ไม่ว่าจะเขียน “KHIANG” หรือ “เขียง” ก็ช่วยการันตีความอร่อยจากสารพัดเมนูที่ออกจากครัวของร้านได้เช่นเดียวกัน เพราะหลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 1 ปี วันนี้ ร้านเขียง บาย ตำมั่ว ก็สามารถ “ติดแบรนด์” และขยายความสำเร็จไปแล้วกว่า 60 สาขา
ท่ามกลางสมรภูมิ “Street Food” ซึ่งกลายเป็นเทรนด์อาหารครองใจผู้บริโภค เกิดสีสัน เกิดความหลากหลาย และแข่งขันกันอย่างดุเดือด อะไรคือไม้เด็ดที่จะผลักดันให้ “เขียง” ก้าวนำคู่แข่ง และชนะศึกอาหารกินด่วน กินง่ายในยุคนี้ได้
“อาหารไทย 4 เมนูหลักที่คนไทยชอบกิน คือ ส้มตำ ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารตามสั่ง แต่ทั้ง 4 ประเภทอาหารไม่มีการทำแบรนด์ เมื่อพูดถึงก็นึกไม่ออกว่ามีแบรนด์ใดบ้าง สิ่งสำคัญเป็นเพราะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ โลเคชั่น รวมถึงไม่ได้สร้างแบรนด์อย่างชัดเจน”
คุณศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจใหม่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นด้วยการเล่าพฤติกรรมการกินของคนไทย และเล่าถึงเส้นทางของแบรนด์เขียง ว่า…
ปั้น “อาหารตามสั่ง” ให้เป็น Stand Alone เสิร์ฟ “แมส – พรีเมี่ยมแมส”
คุณศิรุวัฒน์ อธิบายว่า เมื่อพูดถึงสาขาแบบ Stand Alone เรามีคำถามว่าทำไมอาหารตามสั่ง อาหารไทย จะอยู่ในรูปแบบนั้นไม่ได้ เมื่อผู้บริโภคทั้งกลุ่มแมส กลุ่มพรีเมี่ยมแมส ก็กินและชอบอาหารไทยอยู่แล้ว นั่นจึงกลายเป็นโจทย์ของร้านเขียง
“คำว่า เขียง ของชื่อร้านมีความหมายที่เราอยากสื่อถึงความเป็นไทย แต่ไม่เคยถูกเอ่ยในเมนูอาหารมาก่อน ซึ่ง เขียง ก็มีความหมายที่ดี เพราะเป็นมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหาร อาหารจะออกมาดีได้ต้องเกิดจากการจัดเตรียมที่ดีซึ่งเริ่มต้นจากเขียง นั่นจึงกลายเป็นสตอรี่ที่เราหยิบมาสร้างแบรนด์และสื่อสารออกไป”
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าร้านเขียง บาย ตำมั่ว เพิ่งเปิดให้บริการเพียง 1 ปี แต่สามารถขยายสาขาไปได้แล้ว 60 สาขา แม้จะเป็นร้านอาหารในเครือธุรกิจอาหารเชนใหญ่อย่าง “ZEN” นั่นยิ่งทำให้เป้าหมายของร้านเขียง ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ธุรกิจอื่นในเชนเดียวกัน อาทิ ขยายให้ได้อีก 150 สาขา ภายในปี 2563 และเป็นแบรนด์อาหารตามสั่งที่มีลูกค้าขาประจำเป็นหลัก พร้อมกับสร้างรายได้จากการขายแฟรนไชส์
“โลเคชั่น” กุญแจสำคัญ เรียก “ลูกค้าประจำ” ช่วยหนุนแบรนด์แจ้งเกิด
คุณศิรุวัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสร้างแบรนด์โดยมีลูกค้าขาประจำถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความสำเร็จ เรื่องนี้ทำให้ร้านขียงมีสาขาในโลเคชั่นที่หลากหลาย ตั้งแต่ Gas Station คอมมูนิตี้มอลล์ และแม้แต่ตึกแถว ซึ่งทุกพื้นที่จะเป็นโลเคชั่นที่มีบ้านเรือน มีลูกค้าอยู่โดยรอบ หรือเป็นพื้นที่ ๆ มีผู้คนออกมาใช้ชีวิตในวันหยุด เรียกว่าทุกพื้นที่ของร้านเขียงกลายเป็น Benchmark ที่ทำให้แบรนด์ได้เรียนรู้จากลูกค้า บางสาขาอาจจะมีลูกค้ากินที่ร้านมาก บางสาขาอาจมีชาวต่างชาติใช้บริการมาก หรือบางสาขาก็ขายผ่าน Food Delivery ได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการขยายสาขาจะเน้นพื้นที่ ๆ สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟฟ้า เขตชุมชน ซึ่งมีทั้งที่พักอาศัย สำนักงาน ชุมชน เป็นต้น
ปักธง 1,000 สาขา ยึดใจ “ไทย – ต่างชาติ”
“เป้าหมายของเราคือ การเป็นแบรนด์อาหารตามสั่งที่มีทั้งสิ้น 1,000 สาขา เราแค่อยากสร้างร้านอาหารตามสั่งที่มีคุณภาพเดียวกันทุกสาขาและขายด้วยราคาสมเหตุสมผล เพราะเราอยากให้คนไทยได้ภูมิใจในอาหารตามสั่งที่เป็นวิถีชีวิตของเรา และวันข้างหน้าร้านเขียงอาจกลายเป็นเชนส่งออกไปต่างประเทศได้ รวมทั้งมีร้านเขียงให้บริการอยู่ตามสนามบินต่าง ๆ”
โดยปัจจุบันร้านเขียง บาย ตำมั่ว มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่าง ใน ตจว พัทยา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ก็มีการขยายสาขาไปบ้างแล้ว แต่นอกจากการสร้างแบรนด์อะแวร์เนสแล้ว จากนั้นก็จะขยายสู่การสร้างแฟลกชิปเป็นขั้นต่อไป
มั่นใจ “แตกต่าง = โดดเด่น” สร้างความสำเร็จ
จุดยืนของร้านเขียง ไม่ได้มีแค่คอนเซปต์การเป็นอาหารตามสั่งที่มีคุณภาพระดับเดียวกันทุกสาขา หรือแค่ราคาที่จับต้องได้ตั้งแต่ 50-150 บาท แต่ยังรวมถึงแนวคิดเพื่อสร้างการจดจำด้วยเลือกเลือก CI (Corporate Identity) ด้วย “สีน้ำเงินกรมท่า” ซึ่งเป็นสีที่แตกต่างจากแบรนด์อาหารอื่น ๆ ซึ่งนิยมใช้สีสันสดใสโทนสีส้ม สีแดง ตามหลักวิชาการสร้างแบรนด์ นอกจากนี้ร้านเขียงยังสร้างความโดดเด่นด้วยการเสิร์ฟอาหารในร้านด้วยภาชนะแบบ “หม้อด้าม” เพื่อตอกย้ำด้วยความแตกต่าง พร้อมกับสร้างการจดจำในแบรนด์ไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ร้านเขียง ยังเน้นจุดเด่นอีกประการ เรื่อง “ปรุงสด ผัดใหม่ทุกจาน” ซึ่งถือเป็นหัวใจของร้านอาหารตามสั่งที่ต้องมีการปรุงแบบสดใหม่ทุกครั้งก่อนเสิร์ฟ จนกลายเป็นคอนเซปต์ของร้านที่มีครัวโชว์อยู่ในส่วนหน้าร้าน เพื่อเปิดให้ลูกค้าได้เห็นวัตถุดิบและเห็นขั้นตอนการปรุงที่มีความสดใหม่ทุกจาน
“เราไม่ตื่นเต้นกับแฟชั่นธุรกิจอาหารที่มีใหม่และหายไปในตอนนี้ แต่เราเลือกปรับตัวให้เข้ากับแฟชั่นที่เกิดขึ้น เขียงจะเป็นแบรนด์ที่ใกล้ชิดกับผู้คนและชุมชน โดยยึดถือคุณภาพ ราคาสัมผัสได้ ถึงจะอยู่ในธุรกิจเชนอาหารแต่ก็สามารถทำราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท เหมือนร้านป้าตามสั่งหรืออาหารแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อ เพราะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เราอยากให้คนขับรถเบนซ์และวินมอเตอร์ไซค์สามารถนั่งกินข้าวในร้านเดียวกันได้ แค่เปิดใจลองกินร้านอาหารตามสั่งตามสไตล์ของเรา”
ขณะเดียวกัน แบรนด์ยังเรียนรู้ที่จะอยู่กับชุมชนอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่โลเคชั่นเปิดร้าน แต่ยังเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากชุมชนด้วย เพราะเขียงต้องการเป็นแบรนด์ที่อยู่ได้ด้วยความเข้าใจผู้บริโภค ลงทุนให้น้อยที่สุด แต่สามารถสร้างความสุขให้ลูกค้าได้จากความเอาใส่ใจและคุณภาพอาหารที่เสิร์ฟ
เปิดตัวเลือก “แฟรนไชส์” ลงทุนเริ่มต้น 1-2 ล้านบาท
คุณศิรุวัฒน์ กล่าวถึงการขายแฟรนไชส์ของร้านเขียง บาย ตำมั่ว ว่า จำนวนสาขาในปัจจุบันกว่า 60 สาขานั้น แบ่งเป็นแฟรนไชส์ประมาณ 20 สาขา ซึ่งบริษัทเปิดขายแฟรนไชส์ใน 2 ประเภท คือ เลือกจากสาขาที่มีอยู่แล้ว หรือ มีโลเคชั่นที่ต้องการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การบริหารร้านอื่น ๆ ในเชนเดียวกัน ทำให้เรามั่นใจว่าการบริหารงานของร้านเขียงแม้จะเป็นน้องใหม่แต่ไม่ใช่มือใหม่ การสร้างแบรนด์ของร้านจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ อีกทั้งยังใช้การลงทุนและใช้บุคลากรน้อยกว่าร้านอื่น ๆ เนื่องจากมีรูปแบบไม่ใหญ่ ประกอบกับมีเคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งต้องให้ความสำคัญที่รายละเอียดและระบบการตรวจสอบคุณภาพที่ดี
สำหรับเงื่อนไขของผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ร้านเขียงนั้น คุณศิรุวัฒน์ อธิบายว่ามีเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องเป็นผู้ที่ชื่นชอบอาหารไทยและชื่นชอบแบรนด์เขียงอยู่แล้วเพื่อคงมาตรฐานตามแบบฉบับของร้าน ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีเวลาบริหารจัดการร้านเป็นอย่างดี เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารจำเป็นต้องมีเวลาใกล้ชิดในการบริหารและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนราคาค่าแฟรนไชส์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ 1-2 ล้านบาท และต้องใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 1 เดือน แต่ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าโลเคชั่นดังกล่าวจำเป็นต้องก่อสร้างใหม่ หรือดำเนินงานแค่เรื่องตกแต่งสถานที่
เอาเป็นว่า… หากใครสนใจอยากเป็นเจ้าของกิจการร้านเขียง ก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 063-202-8752 ถึง 55 หรือ Email : franchisebusiness.div@zengroup.co.th ได้ตามความสนใจ เพื่อร่วมกันปั้นแบรนด์ “เขียง บาย ตำมั่ว” ให้เป็นร้านอาหารตามสั่งระดับพรีเมี่ยมจากเสน่ห์อาหารไทย ร่วมกัน