ปมเขย่าเคพีเอ็น เจาะเบื้องลึก ”ณพ ณรงค์เดช” ถูกฟ้อง และครอบครัวสั่งตัดขาด

  • 164
  •  
  •  
  •  
  •  

1kpn (1)

แถลงการณ์ของครอบครัว “ณรงค์เดช” ที่เป็นเชิงการตัดขาด “ณพ ณรงค์เดช” กำลังสร้างความสงสัยให้กับคนทั่วไป ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลที่สร้างอาณาจักร เคพีเอ็น กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งนี้

แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาในช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีเนื้อหาใจความว่า ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น เกี่ยวกับธุรกรรมของนายณพ ณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH)

หลังแถลงการณ์ออกมา บรรดาสื่อที่ได้รับข่าว ได้มีการตรวจเช็คที่มาของหนังสือดังกล่าวทันที เพราะต้องการยืนยันว่าแถลงการณ์นั้น ออกมาจากครอบครัวของกลุ่มณรงค์เดชจริงๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ความขัดแย้งของ “ณพ” กับคู่กรณีเกี่ยวกับธุรกรมของ วินด์ เอนเนอยี่ ได้สร้างความสับสนมาอย่างต่อเนื่อง

ทว่าจากการตรวจสอบพบว่า หนังสือถูกส่งมาจากบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ หรือเอเจนซี่แห่งหนึ่ง ทำให้เชื่อว่าแถลงการณ์เป็นของจริง จึงเริ่มเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ข่าว หลังจากนั้นก็ได้มีการเผยแพร่คอนเทนท์ไปตามสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างรวดเร็ว

2shutterstock_520368364

ปมเขย่าเคพีเอ็น

จุดเริ่มต้นปัญหาของ “ณพ” มาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท วินด์ เอนเนอยี่ จำกัด หรือ WEH ที่กำลังมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีคู่กรณีคือ “นพพร ศุภพิพัฒน์” ที่เป็นประธานของบริษัท วินด์ เอนเนอยี่ ในขณะนั้น

สำหรับกับ นพพร นั้น ในช่วงปี 2557 เขาถูกจัดเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 31 ใน 50 อันดับแรก โดยนิตยสารฟอร์บไทยแลนด์ ด้วยวัยในขณะนั้นเพียง 43 ปี โดยร่ำรวยมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า  2.60 หมื่นล้านบาท

นพพร ถือหุ้นใน วินด์ เอนเนอยี่ ผ่านบริษัทที่ชื่อว่า “รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ คอร์ปอเรชั่น” หรือ อาร์อีซี ในสัดส่วน 74.5% ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ ในฮ่องกง ที่ถือหุ้นอยู่ 24.5% ขณะที่บริษัท รีนิวเอเบิลฯ ถือหุ้นอยู่ใน วินด์ เอนเนอยี่ สัดส่วน 59.4%

แต่จากปัญหาความขัดแย้งในการทำธุรกิจที่มีนายทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง จนนำไปสู่ปัญหาข้อกฏหมายบางเรื่อง ทำให้นพพร ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ เขาจึงย้ายไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมา 3 แห่ง และจดทะเบียนในฮ่องกง เข้ามาถือหุ้นแทนตัวเองในบริษัท รีนิวเอเบิลฯ ที่ถือหุ้นใหญ่ในวินด์ เอนเนอยี่ฯ

บริษัททั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ จำกัด (เอ็นจีไอ) , บริษัท ไดนามิค ลิ้ง เวนเจอร์ ลิมิเต็ด (ดีแอลวี) และ บริษัท ซิมโฟนี พาร์ทเนอร์ ลิมิเต็ด (เอสพีแอล)

ต่อมาบริษัททั้ง 3 แห่งดังกล่าว ได้มีการทำธุรกรรมหรือการซื้อขายหุ้นในบริษัทวินด์ เอนเนอยี่ฯ กับนายณพ ณรงค์เดช ผ่านบริษัท 2 แห่ง คือ “เคพีเอ็นเอนเนอยี่โฮลดิ้ง” หรือ เคพีเอ็นอีเอช และบริษัท ฟุลเลอร์ตัน จำกัด ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน

ว่ากันว่า ทั้งสองบริษัทดังกล่าว นายนพมีอำนาจในการควบคุมบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ

kpn-01 (1)

เรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการไอซีซี

ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าว เริ่มขึ้นในปี 2558 โดยบริษัท 3 แห่ง ที่ทำธุรกรรมแทนนายนพพร คือ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี ได้ขายหุ้นประมาณ 99% ของหุ้นใน รีนิวเอเบิล เอนเนอยีฯ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเคพีเอ็น อีที) และถือหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ สัดส่วน 59.4% ในราคาตามสัญญาจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ต่อมาทั้งฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ได้ชำระค่าหุ้นงวดแรกเป็นเงิน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดเงินงวดแรก ที่ต้องชำระตามสัญญาจำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกเหนือจากเงินยอดเงินงวดแรกส่วนที่เหลือจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังมีเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวนประมาณ 525 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะต้องชำระเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ สัญญาขายหุ้นจึงไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับผลประกอบการใดๆ ข้อกำหนดในเรื่องนี้ ระบุไว้ในสัญญาขายหุ้นสองฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

