เจาะลึกการทำงานร่วมของ “4 Keyman” สร้างผลงาน Moonshot ระหว่าง KBTG และสถาบันเทคโนโลยีระดับโลก MIT Media Lab

  • 1.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ประโยคภาษาอังกฤษ “Elephant in the Room” หากแปลตรง ๆ คือ “ช้างที่อยู่ในห้อง” แต่ความหมายแท้จริงที่จะสื่อ ได้แก่ ทุกคนในห้องเห็นช้างทั้งตัวยืนอยู่ แต่ทำไมไม่มีใครพูดถึงมันเลย?

นี่คือคำพูดเชิงอุปมาอุปไมย ที่กำลังเปรียบช้างเป็นดั่งประเด็นขัดแย้งหรือคำถาม ที่ทุกคนรับรู้อย่างแจ่มแจ้งแต่ตั้งใจที่จะเมิน

 

 

ย้อนไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว ทาง “KBTG” หรือ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” ในเครือธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระดับ “Regional Tech Company” ด้วยการนำ “ช้าง” ที่ว่านี้มาพูดถึงและร่วมหาทางแก้ปัญหา ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยหรือแถบ Southeast Asia มาเนิ่นนาน และอาจเปรียบได้ว่าช้างเป็นตัวแทนของ Technology

คงไม่มีใครอยากที่จะให้ช้างมาเหยียบหรือต้องวิ่งหนี ในทางกลับกัน เราควรจะขี่ช้าง แล้วนำมา Empower เพื่อเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งในวันนี้ อนาคตที่ KBTG กำลังจะปู คือการสร้างปัจจุบันที่ดีกว่า และที่สำคัญ คือการมอบโลกที่น่าอยู่ให้กับ Generation ถัดไป

 

KBTG ร่วมทำวิจัยกับสถาบันเทคโนโลยีอันดับท็อปของโลก

โดยล่าสุดในช่วงเดือน มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทาง KBTG ได้สร้างความร่วมมือระดับโลก กับ สถาบันวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ สหรัฐฯ หรือ MIT Media Lab 

หากจะต้องฉายภาพ ว่า MIT Media Lab มีความสำคัญต่อปัจจุบันและอนาคตของโลกใบนี้อย่างไร คงต้องเอ่ยถึงความสำเร็จในอดีตก่อน เพราะสถานบันนี้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมอย่าง จอสัมผัส (Touch Screen) ที่พวกเราทุกคนแทบจะขาดไม่ได้ในวันนี้ หรือต้นแบบของ GPS ที่มนุษย์ยุคโมเดิร์นใช้ทุกครั้งยามเดินทางใกล้หรือไกล

อันที่จริงแล้ว คำว่า “จับมือ” ยังฟังดูน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะโดยเนื้องานมีความลึกซึ้งกว่านั้นหลายเท่า ที่กล่าวแบบนี้ได้เต็มปาก ก็เพราะในวันที่ 19 ถึง 21 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทาง Marketing Oops! ได้ประจักษ์เองกับตา ด้วยการเข้าร่วมงาน “MIT Media Lab Southeast Asia Forum” ในธีม  “Beyond The Elephant in The Room” ซึ่งเป็น Forum แรกในภูมิภาคนี้ของ MIT Media Labs ร่วมด้วย Co-host อย่าง KBTG กับธนาคารกรุงเทพฯ และ พาร์ทเนอร์อื่น ๆ ระดับชาติของไทย

ดังนั้นจึงสามารถยืนยันได้ ว่าเนื้อหาภายในงานนั้น Beyond สมชื่อ และช้างแต่ละตัวที่นำมาพูดถึง บอกได้ว่าไม่ใช่ไซส์เล็กอย่างแน่นอน มากไปกว่านั้น บรรดา Speaker ที่มาล้วนเป็นระดับแนวหน้าของโลก เช่น ศาสตราจารย์ Dava Newman อดีตรองผู้อำนวยการของ NASA นักบินอวกาศหญิง และปัจจุบันเป็น Director ของ MIT Media Lab

 

 

ทุกคนที่มาเป็น Speaker ล้วนมีความตั้งใจจะทำให้โลกใบนี้เป็นที่ที่หน้าอยู่มากขึ้น ผ่านศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ผนวกกับความสร้างสรรค์ผ่านแนวคิดที่มีความเป็นศิลปะชั้นสูง เพื่อคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ให้ “มนุษย์” ได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และต้องไม่ทำลายบ้านเกิดของตัวเองที่เรียกว่า “โลก”

 

8 Session หลักภายในงาน ที่มีวิสัยทัศน์ People, Technology และ Impact

บรรดาหัวข้อที่นำมาพูดในสองวันนี้ (วันที่สามเป็นการลงลึกในหัวข้อที่พูดจากสองวันก่อน) มีธีมที่ทั้ง KBTG และ MIT Media Lab เห็นตรงกันตามคำกล่าวของ ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล, Managing Director แห่ง KBTG คือ “People, Technology, Impact” ก็เลยออกมาเป็น 8 หัวข้อ ที่เป็นช้างตัวใหญ่ ได้แก่:

 

X-Verse: Being Digital + Digital Beings

สำรวจโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็น “Hybrid Realities” หรือก็คือการผสมผสานระหว่างโลกจริงผสมกับโลกเสมือน เช่น Metaverse และเชิญชวนให้นึกคิด ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างไร

 

Defying Gravity: From Space Exploration to Democratization

พูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ช่วยในด้านการสำรวจอวกาศ และสิ่งเหล่านั้นจะส่งอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตบนโลกอย่างไร พร้อมกับ “ชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ที่มนุษย์จะกลายเป็น “Interplanetary Species” หรือสายพันธุ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตผู้อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์หลายดวง

 

Cyborg Health: From Dream Engineering to Nano-Robotics

สำรวจเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่กำลังเกิดใหม่และแปลกใหม่ ซึ่งได้สลัดความหมายเดิม ๆ ของระบบงานด้านสุขภาพ โดยหลอมรวมมนุษย์กับเครื่องจักรกลในด้านบวก (Human-machine Symbiosis)

 

Creativity Across Scales: Co-Creating Communities of Possibilities

โฟกัสด้านการเรียนรู้และความสร้างสรรค์ ที่เกี่ยวกับวิธีใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้เพิ่มศักยภาพแก่มนุษย์ ในการร่วมกันสร้าง (Co-create) นวัตกรรมและไอเดียใหม่ ๆ

 

Material Alchemist: Bits, Atoms, Magic

โฟกัสด้านวัสดุทางวิทยาศาสตร์อันล้ำสมัย ที่สามารถผสาน Bits (ดิจิทัลหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ซอฟต์แวร์หรือทรัพย์สินทางปัญญา), Atoms (สินทรัพย์ที่จับต้องได้ในด้านธุรกิจ เช่น สิ่งของ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และมนุษย์) กับ Computation (การคำนวณ) ให้กลายเป็น Matter” (วัตถุ)

 

Internet of Values: Digital Currency, Web3, and Trustworthy Networks

พูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้และอุปสรรคของระบบการกระจายศูนย์เครือข่าย (Decentralized Networks) ที่สามารถทำให้ยูสเซอร์ สร้างคุณค่า (Value) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ได้ในยุคดิจิทัลนี้

 

Extended Mind: From Artificial Intelligence to Intelligence Amplification

สำรวจการสอดแทรกปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในชีวิตประจำวัน และพิจารณาถึงวิธีการช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับปัญญาของมนุษย์ ไม่ใช่ “มาทดแทน”

 

E-Topia: Sustaining Cities with Smart Technologies

โฟกัสด้านสมาร์ทเทคโนโลยีและระบบสังคม (Social System) ที่จะช่วยจุนเจือ Sustainability และสร้างระบบทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Circular Economy” เพื่อปรับปรุงและพัฒนาอนาคต

 

“Future You” สร้างจิตวิทยาเชิงบวกให้กับตัวเอง ด้วยการคุยกับตัวเองในอนาคตตอนอายุ 60 ปี

 

 

ต้องบอกแบบนี้ก่อน ว่า “ไฮไลต์” ของงานน่าจะขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ หรือผู้ที่มาฟังนั้นมาจากบริษัทหรือองค์กรไหน แต่ถ้าหากต้องพูดถึงความสำเร็จของ KBTG ที่ได้ร่วมมือกับ MIT Media Lab คงไม่พ้นผลงานอันน่าตื่นเต้นอย่างโปรเจกต์ “Future You”

โปรเจกต์ที่กล่าวมานี้ เป็นเสมือนซอฟต์แวร์ที่ได้นำเทคโนโลยี AI มา Augmented (เพิ่มศักยภาพ) ให้ยูสเซอร์สามารถ “แชต” คุยกับตัวเองในอนาคตตอนอายุ 60 ปีได้

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตัวเราได้เห็นตัวเองในอนาคต และเกิดแรงจูงใจในปัจจุบันที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเริ่มแรกได้มีการ Pilot Studies กับผู้เข้าร่วม 200 คน ผลที่ออกมาคือเป็นไปในเชิงบวก เพราะหลายคนที่มาทดลองได้กล่าวไว้ ว่าหลังจากได้แชตคุยกับตัวเองเวอร์ชันอายุ 60 ปี ก็รู้สึกว่ามองโลกในแง่บวกมากขึ้น มีความวิตกกังวลน้อยลง ดังนั้น AI ตัวนี้จึงไม่ใช่แค่เน้นแต่ให้ข้อมูล แต่เป็นดั่งตัวเชื่อมให้เราสามารถตั้งเป้าไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้

ทาง Marketing Oops! เองก็ได้ไปทดลองที่หน้างานมา แล้วต้องขอบอกว่าเป็นอะไรทีแปลกใหม่แต่ในแง่ดีอย่างแน่นอน เพราะสัมผัสได้ว่าเมื่อใช้แล้ว ก็รู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาเลยจริง ๆ

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คงจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้มีการร่วมงานในเชิง “ลึก” ไม่ใช่แค่ “จับมือ” แบบทั่ว ๆ ไประหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ดังนั้นในตอนนี้ สิ่งที่ควรทำคือการพาไปรู้จักคนสำคัญที่เป็นคนไทย ซึ่งอยู่เบื้องหลังการลงงานในเชิงลึกครั้งนี้

 

 

เผยการทำงานแบบลงลึก จาก 4 Keyman แห่ง KBTG และ MIT Media Lab

 

คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร

 

คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร, PhD Candidate, MIT Media Lab Researcher, Fluid Interfaces Group

 

คนแรกที่ต้องกล่าวถึง คงไม่พ้น คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร, PhD Candidate, MIT Media Lab Researcher, Fluid Interfaces Group และเป็น KBTG Fellow (ได้รับทุนจาก KBTG แบบไร้การผูกมัด) ที่เป็นคนไทยในรอบ 20 ปี ได้เข้าไปทำงานใน MIT Media Lab และเป็นตัวตั้งตัวตีของทาง KBTG ในการทำงานและปล่อย Future You ออกมา

เนื่องจากคุณพัทน์เป็นหนึ่งใน Researcher จึงได้อยู่ในทุก ๆ ช่วงของการสร้างผลงาน ตั้งแต่การทำวิจัย ปล่อย Research Paper จนออกมาเป็นในรูปแบบคล้ายซอฟต์แวร์ที่สามารถแชตคุยกับ AI ได้

ทั้งนี้ คุณพัทน์ได้เล่าให้ฟังว่า “มีการคอลกันกับทางทีมกันทุกสองวัน และทุกครั้งที่คุยกันก็รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง” จึงทำให้เห็นว่าทางทีมเมมเบอร์คนอื่น ไม่ใช่สักแต่ซัพพอร์ตในเชิงทุน แต่มีการคุย ประชุมงาน อัปเดต และที่สำคัญ มีการให้คำแนะนำมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล

 

คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล, Group Chairman และ CEO แห่ง KBTG

 

คนถัดมาที่หลายคนในแวดวงคงรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ได้แก่ คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล, Group Chairman และ CEO แห่ง KBTG

คุณกระทิงได้เล่าว่า ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทาง MIT Media Lab โดยเฉพาะการติดต่อประสานงานกับคุณพัทน์ จนสุดท้ายภายในเวลาสามเดือนก็ออก Paper ตัว Future You มาแล้ว เลยทำให้รู้ซึ้ง ว่าเทสต์การทำงานนั้นตรงกันมาก

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิด Synergy ที่ดีภายในทีม จนทำผลงานออกมาได้ดีและเร็วมาก แล้วได้พูดไว้ว่าทุกคนในทีมทำงานหนักมาก โดยเฉพาะในทีมหลักนี้ ที่เรียกได้ว่าระดับ Move Heaven and Earth” หรือ “ขยับทั้งสวรรค์และโลก” ให้จงได้ 

 

ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์

 

ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์, Principal Research Engineer แห่ง KBTG Labs

 

หากต้องนิยาม ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์, Principal Research Engineer แห่ง KBTG Labs แบบสั้น ๆ ก็คงเป็น “พี่ใหญ่” ที่ลงลึก Research แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะได้เล่าให้เห็นถึงภาพการทำงานระหว่างกันอย่างชัดเจน

โดยเริ่มจากต้องค้นหาหัวข้อก่อน ตามด้วยการ Brainstorm เพื่อที่จะรู้ให้ชัดเจน ว่าจะทำอะไร? และจะตอบโจทย์อะไร? โดยสุดท้ายก็ได้ไอเดียว่า “ควรหาสิ่งที่เป็น Touchpoint และจะต้องเกิดประโยชน์ใน Long Run ให้ได้ จนสุดท้ายก็ได้กำเนิดโปรเจกต์ Future You ออกมา”

 

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล

 

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล, Managing Director แห่ง KBTG Labs

 

อีกคนที่แน่นอนว่าไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล, Managing Director แห่ง KBTG Labs ที่จะคอย Advise ให้ทุกอย่างออกมาในรูปแบบที่ “ดีที่สุด” และตรงตาม “คอนเซปต์” ที่วางไว้

ดร.ทัดพงศ์ได้ตอกย้ำ ว่าการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงจับมือ แต่ต้องมั่นใจว่าสามารถเอามา Apply เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และที่สำคัญมากที่สุด คือการนำมาใช้กับคนไทยได้ จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับคุณพัทน์อย่างใกล้ชิด เพราะเห็นถึงความสามารถที่เป็นคนไทยและสามารถเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อนาคตดีขึ้นได้ เลยกลายมาเป็น Fellowship” กับทาง KBTG พร้อมมอบทุนการศึกษาแบบไม่ผูกมัด เพื่อให้คุณพัทน์สามารถสานฝันของตัวเอง แล้วทำรีเสิร์ชได้อย่างราบรื่น

 

 


  • 1.7K
  •  
  •  
  •  
  •