เคยย้ำกันหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า จะหนียุค Disrupt สู่การ Transformation ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งแรกคือเริ่มต้นตั้งแต่ในองค์กร ไม่ใช่ปรับแค่ภายนอกหรือเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่ใกล้ชิดผู้บริโภค
และเราก็รู้กันดี ว่า…การเข้าใกล้ผู้บริโภคด้วยช่องทางที่ตอบโจทย์ทั้งแบรนด์และผู้ใช้ได้มากที่สุด ยุคนี้ คือ ผ่านแอปพลิเคชัน แต่ในเมื่อเทคโนโลยีไม่ได้ตอบโจทย์และสร้างโอกาสให้เราได้ทั้งหมด ธุรกิจจึงจำเป็นต้องตามหาและวิเคราะห์ Data กันต่อไป เพื่อทำความรู้จักกับลูกค้าทั้งเก่า-ใหม่ให้แนบชิด วิเคราะห์ความต้องการได้ก่อนลูกค้าจะร้องขอ และนำประโยชน์จากข้อมูลกลับมาพัฒนาบริการให้ตรงใจลูกค้า ทั้งหมดก็เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและกวักมือเรียกลูกค้าใหม่เข้าระบบ สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ทั้งหมดนี้น่าจะคลายปมสงสัยในใจหลายๆ คนได้แล้ว ว่าทำไมแบรนด์ต่างๆ จึงอยากมีแอปพลิเคชันให้ลูกค้าดาวน์โหลดไว้ติดมือถือ
เทรนด์นี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจหรือแบรนด์ใหม่ที่สนใจหยิบจับมาใช้ประโยชน์ ผู้นำ ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็โดดลงสนามเช่นกัน แม้แต่ภาคการเงินการธนาคารที่เข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าได้อยู่แล้วก็ยังขยายโอกาสล้วงลึกพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านอื่น ผ่านการขยายความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อสร้างโจทย์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“แบงก์” เชื่อม “มหาวิทยาลัย” โจทย์ใหม่
ถ้าพูดถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารกับสถานศึกษา รูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยอาจเป็นเรื่องการเปิดบัญชีผูกกับบัตรประจำตัวนักศึกษา ใครได้ทุนเล่าเรียนก็รับเงินผ่านบัญชีเดียวกันได้สะดวกสบาย หรือจะชำระค่าเล่าเรียนควบกันไปก็ทำได้สะดวก แต่เมื่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศก้าวมาถึงยุค 4.0 ความสะดวกที่เคยมีต้องถูกยกระดับให้สะดวกและง่ายกว่าเดิม อนาคตทางธุรกิจที่แบงก์จะสามารถเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย ตามความคิดคุณ…เป็นอย่างไร?
เมื่อเร็วๆ นี้ เราเห็น Business Model ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขยายความร่วมมือสู่ภาคการศึกษา กับความร่วมมือระหว่าง KBank และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำเสนอ “แอป CU NEX” ที่ KBank เป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับการขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มใหม่ที่แบงก์ฯ ไม่เคยเป็นเจ้าตลาดมาก่อน
httpv://youtu.be/lZpMZYFyTyw
ถามว่าสิ่งที่ KBank ทำในครั้งนี้ จำเป็นหรือไม่? และนี่ใช่ภารกิจของธนาคารพาณิชย์หรือเปล่า… คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อธิบายเป้าหมายของ KBank ในความร่วมมือนี้อย่างชัดเจน
อัดสารพัดเทคโนโลยีลงแอป ดันจุฬาฯ สู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลไลฟ์สไตล์แห่งแรกในไทย
ครั้งนี้บทบาทของ KBank เป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษาในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ภายใต้โจทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลตามแนวคิดจุฬาฯ ยุคใหม่ (Chula New Era) ทำให้ KBank นำเทคโนโลยีที่มีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ อาทิ
Machine Learning: เรียนรู้พฤติกรรมนิสิตจุฬาฯ ผ่านเทคโนโลยี ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการออกแบบการพัฒนาศักยภาพของนิสิตต่อไป
Business Intelligence: ประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดในการออกแบบหรือพัฒนาหลักสูตร จัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับนิสิต
Blockchain: ช่วยจัดการงานเอกสารสำคัญต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการป้องกันการปลอมแปลงเอกสารสำคัญต่างๆได้ครบถ้วน
Data Hub: สามารถพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว รวมถึงการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลภายในของบุคลากรจุฬาฯ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนความเป็นดิจิทัลที่จุฬาฯ จะได้รับนั้น ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความถึงเป้าหมาย Chula New Era ว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จุฬาฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องเฟ้นหาพาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยสู่การเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบผ่านแอป CU NEX ที่จะเชื่อมโยงการใช้ชีวิตของนิสิตเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล อำนวยความสะดวกและผลักดันการใช้ชีวิตของนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้เต็มประสิทธิภาพ และทำให้จุฬาลงกรณ์ฯ ไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์แห่งแรกในไทย
