ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกนั้นมีความผันผวนอย่างรวดเร็วซึ่งมาจากหลายปัจจัย จนทำให้หลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประเทศไทย แล้วนักธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร และโอกาสธุรกิจนั้นยังมีหรือไม่ จึงเป็นที่มาในการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่แห่งปี “Krungsri Business Forum 2016 : Thailand’s Opportunity” ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจโลก โอกาสธุรกิจไทย” เพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้าธุรกิจของธนาคาร และผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจสำหรับเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญทั้งจากภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มาร่วมสร้างความมั่นใจและชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของธุรกิจที่กำลังจะเติบโตรวมไปถึงแนะแนวการเปิดตลาดการค้าที่น่าสนใจ ท่ามกลางกลุ่มนักธุรกิจและผู้สนใจที่เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
“บทบาทของ ธปท.ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ”
“ท่ามกลางความผันผวนทางการเงินที่จะยังอยู่กับเราในปีนี้และปีหน้า ธปท. ใช้กรอบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น โดยให้ การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ ในกรณีที่ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรง จนอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความผันผวนในบางช่วงเวลา”
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง
“เดินหน้าประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
“อันดับแรกที่สำคัญคือการทำให้เศรษฐกิจเติบโตในเชิงปริมาณอย่างมีเสถียรภาพและมีคุณภาพ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อยกระดับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ และโครงการเมกะโปรเจ็คต่าง ๆ ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นดังกล่าวทำให้จีดีพี ไตรมาสโตร้อยละ 3.2 ถือว่าเป็นผลที่น่าพอใจ และหวังว่าเอกชนจะให้ความมั่นใจในการลงทุนโครงการโครงการต่าง ๆ แทนรัฐได้”
Mr. Chiwoong Lee (Ph.D.) เศรษฐกรอาวุโส มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ซิเคียวริตี้
“World Economic Outlook”
“นับตั้งแต่ 2014 การค้าโลกมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากประเทศที่ส่งออกเริ่มมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประเทศที่ตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องการค้าของตนเองเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันด้านแรงงาน การใช้ทรัพยากรลดลง ผลที่ตามมาคือ การค้าลดลง ซึ่งประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพราะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค”
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)
“มุมมองตลาดการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย”
“ทางด้านการส่งออกของไทยในปีนี้อาจยังต้องเหนื่อยอยู่ เนื่องจากเดิมตลาดหลักสินค้าอุตสาหกรรมของไทย คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เริ่มลดบทบาทความสำคัญลงไป แต่ก็ยังโชคดีที่มีตลาดจีน และประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ที่ประเทศไทยเริ่มมีการค้าขายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังมีอัตราการเติบโตสูง”
คุณตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
“AEC และ CLMV เริ่มมีความสำคัญ ทำให้ธนาคารกรุงศรีฯ เห็นว่า โอกาสในการลงทุนจึงอยู่ที่ตลาดใกล้ๆ บ้านเรา ทุกวันนี้จึงเห็นการเติบโตของธุรกรรมการลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น และในหลายประเทศก็เริ่มมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ช่องทางการลงทุนทางธุรกิจยังคงเปิดกว้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ดังนั้นนักลงทุนไทยต้องรีบฉวยโอกาสในช่วงนี้ ก่อนที่จะมีนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เข้าไป”
งานสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่กรุงศรีมุ่งเน้นการให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ กรุงศรีพร้อมเป็นทีมเวิร์คกับลูกค้าธุรกิจ ด้วยการมอบบริการทางการเงินที่ครบวงจรและสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจ