นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำอันดับ 1 ของธุรกิจเครื่องรับชำระเงิน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 37% มีจำนวนร้านค้ารับบัตรกว่า 250,000ร้านค้า โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีพฤติกรรมการชำระเงินที่แตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องความสะดวกของช่องทาง ค่าธรรมเนียมของบริการ และความหลากหลายของรูปแบบในการชำระเงิน
“นวัตกรรมเครื่องรับชำระเงิน KBank Mini-EDC มาจากโจทย์ของการพัฒนาที่ต้องการช่วยให้การค้าขายของกลุ่มเจ้าของร้านค้าขนาดย่อมสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเติบโตของเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และต้องเป็นผลิตภัณฑ์รับชำระเงินที่มีขีดความสามารถในการเชื่อมโยงการรับจ่ายเงินแบบไม่มีสะดุด (Seamless Experience of Mobile Wallet) และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ใน “ทันที” (now)”
KBank Mini-EDC เป็นเครื่องรับชำระเงินขนาดเล็กพกพาสะดวก เหมาะกับการค้าขายของร้านค้าขนาดเล็ก เจ้าของร้านค้าสามารถพกติดตัวไปรับชำระเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ล้ำหน้าด้วยฟังก์ชั่นรับเงินแบบ 3 in 1 รับได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และคิวอาร์โค้ดของโมบายแบงกิ้งทุกธนาคารในประเทศไทย และเหนือไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยี QR Code ด้วยคอนเซปต์ “Digital Cross Border Payment” โดยความร่วมมือกับ Alipay และ WeChat Pay ที่มีฐานลูกค้าที่ใช้คิวอาร์โค้ดมากที่สุดในโลกถึง 500 ล้านราย และ 650 ล้านรายตามลำดับ เพื่อพัฒนาระบบของเครื่องรับชำระเงิน KBank Mini-EDC ด้วยการติดตั้งเครื่องอ่านเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด เพิ่มช่องทางให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากลูกค้าชาวจีนผ่าน Alipay และ WeChat Pay ได้ ซึ่งเป็นระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายในแอพพลิเคชั่น เพียงแค่เปิดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ แล้วร้านค้าใช้เครื่องสแกนคิวอาร์โค้ด ก็สามารถจ่ายเงินได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้กับกลุ่มลูกค้าชาวจีน ซึ่งปกตินิยมใช้ Alipay และ WeChat Pay สำหรับยอดชำระเงินที่มีจำนวนเงินไม่สูงนัก ( Micro Payment Transaction ) โดยผู้ใช้จะเติมเงิน ผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตเข้ากับอี-วอลเล็ต
ในขณะที่การให้บริการของร้านค้ากับลูกค้าคนไทย สอดรับกับกระแสการใช้จ่ายด้วย QR Code ซึ่งเป็นผลจากแนวนโยบาย National e-Payment ของภาครัฐ คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นการใช้งานคิวอาร์โค้ดในการชำระค่าสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารฯ ประเมินว่าการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดจะได้รับความนิยมสูงมากจนกลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของการชำระเงิน เนื่องจากสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางโมบาย แบงกิ้งสูงกว่าช่องทางอื่นๆ
นายอมร กล่าวว่า KBank Mini-EDC พร้อมให้สมัครใช้บริการได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป โดยธนาคารตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายเครื่อง 100,000 เครื่องภายในสิ้นปี 2561 และในช่วงแรกของการเปิดรับสมัคร ธนาคารได้มอบสิทธิพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมค่าอุปกรณ์ซ่อมเครื่อง และเจ้าของร้านค้าที่สนใจสามารถรับ KBank Mini-EDC ไปใช้งานก่อน โดยธนาคารจะกันวงเงินประกันเครื่อง 3,000 บาท โดยไม่ตัดเงินไว้จนถึงเดือนมิถุนายน 2561