มิติใหม่ที่นิสิตจุฬาฯ จะได้รับจากแอป CU NEX เพื่อการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล ได้แก่ Digital ID แทนที่บัตรนิสิตแบบเดิม พร้อมด้วยระบบการชำระค่าเล่าเรียน การใช้ห้องสมุด การใช้งานบริการอาคารสถานที่ และการเดินทางภายในมหาวิทยาลัย, สังคม Cashless ด้วยเทคโนโลยี QR Payment ใช้จ่ายสะดวกยิ่งขึ้น หรือจะรับคะแนนสะสม แลกสิทธิประโยชน์จากร้านค้าโดยรอบมหาวิทยาลัยก็สามารถทำได้ผ่านแอป, การเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ผ่านพื้นที่ PLEARN Space หรือแม้แต่การแจ้งขอความช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถทำผ่านแอปดังกล่าวได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะล้างภาพยุคพกบัตรจนกระเป๋าบวมเพื่อใช้งานพื้นที่และบริการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ความพยายามในการพัฒนาแอปนับร้อยประเภทเพื่อตอบโจทย์นิสิตในยุค Mobile First แต่ทั้งหมดจะกลับมารวมอยู่ใน CU NEX ซึ่งทำหน้าที่เสมือนแอปพลิเคชันหลัก ภายใต้แนวคิด Single Portal Platform ที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของนิสิตจุฬาฯ
ขณะเดียวกันก็ยังมีความร่วมมือกับ KBank ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมบ่มเพาะความรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีกับ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group) และการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับจุฬาลงกรณ์ฯ และสถาบันอื่นในรูปแบบกิจกรรม Tech Jam, MAPS, ChAMP เพื่อสนับสนุนให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีระดับโลกและก้าวสู่การเป็น Startup ที่พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก หรือแม้แต่การวิจัยและพัฒนาระบบประมวลผลภาษาไทย NLP (Thai Natural Language Processing)
รวมถึงอีกเป้าหมายสำคัญของ Chula New Era คือ ทำให้แอป CU NEX สามารถตอบสนองการใช้งานแก่บุคลากรและศิษย์เก่าได้ด้วย ซึ่งการพัฒนาด้านต่างๆ จะเห็นภาพมากขึ้นในเฟสต่อๆ ไป นั่นเท่ากับว่า CU NEX จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มต้นด้วยการเปิดบัญชีออมทรัพย์กับ KBank ดาวน์โหลดแอป CU NEX และลงทะเบียนใช้งานด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน
หวังแอปช่วยต่อยอดสู่ฐานลูกค้าใหม่ 38,000 ราย
กลับมาในมุมความคาดหวังของ KBank สำหรับแอป CU NEX เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 60%กับครั้งแรกในความร่วมมือระหว่างแบงก์และสถานศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ในการเข้าไปเชื่อมโยงในการใช้ชีวิตของลูกค้าและเติบโตไปพร้อมกัน
“เราคาดหวังว่าจะได้ลูกค้าทั้งหมด 38,000 ราย กับการพัฒนาที่ไม่ได้หยุดเชื่อมโยงแค่การชำระค่าเล่าเรียน แต่ CU NEX ยังสามารถใช้จ่ายได้ด้วยเพื่อรับยุคสังคมไร้เงินสด ได้ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งนอน ถือเป็นความร่วมมือในฐานะพาร์ทเนอร์แม้โครงการจะมีอายุ 4 ปี แต่เราคาดหวังความต่อเนื่องในระยะยาวด้วย จึงมีแผนขยายความร่วมมือสู่สถาบันอื่นๆ ภายในปีนี้อีก 2-3 แห่ง เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ Life Platform สู่การให้บริการแบบ Beyond Banking มากกว่าเป็นแค่ธนาคาร และความร่วมมือในครั้งนี้ก็ทำให้ KBank ได้ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ของแบงก์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ทำให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้า และเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายเชิงลึก เพื่อวิเคราะห์และต่อยอดสู่บริการใหม่ๆ ได้เยอะและรวดเร็วในคราวเดียว รวมถึงเป้าหมายด้านจำนวนผู้ใช้งานซึ่งคาดว่าในเฟสต่อๆ ไปจะมีการพัฒนาให้ CU NEX สามารถขยายการใช้งานสู่บุคลากรกว่า 8,000 ราย และศิษย์เก่าอีกกว่า 200,000 รายทีเดียว”
เทรนด์เหล่านี้ถือเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจเรื่องการฝังตัวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากธุรกิจธนาคารนั้นเปลี่ยนจากเดิมและเข้าสู่ยุคโมบาย ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกเซคเมนต์ ในอดีต ธนาคารต้องมีจำนวนสาขาภายในห้างสรรพสินค้าให้มากและมีตู้ ATM ให้เยอะ แต่ปัจจุบัน ต้องมีช่องทางให้ลูกค้าใช้บริการได้แม้ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน กลายเป็นโจทย์หลักที่แบงก์ต้องขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจรูปแบบใหม่
ทั้งนี้ ฟังก์ชั่นการใช้งานที่เห็นทั้งหมด จะทยอยเปิดตัวให้ใช้งานและเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2561 เพื่อเติมเต็มแนวคิด จุฬาฯ ยุคใหม่ ตอบสนองดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ตามคอนเซปต์ “จุฬาฯ ให้สุด พร้อม เรียน เล่น ใช้ชีวิต”