สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ ที่ไม่เพียงผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาเท่านั้น ยังเน้นให้มีความสามารถในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และตอบโจทย์ยุค 4.0 ที่มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า ภายในปี 2562 จะสามารถผลิตบุคลากรกว่า 120 คน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรูปแบบของการรักษาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น ทาง สจล.จึงต้องการสร้างแพทย์ที่สามารถติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการ มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์และมีทักษะด้านวิจัย เพื่อให้ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
รวมถึงลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับสูงจากต่างประเทศ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศสูง ซึ่งจากข้อมูลของ SCB Economic Intelligence Center ระบุว่า ในปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกด้านดังกล่าวเพียง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
“หลักสูตรของที่นี้จะให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้มีความสามารถในการทำวิจัยที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ นอกจากนี้หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่น และมีการจัดสรรเวลาสำหรับวิชาเลือกมากขึ้น โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาของคณะหรือสถาบันอื่นตามความสนใจ และสอดคล้องกับงานวิจัยของตนเอง ซึ่งถือเป็นการสร้างแพทย์พันธุ์ใหม่เหมาะกับยุค 4.0”
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต สจล. ได้รับการออกแบบเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเป็นแพทย์ , มีทักษะในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะด้านสังคม และการดำเนินชีวิต รวมถึงทักษะในการเรียนรู้และนวัตกรรม ตลอดจนทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี , มีความสามารถในด้านวิจัย และมีความเป็นสากล โดยสจล.ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสิริธร และโรงพยาบาลในเครือข่ายของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในการให้นักศึกษามีประสบการณ์ทางคลีนิกตั้งแต่ในระยะแรกจนถึงตลอดหลักสูตร
นอกจากนี้ เพื่อให้สมกับการเป็นการสร้างหมอยุค 4.0 รูปแบบการสอน จึงได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย อาทิ ระบบจำลองฝึกปฏิบัติการกายวิภาค 3 มิติแบบจอสัมผัส ที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนในกายวิภาคศาสตร์ , หุ่นฝึกการฟังเสียงในร่ากายผู้ใหญ่ SAM II ใช้สำหรับฟังเสียงในร่างกายในภาวะปกติและผิดปกติ ฯลฯ
“ตอนนี้ทุกโรงเรียนการแพทย์ผลิตบุคลากรมาในทิศทางเดียว คือ เน้นการรักษา จริง ๆ ตอนนี้แต่ละแห่งควรมีเซ็กเม้นท์ที่ชัดเจน ของเราต้องการสร้างแพทย์ที่เป็นนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเหมาะกับเทรนด์ของโลกในอนาคต” ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ สจล.กล่าว
ทั้งนี้ หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต สจล. จะมีการเรียนการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษและดำเนินการแบบหลักสูตรนานาชาติ คือ มีอาจารย์และนักศึกษาส่วนหนึ่งที่เป็นคนต่างชาติ ระยะเวลาศึกษา 6 ปี โดยมีกำหนดเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 50 คน ประจำปีการศึกษา 2561 ตั้งแต่วันที่ 5-26 มีนาคมนี้ และคาดว่าภายในปี 2562 จะมีบุคลากรกว่า 120 คน