เปิดพอร์ต “KBank” รุกลงทุนในสตาร์ทอัพ ดึงเทคโนโลยีเสริมทัพ แข่งยักษ์บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

KBank-Beacon Venture Capital

ในช่วง 3 – 5 ปีมานี้ สถาบันการเงินในประเทศไทย ตื่นตัวกับการตั้งมือรับ Technology Disruption ที่มาพร้อมกับคู่แข่งรายใหม่จากต่างประเทศ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology) และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และลูกค้าองค์กร ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลาง – เล็ก

เช่นกรณี “ธนาคารกสิกรไทย” (KBank) ซึ่งถ้าไล่เรียงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าแบงก์รวงข้าวขยับตัวอย่างหนัก ทั้งการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรมขึ้นเอง ขณะเดียวกันเข้าไปลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” ทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เพื่อเป็นทางลัดในการได้มาซึ่งอาวุธเทคโนโลยี และองค์ความรู้ สำหรับประยุกต์ใช้กับหน่วยงานต่างๆ ของเครือกสิกรไทย

– ปี 2559 จัดตั้งบริษัท “KBTG” (KASIKORN Business Technology Group) ปัจจุบันมี “คุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล” เป็นแม่ทัพ โดยกลุ่มบริษัทนี้ ทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 6 ด้านคือ World Class Design, Blockchain, Internet of Things (IoT), Machine Learning, Application Programming Interface (API) และ Mobile Application

– ปี 2560 ได้เปิดตัวบริษัท “Beacon Venture Capital” ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ที่กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น และระยะเติบโต ครอบคลุมทั้งใน “กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน” (FinTech), “กลุ่มเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค” (Consumer) และ “กลุ่มองค์กร” (Enterprise) ครอบคลุมการลงทุนสตาร์ทอัพทั้งในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกองทุน Beacon VC มีขนาด 135 ล้านเหรียญสหรัฐ

– ปี 2561 ตั้ง “KASIKORN VISION COMPANY LIMITED” หรือ “KVision” ซึ่งเป็น Investment Holding Company เข้าไปร่วมลงทุน และแสวงหาเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อต่อยอดธุรกิจธนาคารในตลาด AEC+3 ให้เป็น Regional Life Platform of Choice

การดำเนินการในระยะแรกของ “KVision” มุ่งเป้าไปที่การสร้างฐานรากก่อน โดยการตั้ง “Business Innovation Scouting” เพื่อเข้าไปค้นหาพันธมิตรในกลุ่มประเทศทีมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและนำใช้กับผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ก่อน 4 ประเทศ คือ

“สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่ปัจจุบันมีจำนวน FinTech Unicorns หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว / “เวียดนาม” / “อินโดนีเซีย” ประเทศที่มีการเติบโตของเทค สตาร์ทอัพเป็นอันดับต้น ๆ ใน AEC+3 / “อิสราเอล” จุดกำเนิดเทคโนโลยีใหม่และเป็นแหล่งรวมของ บุคลากรผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยี

KBank_KBTG
KBank_KBTG
KBTG (KASIKORN Business Technology Group) บริษัทในเครือ KBank ทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

เจาะลึก “Beacon Venture Capital” เลือกเฟ้น “สตาร์ทอัพ” เสริมแกร่งธุรกิจในเครือ “KBank”

 

“แบงก์ไม่ได้มอง Startups เป็นคู่แข่งแล้ว แต่มอง Startups เป็นพันธมิตรธุรกิจ ขณะที่คู่แข่งแบงก์ คือ บริษัทที่เป็น “TechFin” จากต่างประเทศ นั่นคือ บริษัทที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยี แล้วต่อมาขยายมาทำ “FinTech” หรือ Financial Service” ทีหลัง ซึ่งปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีการเงินเข้ามาในไทยมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันสร้างบริการใหม่ๆ มาแข่งกับบริษัทที่เป็น TechFin จากต่างชาติ ซึ่งแบงก์พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพ FinTech เพื่อร่วมกันต่อยอดธุรกิจให้แข็งแรง พร้อมแข่งขันกับบริษัทจากต่างประเทศ”

นั่นคือ คำกล่าวของ “คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด” บริษัทเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย (KBank) ฉายภาพ Landscape การแข่งขันของอุตสาหกรรมการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

ผ่านไป 2 ปี ถึงวันนี้ “Beacon VC” เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพแล้ว 6 ราย ที่แต่ละรายมีเทคโนโลยีที่ “KBank” สามารถนำไป plug-in เข้ากับหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรได้ เพื่อสร้าง Value Added หรือเป็นอีกหนึ่งโปรดักต์นำเสนอลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล, ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME และกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่

Beacon Venture Capital
คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด

สตาร์ทอัพ 6 รายที่ว่านี้ ประกอบด้วย

“Flowaccount” สตาร์ทอัพด้านการทำบัญชีออนไลน์ ออกแบบให้ใช้งานง่าย และสะดวก ปัจจุบันได้เอาเทคโนโลยีของ Flowaccount มาเชื่อมต่อกับระบบการให้บริการ Payroll ของธนาคารกสิกรไทย เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารฯ สามารถใช้ระบบของ Flowaccount ทำเงินเดือนให้กับพนักงานของบริษัทตนเอง

“Eventpop” สตาร์ทอัพพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการอีเว้นท์ ครอบคลุมตั้งแต่ลงทะเบียนร่วมงาน จำหน่ายบัตร จ่ายเงินค่าบัตร ขณะนี้ “KBank” ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาทดสอบให้บริการกับลูกค้าในเครือที่อยากจัดงานอีเว้นท์ หรืองานสัมมนา ก็สามารถเอา Eventpop มาใช้ในการลงทะเบียนร่วมงาน-จำหน่ายตั๋ว

“Ookbee” สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นธุรกิจ e-book และ e-magazine แต่ปัจจุบันได้แตกไลน์ธุรกิจเปิดแพลตฟอร์ม “จอยลดา” ที่ให้คนอ่านทั่วไปสามารถเขียนนิยายได้เอง ภายใต้แนวคิด User Generated Content

“Grab” กสิกรไทยเข้าไปลงทุนมูลค่า 1,500 ล้านบาท ความร่วมมือครั้งนี้ เบื้องต้นครอบคลุมการพัฒนา GrabPay by KBank เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ที่ทำให้ลูกค้า Grab ชำระเงินค่าเดินทาง และค่าบริการต่างๆ ของ Grab และสามารถโอนเงินซื้อสินค้า-บริการออนไลน์ รวมทั้งใช้จ่ายผ่าน QR Code ในร้านอาหาร – ร้านค้าทั่วไทย และพัฒนาแอปพลิเคชัน “K PLUS” และ “Grab” ใช้งานร่วมกันได้

K Plus Application
แอปพลิเคชัน K Plus

“Instarem” สตาร์ทอัพพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เหตุผลที่ Beacon VC ลงทุนในสตาร์ทอัพรายนี้ เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาผู้บริโภคที่ต้องการโอนเงินระหว่างประเทศ ต้องประสบกับ Pain Point บางอย่าง เพราะการโอนเงินข้ามประเทศไม่สามารถกำหนดระยะเวลาชัดเจนได้ เนื่องจากระหว่างการโอนเงินมีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเร็วๆ นี้ “KBank” เตรียมนำเทคโนโลยี “Instarem” มาใช้กับแอปพลิเคชัน “K Plus” เพื่อลด Pain Point ของการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งการระบุเวลาชัดเจนเงินถึงปลายทาง และค่าใช้จ่ายในการให้บริการ

“Jitta” เป็นสตาร์ทอัพล่าสุดที่ Beacon VC เข้าไปลงทุน ด้วยมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เป็นสตาร์ทอัพไทยที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อการลงทุน หรือ “WealthTech” โดยพัฒนาอัลกอริทึ่มวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและมูลค่าของธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูล นำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

Beacon Venture Capital x Jitta
Beacon Venture Capital ประกาศลงทุนใน Jitta สตาร์ทอัพด้าน WealthTech

 

ทำความรู้จัก “WealthTech” และโอกาสโต

 

ข้อมูลจากรายงาน BCG Global Asset Management 2561 สรุปมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแล (assets under management) สุทธิทั่วโลกในปี 2560 ว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 12% โดยสหรัฐอเมริกา และจีนเป็นประเทศที่มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลสูงสุด

สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลสุทธิ 6 ล้านล้านบาท เติบโต 7.6% โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ขณะเดียวกันในเมืองไทย บัญชีเงินฝากจำนวน 100,000 – 10 ล้านบาท มีประมาณ 8.7 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท โดยพบว่ายังมีคนไทยอีกมาก เลือกวิธีฝากเงินกับธนาคารอย่างเดียว เพราะมองว่าการลงทุนยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่มีความรู้ด้านการลงทุน และมีความเสี่ยง

เพราะฉะนั้น ถ้ารวมเอา 6 ล้านล้านบาท กับเงินที่พร้อมจะลงทุนอีก 5.7 ล้านล้านบาทจากกลุ่มคนที่ยังไม่เคยลงทุน แต่ถ้าทำให้คนกลุ่มนี้มีความรู้ความเข้าใจ และมีข้อมูลวิเคราะห์หุ้นและการลงทุนที่แม่นยำ ย่อมทำให้คนที่ยังไม่เคยลงทุน เกิดความสนใจอยากลงทุน

นี่จึงทำให้มีความต้องการของการจัดการบริหารเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในรูปแบบ WealthTechตรงกับแนวโน้มพฤติกรรมของนักลงทุนในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ชอบทำทุกอย่างด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะสะดวก และเมื่อทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ มีความรู้ด้านการเงินการลงทุน คนที่มีทรัพย์สินไม่ถึงหลักสิบล้าน ก็สามารถลงทุน และบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้งอกเงยได้เช่นกัน

แตกต่างจากในอดีตที่การบริการจัดการเงิน หรือหุ้นต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน ซึ่งคนที่จะลงทุน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่งมาก เป็น High Network

Wealth

“Beacon VC” ดึงเทคโนโลยีมาใช้ – หวังดัน Jitta ให้เป็นยูนิคอร์น

 

หลังจาก “Jitta” (จิตตะ) เปิด “Jitta.com” เทคโนโลยีวิเคราะห์พื้นฐานหุ้น (fundamental analysis) ครอบคลุมหุ้น 16 ประเทศทั่วโลก รวมเป็นหุ้นกว่า 95% ของทั้งโลก เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการวิเคราะห์ซื้อขายหุ้นด้วยตนเอง มีฟีเจอร์รองรับขั้นตอนการลงทุนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเปิดให้บริการฟรี ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าใช้งานกว่า 200,000 คนจาก 128 ประเทศทั่วโลก

ล่าสุดต่อยอดด้วยการเปิดให้บริการ “Jitta Wealth” เทคโนโลยีบริหารจัดการพอร์ตอัตโนมัติ ทั้งการวิเคราะห์ เลือกหุ้น ซื้อขาย และปรับพอร์ตหุ้นอย่างเหมาะสม บริหารโดย “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด” ซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการจัดการกองทุนส่วนบุคคลจากสำนักงาน ก.ล.ต.

เหตุผลที่ “Beacon VC” เลือกลงทุนใน “Jitta” เนื่องจากเห็นแนวโน้มและศักยภาพการเติบโตของตลาดในกลุ่ม “WealthTech” ซึ่งถืออีกหนึ่งแขนงของ FinTech ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในตลาดทั่วโลก เพราะในยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นในปัจจุบัน ผู้คนต่างมองหาการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมเงิน ประกอบกับยุคดิจิทัล คนรุ่นใหม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะสะดวก รวดเร็ว ทันทีทันใด มากกว่าจะไปหาที่ปรึกษาการลงทุน

Beacon VC จึงมองว่า “Jitta” มีศักยภาพที่จะ scale up ธุรกิจทั้งในไทย และตลาดต่างประเทศได้ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์หุ้น บวกกับ Big Data ที่มีมากกว่า 550 ล้านข้อมูล ใช้ AI วิเคราะห์และประมวลผลทุกวัน จึงสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าว ไปใช้วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลหุ้นและการลงทุนของประเทศนั้นๆ ได้ทันที

