เวียดนามดาวรุ่งทางเศรษฐกิจยุคดิจิทัล โอกาสการลงทุน ที่ KBank เดินเกมรุกด้วยยุทธศาสตร์ Digital Banking

  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เป็นที่ยอมรับแล้วว่ากลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน (AEC) มีแนวโน้มเติบโตมากกว่ากลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆรวมถึงประเทศมหาอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะเห็นมหาอำนาจเริ่มขยับการลงทุนต่างๆ เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนนี้ โดยมีสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับแรงหนุนมาจากลูกพี่ใหญ่มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และการเป็นเส้นทางเดินเรือหลักสายสำคัญของโลก

ขณะที่ประเทศไทยเองก็โดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางแผ่นดินใหญ่ล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ไทยยังรอดพ้นจากวิกฤตภัยธรรมชาติรุนแรง รวมไปถึงความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค ทั้งภาคขนส่ง เทคโนโลยีและแรงงานฝีมือ และยังมีท่าเรือน้ำลึกที่เป็นประตูสู่การค้าทั่วโลก

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน “เวียดนาม” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องจับตามองในฐานะดาวรุ่งดวงใหม่และคู่แข่งสำคัญของประเทศไทย ที่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ชนิดที่ทั่วโลกต้องจับตามอง

 

จากภัยสงครามสู่ประเทศที่น่าลงทุน

 

เวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเวียดนามต้องการเอกราชกลับคืนหลังถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์การปกครองในฐานะเวียดนามเป็นประเทศอาณานิคม ประกอบกับอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่ขยายลงมาถึงเวียดนาม สงครามเวียดนามจึงเกิดขึ้นซึ่งผลของสงครามทุกคนคงทราบดี ตั้งแต่นั้นมาเวียดนามก็อยู่ภายใต้สังคมนิยมและเศรษฐกิจของเวียดนามก็อยู่ภายใต้สังคมนิยมโดยรัฐเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง

กระทั่งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2529 ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบตลาดเสรีภายใต้การควบคุมของรัฐบาล จนเมื่อทั่วโลกยอมรับระบบเศรษฐกิจของเวียดนามและอนุมัติการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) หลังจากนั้นเวียดนามก็เติบโตขึ้นในฐานะประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในด้านความมั่งคงทางการเมืองของประเทศ และกลไกด้านภาษีที่เอื้อต่อนักลงทุน

ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามก็ยังอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตหลายแห่งทั้งจากจีนและไทย ในทางกลับกันทักษะฝีมือของแรงงานเวียดนามเริ่มทยอยเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น เห็นได้จากการพัฒนาด้าน Logistics ที่เติบโตขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีเห็นได้จากการเตรียมแผนพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart City

 

สงครามการค้าจุดขยายตัวเศรษฐกิจเวียดนาม

Sean Hsu / Shutterstock.com

 

ต้องยอมรับว่า ผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อเวียดนามอย่างมหาศาล เนื่องจากหลายประเทศที่มีฐานการผลิตในจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น จึงมีแผนการย้ายฐานการผลิตไปในภูมิภาคอาเซียนและส่วนใหญ่เลือกไปที่เวียดนามและอินโดนีเซียที่มีมาตรการเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ และประเทศเหล่านี้ยังได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออก

เช่น สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามจะสามารถส่งเข้าไปขายในตลาดสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบด้านภาษีจากนโยบายสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้นสินค้าที่ผลิตจากเวียดนาม ยังได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง EU กับเวียดนาม (EVFTA ) โดยสินค้าเหล่านั้นจะได้รับยกเว้นภาษีอากรนำเข้าจาก EU ขณะที่ไทยถูก EU ตัดสิทธิ GSP เนื่องจากธนาคารโลกจัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจปานกลางค่อนข้างสูง

ที่สำคัญความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียดนามมีความเหนียวแน่นทั้งจากประวัติศาสตร์ การเมือง วิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณี ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในเวียดนามมีตลาดจีนพร้อมรองรับ และเป็นที่ทราบดีว่าตลาดจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้สินค้าจากเวียดนามยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรจากจีน ไม่เพียงเท่านี้สินค้าจากเวียดนามยังสามารถเข้าถึงตลาดในประเทศกลุ่ม AEC จากข้อตกลงการค้าอีกด้วย

 

วิกฤตโรคระบาดควบคู่การพัฒนาดิจิทัล

ในช่วงวิกฤตโรคระบาด เวียดนามก็เป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องบอกว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และมีการแพร่ระบาดน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เวียดนามยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งการเน้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตควบคู่กับภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี

ดูเหมือนว่า เวียดนามเองก็มองเห็นเทรนด์กระแสเศรษฐกิจดิจิทัล นั่นจึงทำให้เวียดนามออกนโยบายผลักดันธุรกิจด้านดิจิทัลมากมาย ทั้งในรูปแบบของ SME และ Startup เห็นได้จากในปี 2562 เวียดนามมีธุรกิจด้านดิจิทัลสูงมากกว่า 38,000 แห่งและยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน (FinTech) และ e-Commerce โดยภาครัฐก็มีการสนับสนุนอย่างเต็มที่

เพื่อให้เห็นการพัฒนาด้านดิจิทัลเป็นรูปธรรม เวียดนามจึงเตรียมแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2568) ในการให้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลเพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของภาคธุรกิจดิจิทัล พร้อมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีขนาด 20% เมื่อเทียบกับ GDP และตั้งเป้าให้ประชากร 80% ทำธุรกรรมต่างๆผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมายังช่วยเร่งการใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคเวียดนามอีกด้วย

 

จับตา KBank กับการเข้าสู่ตลาดเวียดนามผ่านกลยุทธ์ Digital Banking

กสิกรไทย (KBank) ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่เปิดให้บริการแก่ลูกค้าเวียดนามผ่านสำนักงานผู้แทนในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์มาตั้งแต่ปี 2558 มองเห็นโอกาสจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทชั้นนำของโลก โดยเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก และยังมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตเกิน 5%

ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ยกระดับการให้บริการจากสำนักผู้แทนนครโฮจิมินห์ เป็นธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นสาขาแรกในประเทศเวียดนาม และเป็นสาขาที่ 10 ในต่างประเทศ ภายใต้พันธกิจของการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ (Regional Bank of Choice) โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แบงกิ้งในระดับภูมิภาค (Regional Digital Banking) เป็นกลยุทธ์หลัก ตั้งเป้าภายในปี 2565 มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาทและสินเชื่อทั้งจากลูกค้าธุรกิจและรายย่อยในประเทศรวม 15,000ล้านบาท

โดยในช่วงแรกของการเปิดสาขาจะเน้นให้บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Lending) เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในเวียดนาม โดยมุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้าและอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ให้บริการแก่บริษัทของไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้ารายย่อยท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม ผ่านดิจิทัล แบงกิ้งและโมบาย แบงกิ้งในผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และร่วมมือกับเทคสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision

โดยขณะนี้มีกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ระดับโลกที่สนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารเพื่อสร้าง ecosystem ของการขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย ยังพร้อมทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่โลกของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบผ่านสินเชื่อดิจิทัล โดยภายในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 25,000 ราย ที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan) หรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ

 

จับมือพันธมิตรเดินหน้าธนาคารแห่งภูมิภาค

 

กสิกรไทย (KBank) ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจท้องถิ่นเพื่อหนุนศักยภาพทางธุรกิจในระดับภูมิภาคด้วยการร่วมมือกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น IPOS VN., Haravan และ KiotViet ช่วยให้เข้าใจตลาดเวียดนามได้อย่างลึกซึ้งและช่วยส่งมอบบริการได้ตรงใจลูกค้า รวมถึงความร่วมมือกับ Sendo แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อสร้างโซลูชั่นทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์และลูกค้าที่ใช้บริการ

เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน ทั้งนี้ Digital ecosystem ในเวียดนามยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ของธนาคารที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยร่วมลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น รวมถึงการให้สินเชื่อระหว่างประเทศแก่บริษัทท้องถิ่นในเวียดนาม ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ

การรุกตลาดเวียดนามครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์หลักในการก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคAEC+3 อย่างสมบูรณ์ สามารถเชื่อมต่อการให้บริการผ่านเครือข่ายของธนาคารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และมีพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน และยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป

ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการสร้างโอกาสการลงทุนของ KBank หลังเวียดนามส่งสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบกับโอกาสและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้ส่องสปอตไลท์มาที่เวียดนาม ซึ่งเวียดนามเองก็มีความพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยระบบสาธารณูปโภค ที่สำคัญตลาดเวียดนามยังมีช่องว่างให้ธุรกิจเข้าดำเนินการเนื่องจากความเจริญยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองสำคัญ และตลาดยังเปิดกว้างรองรับการลงทุนได้อีกมาก


  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •