งเหล่านี้ในประเทศของเค้าได้
ด้วยวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงไทยคือโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันโดย คุณศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ ผู้ก่อตั้ง กลุ่มธุรกิจอาหารแบรนด์ตำมั่ว ซึ่งกล่าวว่า โอกาสในเมียนมามี 2 อย่าง คือ หนึ่ง แรงงานราคาถูก แต่เราต้องช่วยฝึกสอนให้เขามีทักษะ สอง วัตถุดิบมีคุณภาพและราคาต่ำ หากเรามีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในไทยจะได้เปรียบ เพราะคนเมียนมาติดตามสื่อไทย
“หน้าที่ของเราคือ เข้าไปแนะนำให้เขารู้จัก เพราะเขาพร้อมจะทดลองสินค้าของเราอยู่แล้ว สำหรับธุรกิจร้านอาหาร คนเมียนมาทานอาหารรสชาติเดียวกับคนไทย เมนูที่ขายดีที่สุดในเมียนมาคือเมนูเดียวกับที่เมืองไทย ไม่ต้องปรับสูตร”
แล้วถ้าความรู้พร้อมศักยภาพพร้อมแต่ยังขาดเงินทุน คุณรมเกียรติ แก้วรัตนอัมพร ผู้จัดการสำนักผู้แทนธนาคารกรุงศรี ณ กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า กรุงศรี พร้อมสนับสนุนนักธุรกิจไทยมาค้าขายและลงทุนในเมียนมา ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร รวมไปถึงการให้ข้อมูลการค้าการลงทุนที่ถูกต้องอัพเดท ช่วยหาพันธมิตรธุรกิจที่ใช่ ช่วยแนะนำการเจรจาต่อรอง เช่น ค่าเช่าที่ในเมียนมาต้องจ่ายล่วงหน้าก่อน 1 ปี แต่สามารถเจรจาต่อรองให้เป็นรายเดือนหรือราย quarter ได้ รวมไปถึงช่วยสร้างเครือข่ายนักธุรกิจ ให้รู้ทั้ง know who และ know how อีกด้วย
นอกจากกรุงศรีจะมีความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินที่ครบวงจรในไทยแล้ว ยังได้จับมือกับหนึ่งในสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีเครือขายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” (MUFG) ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ผ่านบริการทางการเงินที่หลากหลาย และโอกาสทางธุรกิจให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การเป็นที่ปรึกษาในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และรวมถึงกิจกรรมสัมมนาเชิงความรู้ในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปด้วย
เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาที่ช่วยตอบโจทย์ในหลายๆ ด้านให้นักธุรกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งความรู้ คำแนะนำช่องทางในการลงทุนต่างๆ รวมทั้งแหล่งเงินทุนเพื่อมาซัพพอร์ตการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมอยู่ในการสัมมนาเดียว Krungsri Business Talk: สร้างโอกาส เปิดตลาดเมียนมา และถ้าคุณเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาดและไม่ต้องการพลาดการติดอาวุธทางความรู้ สามารถติดตามกิจกรรมดีๆ อีกมากมายได้ที่ www.krungsri.com/bank/th/KrungsriSME.html