เมื่อฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ไม่ชำระค่าหุ้นงวดแรกให้ครบถ้วน เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี จึงได้ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการของไอซีซี

ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี ได้เรียกร้องให้มีคำชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1. ให้ยกเลิกการขายหุ้นระหว่างเอสพีแอลกับฟูลเลอร์ตัน หรือ 2. ให้มีการชำระเงินที่ต้องชำระเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย

ต่อมาในเดือนกันยายน 2560 คณะอนุญาโตตุลาการของไอซีซี ได้สั่งให้ เคพีเอ็น อีเอช และ ฟูลเลอร์ตัน ชำระเงินจำนวนประมาณ 113 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับยอดเงินงวดแรก ส่วนที่เหลือของราคาตามสัญญาและดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าว และได้สั่งมีคำสั่งห้ามการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ในสัดส่วน 59.4% ซึ่งเคพีเอ็น อีที เป็นเจ้าของ จนกว่าจนกว่าจะได้มีการชำระเงินตามสัญญา

หลังมีคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการ ปรากฏว่าทั้งฝ่ายของนายนพพร และนายณพ ต่างบอกว่าตนเองเป็นฝ่าย “ชนะคดี” โดยทางนายณพ บอกว่า อนุญาโตตุลาการ ไม่ได้สั่งให้ยกเลิกการขายหุ้นตามที่ทั้ง 3 บริษัทของนายนพพรยื่นฟ้อง  เพียงแต่ให้จ่ายเงินครบตามจำนวน นายณพ ยังกล่าวอ้างด้วยว่า

นายนพพร ต้องการซื้อหุ้นคืน หลังจากที่มีการขายหุ้นออกมาแล้วผลประกอบการของบริษัท วินด์ เอนเนอยี่ฯ ดีขึ้นมาก

ขณะที่ฝ่ายของนายนพพร ก็กล่าวอ้างว่า อนุญาโตตุลาการ ได้พิจารณาตามคำขอของตนเอง ด้วยการสั่งให้นายณพ จ่ายเงินที่ติดค้างไว้ให้ครบ พร้อมทั้งห้ามโอนหุ้นไปยังบุคคลที่สาม

โอนหุ้นให้บุคคลที่ 3

ทว่าแม้คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งให้นายณพ จ่ายเงินคืนให้กับ 3 บริษัทดังกล่าว แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการดำเนินการเรื่องการจ่ายเงินและยังตรวจสอบพบว่า ฟูลเลอร์ตัน และเคพีเอ็น อีเอช ได้เปิดเผยถึง “เคพีเอ็นอีที”(เดิมชื่อ รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ฯ) ว่าได้โอนหุ้น 59.4% ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ที่เคพีเอ็น อีที เป็นเจ้าของไปยังบุคคลที่ 3 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ซึ่งฟูลเลอร์ตันและเคพีเอ็น อีเอช ปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อผู้รับโอน

ต่อมาทั้ง เอสพีแอล เอ็นจีไอ และดีแอลวี หรือ 3 บริษัทของนายนพพร ได้รับรู้ถึงตัวของผู้รับโอนหุ้นขั้นต้นของหุ้น 59.4% ของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ ว่าเป็น “นายเกษม ณรงค์เดช”  ผู้ซึ่งเป็นบิดาของนายณพ ณรงค์เดช

และไม่กี่วันก่อนมีการโอนหุ้นทั้งหมด ยังพบว่ากรรมการจำนวน 5 คนของ เคพีเอ็น อีที ที่ประกอบด้วยนายณพ ณรงค์เดช นายธันว์ เหรียญสุวรรณ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนายอมาน ลาคานี ได้ลาออก และได้ถูกแทนที่โดยกรรมการใหม่จำนวน 3 คน ซึ่ง 2 คนมาจากข้าราชการทหารเกษียณอายุ คือ นายวรนิต ไชยหาญ และนายไพร บัวหลวง และทนายความนายสันติ ปิยะทัต ซึ่งกรรมการทั้ง 3 คนดังกล่าว เป็นผู้โอนหุ้น 59.4% ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ

ทั้ง 3 บริษัท ยังกล่าวอ้างด้วยว่า

“วินด์ เอนเนอร์ยี่ ได้ปกปิดการเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าของหุ้น และได้งดการยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 จนกระทั่งปัจจุบัน บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ที่ได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เคพีเอ็น อีที ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 59.4 ทั้งๆ ที่เคพีเอ็น อีที ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว”

“ข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของวินด์ เอนเนอร์ยี่ (แบบ บอจ.5) ของกระทรวงพาณิชย์ พฤติกรรมของวินด์ เอนเนอร์ยี่ นั้นเป็นการละเมิดต่อกฎหมายไทย ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องยื่นเอกสารดังกล่าว พร้อมกับงบการเงินทุกปีซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย”