ดังนั้น นอกจากศักยภาพที่จะ scale up ธุรกิจแล้ว “Beacon VC” เตรียมนำเทคโนโลยีของ Jitta ไปใช้กับหน่วยงาน และบริษัทในเครือ KBank เช่น K Asset และบริการส่วน Private Banking

“เรามีแผนสนับสนุน Jitta ด้วยการเอาเครื่องมือ-เทคโนโลยี AI ของ Jitta มาใช้กับ K Asset และบริการในส่วน Private Banking ขณะเดียวกัน เราสามารถเป็นที่ปรึกษาในการพาไปสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายที่เราลงทุนไว้ด้วย เช่น VC ที่เราลงทุนไว้ และเมืองไทยยังไม่เคยมียูนิคอร์น เรามองว่า Jitta น่าจะเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่จะได้เป็นยูนิคอร์น” คุณธนพงษ์ เล่าถึงเหตุผลของการลงทุนใน Jitta

Jitta

 

เล็งขยาย “Jitta Wealth” สู่ตลาดแมส

 

คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ Jitta คือช่วยให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด เราจึงสร้างนวัตกรรมการลงทุนที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สร้างผลตอบแทนดี ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย

ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรกับ Beacon VC ที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจครั้งนี้ จะช่วยให้ Jitta สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ก้าวขึ้นเป็นผู้นำบริการด้าน WealthTech ได้ โดยเป้าหมายจากนี้เราจะขยายทีมพัฒนา เพื่อเน้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาต่อยอดนวัตกรรมอย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมเปิดข้อมูลวิเคราะห์หุ้นให้ครบ 16 ประเทศ เพื่อครอบคลุม 95% ของหุ้นทั่วโลก รวมถึงเปิดบริการผลิตภัณฑ์ใหม่ และการขยายตลาดไปยังประเทศสิงคโปร์และอินเดียในปีนี้”

“ที่ผ่านมา Jitta ยังไม่มีรายได้ เพราะเปิดให้บริการฟรี แต่การเปิดบริการ “Jitta Wealth” จะทำให้เรามีรายได้จากค่าบริหารจัดการ และค่าธรรมเนียมเข้ามา โดยช่วงแรกให้บริการเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นตาม Jitta Ranking เปิดตลาดที่ไทย อเมริกา และเวียดนาม มีค่าบริหารจัดการ 0.5% ต่อปี แลtคิดค่าธรรมเนียม 10% ของกำไร หากยังไม่มีกำไร ก็จะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม คิดแต่เพียงค่าบริหารจัดการเท่านั้น เมื่อมีกำไร แล้วถึงคิดค่าธรรมเนียม

ถ้าเติบโตดี ต่อไปเราจะขยายโปรดักต์ให้ครอบคลุมเงินลงทุน ตั้งแต่หลักหมื่นบาท และหลักแสน เพราะถ้าถึงจุดหนึ่งที่ทุกอย่างพร้อม ทั้งคน เทคโนโลยี และประเทศไทยสามารถใช้ e-Signature และ e-KYC ได้ เมื่อนั้นจะสามารถเปิด Jitta Wealth เข้าสู่ตลาดแมสได้

เพราะหากระบบ e-Signature และ e-KYC ในไทยยังไม่พร้อมใช้ ขั้นตอนการเปิดบัญชียังต้องเซ็นชื่อ ถ้ามีคนมาสมัครพร้อมกัน 10,000 คนในวันเดียว เราไม่สามารถรับไหว แต่เมื่อไรที่ไทยพร้อมใช้ระบบดังกล่าว “Jitta Wealth” จะสามารถขยายสู่ตลาดแมสได้ โดยคาดว่าภายใน 1 – 2 ปีนี้” คุณตราวุทธิ์ สรุปทิ้งท้ายถึงแผนธุรกิจในอนาคต

Beacon Venture Capital x Jitta
คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta (กลาง)

 

Copyright© MarketingOops.com


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