ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมประกาศความสำเร็จในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรกผ่านนวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger โดยมีพันธมิตรอย่าง บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ร่วมประกาศความสำเร็จด้วยการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในการซื้อ-ขายน้ำมันระหว่าง IRPC และคู่ค้าในต่างประเทศ
นายโนริอากิโกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีฯ นับเป็นธนาคารแรกของไทยที่นำเทคโนโลยี Blockchain’s Interledger มาใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจ โดยได้รับความไว้วางใจจาก IRPC ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมาใช้นวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger เพื่อโอนเงินระหว่างประเทศ การให้บริการดังกล่าวประสบความสำเร็จและสามารถโอนเงินสำเร็จได้ภายในหลักวินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 วันทำการ”
ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยให้มีการขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยนวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger ให้กับคู่ค้าธุรกิจรายอื่นๆ ไม่เพียงเท่านี้กรุงศรีฯ สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่าย มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเป็น 1 ใน 5 กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในฐานะที่กรุงศรีฯ เป็นบริษัทในเครือ ด้วยการพัฒนาความเชื่อมโยงของเครือข่ายที่มีอยู่กว่า 2,000 แห่งในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกในการส่งมอบบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับลูกค้าธุรกิจของกรุงศรีฯ
ด้าน IRPC นั้นได้นำเทคโนโลยี Krungsri Blockchain’s Interledger ซึ่งเป็นนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศของกรุงศรีฯ มาใช้ ซึ่งจะช่วยพลิกโฉมธุรกิจระหว่างประเทศอย่างมาก ช่วยให้ธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศรวดเร็วขึ้น สร้างความได้เปรียบในเวทีธุรกิจและสนับสนุนโอกาสในการเติบโตธุรกิจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังเชื่อมโยงการบริหารจัดการในด้านการขนส่งได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ชี้ว่า “ธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศที่รวดเร็วยังช่วยให้ลูกค้าที่เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ บริษัท พลังงานบัวสวรรค์ จำกัด สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลต่อการจัดการต้นทุน ช่วยให้รับสินค้าได้รวดเร็วขึ้นและสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ”
นอกจากนี้ IRPC ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ IRPC4.0 ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร ทุกขั้นตอนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด และการจัดซื้อจัดจ้างให้รวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในปี พ.ศ.2561ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนนโยบานภาครัฐในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ที่จะนำนวัตกรรมดังกล่าวออกสู่ภาคธุรกิจ และจะสามารถนำไปสู่การขยายผลการให้บริการด้วยนวัตกรรมดังกล่าวให้กับลูกค้าธุรกิจรายอื่นๆ ต่อไป
Copyright © MarketingOops.com