ฟ้อง WEH

ทั้ง เอสพีแอล เอ็นจีไอ และ ดีแอลวี จึงได้ฟ้องกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ว่าได้สมคบกับเคพีเอ็น อีที เคพีเอ็น อีเอช และนายเกษม ณรงค์เดช ในการโกงเจ้าหนี้ คือ 1.นายณพ ณรงค์เดช (กระทำการในฐานะรองประธานกรรมการของวินด์ เอนเนอร์ยี่) 2.นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์, 3.นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ (กระทำการในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวินด์ เอนเนอร์ยี่) 4.นายธันว์ เหรียญสุวรรณ (กระทำการในฐานะประธานเจ้าหน้าที่การเงินของวินด์ เอนเนอร์ยี่) และ 5.นายอมาน ลาคานี (กระทำการในฐานะหัวหน้าฝ่ายการเงินของวินด์ เอนเนอร์ยี่)

และทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการยื่นฟ้องกลุ่มณรงค์เดช พร้อมพวกรวม 13 ราย ต่อศาลแขวงพระนครใต้ ในข้อหาโกงเจ้าหนี้ โดยศาลฯ นัดให้มีการไกล่เกลี่ยวันที่ 20 เมษายน 2561 แต่ปรากฏว่านายณพ และกลุ่มที่ถูกฟ้อง ไม่มีใครมาแม้ ขณะที่ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ศาลฯ จะมีการไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าว

4 tn-kpn-nop-narongdej

ขณะที่ล่าสุด ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2561 นายณพ ณรงค์เดช ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ได้มีการนัดสื่อมวลชนจำนวน 5 ฉบับเข้าไปสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับปัญหาทั้งหมดและการถูกฟ้องร้อง ว่าตนเองไม่มีพฤติกรรมการโกง

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นนายณพอ้างว่า มาจากผู้ถือหุ้นเดิมมีปัญทางด้านกฏหมาย จนต้องไปอยู่ต่างประเทศ และไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ทำให้ต้องขายหุ้นออกมา ต่อมามีการซื้อหุ้นคืนเมื่อกิจการเริ่มดีขึ้น ทั้งที่ขั้นตอนการซื้อขายหุ้นนั้นจบไปแล้ว

สำหรับวิน เอนเนอยี่ฯ อยู่ในระหว่างเตรียมตัวยื่นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จากปัญหาของผู้ถือหุ้นเดิมและนายณพ ณรงค์เดช ทำให้ยังไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยบริษัทแห่งนี้ มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่

ส่วนนายธันว์ เหรียญสุวรรณ ผู้บริหารระดับสูงของวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ (ที่ถูกฟ้องร้องด้วย) ในอดีตเคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลยุทธ์ลูกค้าบุคคลและพัฒนาลูกค้าธุรกิจ ของธนาคารไทยพาณิชย์

5shutterstock_132501125

แถลงการณ์เขย่าวงการ

ย้อนกลับมาที่แถลงการณ์ของกลุ่มณรงค์เดช หลังจากมีหนังสือออกมา ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทางกลุ่มณรงค์เดชต้องการตัดขาดนายณพ จริงๆ หรือไม่ หรือมีนัยสำคัญอย่างไร กับการที่ศาลกำลังนัดไต่สวนคดีในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ หรือว่าที่ผ่านมากลุ่มณรงค์เดช ไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดจริงๆ

ทั้งที่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 2 -3 ปีแล้ว

บริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KPN) ก่อตั้งขึ้นในปี 2522 ภายใต้การบริหารของกลุ่มณรงค์เดช เริ่มต้นทำธุรกิจจากการเป็นตัวแทนขายรถจักรยานยนต์ามาฮ่า และรถยนต์นิสสัน

ส่วนปัจจุบันมีการแบ่งหมดธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม คือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ถือเป็นธุรกิจหลักของเคพีเอ็น ส่วนใหญ่จะทำคอนโดมิเนียม 2.ธุรกิจด้านพลังงาน เช่น บริษัท พลังงานลม จำกัด หรือวินด์ เอนเนอยี่ฯ 3.ธุรกิจด้านการศึกษา เช่น การสอนดนตรี การสอนภาษาจีน 4.ธุรกิจด้าน Entertainment  เช่น การประกวดร้องเพลง KPN Award และ 5.ธุรกิจด้าน Investment เช่น โรงพยาบาลเคพีเอ็น

6 31491847_437033246726522_4819415324333965312_n

แถลงการณ์ครอบครัวณรงค์เดช

กรณี ณพ ณรงค์เดช

เนื่องจากปัจจุบัน ปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น

นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นใน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดชก็ให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม

แต่หลังจากที่ นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพ กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียง ของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพ จะให้ นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการฯของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียด หรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของ WEH จนนายกรณ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของนายณพ ณรงค์เดชนั้น ครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง

จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดช ไปใช้ โดยไม่ปรากฏว่า มีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช อันได้แก่ ดร.เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้น โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด


  • 164
  •  
  •  
  •  
  •