เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งในหลายๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระปรีชาสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ “ไอที”
โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวแรกของพระองค์ได้แก่ “Macintosh Plus” คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เครื่องแรกที่ทรงใช้งาน
ตามข้อมูลที่ปรากฏ ม.ล.อัศนี ปราโมช คือผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งหากนับอายุโดยคร่าวของ Macintosh Plus ก็จะพบว่ามีอายุนับจากการเปิดตัวครั้งแรกในปี 1986 ถึง 30 ปีแล้ว ส่วนสาเหตุที่เลือก Macintosh Plus นั่นเป็นเพราะสามารถเก็บและพิมพ์โน้ตเพลงได้ง่ายดาย การเรียนรู้และใช้งานไม่ยาก แถมยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสำหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย
Macintosh Plus ในยุคนั้นถูกมองว่าเป็นผู้พลิกวงการพิมพ์ และออกแบบ โดยราคาจำหน่ายที่สูงมากในขณะนั้น อยู่ที่ราวๆ 2,495 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 74,850 บาท ทำให้เครื่องไม่แพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป
httpv://youtu.be/8bepzUM1x3w
และจากการรวบรวมข้อมูลเราพบว่าพระองค์ทรงสร้างสรรค์งานต่างๆ มากมายผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนี้
-
ทรงคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง
เช่น ทรงแก้โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงามเพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ทรงศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัว เทวนาครี หรือภาษา แขกบนจอภาพ โดยทรงเริ่มศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2530
“เข้าใจว่าประดิษฐ์เหมือนกับที่ทำตัวเขียนอะไรต่างๆ อย่างของ PC นี้ แต่ก่อนท่านจะใช้ CU WRITER แล้วก็เอามาทำเขียนทีละตัวๆ เขียนภาษาสันสกฤตซึ่งทำเอง หรือว่าตัวเขียนภาษาไทยนี่ก็ทำเอง เพราะรู้สึกว่าท่านไม่โปรดมากที่เค้าประดิษฐ์ตัวเขียนกันใหม่ๆ ตัวเขียนที่ขีดเส้นฉวัดเฉวียนอะไรนี่ กริ้วทุกที ท่านก็จะเขียนของท่านเอง แต่ว่าที่ประดิษฐ์คำนั้น ท่านก็ใช้ software ของเดิม เพราะฉะนั้น ท่านเคยรับสั่งเมื่อมีการเฉลิมพระเกียรติอะไรกันทีหนึ่ง ว่าจะเอา font ของท่านเผยแพร่ ท่านจึงบอกว่า ความจริงแล้วมันไม่ถูก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของคนอื่น ของเราเป็นแค่เอามาเขียน แต่ว่าตัวโปรแกรมเก่าเป็นของคนอื่น ท่านไม่ได้ทำมาเองตั้งแต่ต้น มันไม่ถูก แต่ว่าที่เห็นท่านเขียนเองเป็นตัวสันสกฤต (หมายถึงอักษรเทวนาครี) ไม่ได้ซื้อมาสำเร็จรูปแบบที่ว่าใครเขาทำเอาไว้แล้ว” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชดำรัส ต่อศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
-
ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบทพระราชนิพนธ์และประพันธ์บทเพลง
บทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ก็ทรงใช้ในการคำนวณสภาพภูมิประเภทและภูมิอากาศอินเดียผ่านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการประพันธ์คำร้องเพลงต่างๆ ก็ทรงพิมพ์ด้วยพระองค์เอง
“อย่างเขียนโน้ตดนตรีนี่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีนะ เขียนขึ้นมาเอง ใช้โปรแกรมธรรมดา คือของโบราณนั่นเอง เสร็จแล้วก็มาเขียน โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีสำเร็จรูปมาเขียนโน้ตเหมือนคนอื่น นั่งเขียนเอง…”
“…อย่างที่ทรงเพลงใหม่ ก็เห็นพิมพ์ในนั้น ดูเหมือนจะมี Word processor แต่ว่าใช้เขียน อย่างเขียนโน้ตเพลงรัก เพลงเมนูไข่ ที่เขียนใหม่ ก็ใช้เครื่องนั้น หรือพิมพ์หนังสืออะไร จะมีเรื่องมีราวอะไร ท่านก็ใช้พิมพ์ พิมพ์เองทั้งนั้น ไม่ต้องอาศัยเสมียนที่ไหน แล้วก็เขียนเรื่องต่างๆ อย่างพระราชดำรัสตอนวันที่ 4 ธันวา ที่คนมาเฝ้าฯ พอเสร็จแล้ว ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านแปลของท่านเอง แล้วพิมพ์ลงในนั้น พิมพ์ไว้ เวลานี้ท่านแต่ง auto-biography อยู่ แต่งถึงไหนก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นของท่านเลย ท่านเขียนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์” พระราชดำรัสส่วนหนึ่งของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (คลิกอ่านเพิ่มเติม)
-
ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์
ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่ออวยพรพสกนิกรชาวไทยส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรกส่งถึงคนไทยในปีพ.ศ. 2530 โดยในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงปรุแถบเทเล็กซ์หรือโทรพิมพ์ ทำให้เห็นข้อความตามท้าย ส.ค.ส. ว่า “กส. 9 ปรุ” ซึ่งเป็นรหัสเรียกขานวิทยุแทนพระองค์เป็นผู้ปรุขึ้น ส่วนตัวเลขที่ตามหลังคือวันที่และเวลาที่ทรงสร้างในรูปแบบ วว ชช นน ดด ปปปป. ใน ส.ค.ส. พระราชทานฉบับแรกจึงหมายถึงเวลา 14.30 น. วันที่ 31 ธันวาคม 2529
ต่อมา ส.ค.ส. ฉบับแรกที่ในหลวงทรงสร้างด้วยคอมพิวเตอร์คือ ฉบับปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเริ่มมีลวดลายและลักษณะตัวพิมพ์มากขึ้น ข้อความด้านท้ายจึงเปลี่ยนเป็น ก.ส. 9 ปรุง เพื่อแทนการปรุงจากคอมพิวเตอร์ และในฉบับต่อๆ มาก็เริ่มมีลวดลายเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดาว ใบหน้า เครื่องดนตรี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากฝีพระหัตถ์ที่ถ่ายทอดผ่านคอมพิวเตอร์
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.t5surat.ac.th/homepagecontest/link7.htm
https://www.beartai.com/article/tech-article/126714
http://www.manager.co.th/cyberbiz/viewNews.aspx?NewsID=9530000171295