รพ.จุฬาลงกรณ์ กสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต ร่วมพัฒนาโซลูชั่น CHULA CARE แก้ Pain Point การเข้าถึงบริการทางการแพทย์

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน รวมทั้งรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

และยังเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เน้นบริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรค รวมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และการพยาบาล รองรับการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น

มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม

สัดส่วนผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยนอกเพิ่ม

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่รวดเร็ว สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขและสถานพยาบาล เป็นที่ต้องการมากขึ้น ทั้งจากผู้ใช้บริการในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยปี 2560 ผู้ป่วยนอกมีมากกว่า 1.6 ล้านราย หรือกว่า 5,000 รายต่อวัน ขณะที่โรงพยาบาลก็มีการพัฒนากระบวนการให้บริการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

KBank_CHULA_CARE_01

แนวคิดที่จะนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ได้ถูกริเริ่มขึ้นโดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย จาก 3 องค์กรชั้นนำได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ธนาคารกสิกรไทย และเมืองไทยประกันชีวิต เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สนับสนุนงานบริการทางการแพทย์ให้ทันสมัย รวดเร็ว เพื่อบริการที่เป็นเลิศ

โครงการ CHULA CARE คือแนวคิดช่วยยกระดับการให้บริการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล ในการสร้างคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ให้อยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาค

CHULA CAREHealthTech สู่ความเป็นเลิศบริการทางการแพทย์ในภูมิภาค

KBank_CHULA_CARE_02

.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า CHULA CARE  คือการนำเทคโนโลยีจากทั้ง 2 องค์กร มาช่วยยกระดับระบบการบริหารจัดการผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพ คล่องตัว เพิ่มคุณภาพการให้บริการสูงสุด

“เน้นการพัฒนาด้านการให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ส่งเสริมข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ และการรักษาทางไกล โดยจะเริ่มให้บริการกับผู้ป่วยคลินิกระบบประสาท (Teleneurology Clinic) ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในระบบประสาท ซึ่งไม่สะดวกเข้ามาพบแพทย์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดเวลาการคอยพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกด้วย”

“จากความร่วมมือดังกล่าว เชื่อว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึง และกระตุ้นให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยและของประเทศด้วย” .นพ. สุทธิพงศ์ กล่าว

KBank_CHULA_CARE_03

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเข้ามาช่วยสนับสนุน การพัฒนาทั้งในส่วนของ Hardware และการหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลให้สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ อาทิ

1. พัฒนาแอปพลิเคชัน CHULA CARE ช่วยให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการแจ้งเตือนวันและคิวพบแพทย์ แจ้งผลการตรวจสอบสิทธิ์ในการรักษา (เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) แจ้งสถานะใบนำทาง การชำระเงินผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อระบบการชำระเงินอื่น มีแผนที่และการนำทางแบบ Indoor Navigate สนับสนุนตู้ Self-service Kiosk เพื่อความสะดวกในการชำระเงิน (สำหรับผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน)

2. สร้าง Data Hub พัฒนาระบบศูนย์รวมข้อมูล ให้โรงพยาบาลสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยการจัดเตรียมระบบคลังข้อมูลพร้อมใช้ และเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้ตามความต้องการ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างยังเป็นสิทธิของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

KBank_CHULA_CARE_04

3. พัฒนาระบบ Telemedicine นำความก้าวหน้าของการสื่อสารโทรคมนาคม ประยุกต์ใช้กับการบริการทางการแพทย์ โดยทำงานด้วยการส่งสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงผ่านสื่อ ควบคู่ไปกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ พูดคุยตอบโต้กันได้ทันที ทั้งการแบ่งปันความรู้ในการรักษาระหว่างแพทย์หรือหารือเคส (Teleconference) การรักษาทางไกล (Teleclinic) รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care)

4. พัฒนาระบบงานทรัพยากรบุคคล (HR) และ Staff Mobile Application รองรับการดูแลบุคลากรของโรงพยาบาล ให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี เชื่อมโยงการจ่ายค่าตอบแทน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เรื่องการให้บริการในธุรกิจการเงิน ด้วยจุดมุ่งหมายคือ การให้บริการที่ดีที่สุดแก่ประชาชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ธนาคารกสิกรไทย จึงเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลให้บริการผู้ป่วยและญาติทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น” คุณขัตติยา กล่าว

KBank_CHULA_CARE_05

คุณสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า เมืองไทยประกันชีวิต ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในการพัฒนาการให้บริการครั้งสำคัญในครั้งนี้ โดยมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อม และสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพ ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในยุคที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ 3 ด้านคือ

1. พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคในผู้สูงอายุร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยการติดตาม (Monitor) ข้อมูลด้านสุขภาพทั้งจากโรงพยาบาลและที่บ้าน เพื่อให้ทีมแพทย์พยาบาลนำมาวิเคราะห์ และจัดโปรแกรมการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยได้อย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน

2. พัฒนาช่องทางการเข้าถึงสื่อการสอนและการสอบ อำนวยความสะดวกให้ญาติ หรือผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) สามารถเข้าถึงสื่อการสอน และการสอบในหลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้ Digital Platform ทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลความรู้ ถูกนำมาใช้ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด

3. การขยายความคุ้มครอง สำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพ ประเภทผู้ป่วยนอก (OPD) กับบริษัทฯ ให้ครอบคลุมการรักษาผ่าน Teleclinic และสามารถดำเนินการเคลมออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน CHULA CARE ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากที่บ้านได้เลย

“นอกจากนี้ ทางเมืองไทยประกันชีวิต ยังให้การสนับสนุนประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกด้วย” คุณสาระกล่าว

KBank_CHULA_CARE_06


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •