KBANK เจาะตลาดนักช้อปออนไลน์จีน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ความตื่นตัวขององค์กรต่างๆ เพื่อรองรับการมาของ AEC ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าทำให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นบริษัทและองค์กรใหญ่ๆ ต่างมองถึงโอกาสก้าวหน้าทางด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซและช่องทางการรุกตลาดออนไลน์ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น

 

การเข้ามาทำตลาดในไทยของยูเนี่ยนเพย์

การเจรจาทางความร่วมมือด้านธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยกับบัตรเครดิตไชน่ายูเนี่ยนเพย์ ทำให้เกิดการขยายช่องทางการค้าออนไลน์ เพื่อตอบสนองด้านการซื้อขายสินค้าของคนจีนในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสดีที่ร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่จะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มใหญ่ของตลาด

kbank-china-3อาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า บริการ K-Payment Gateway เปิดรับบัตรเครดิตของลูกค้าทั่วโลก  ถ้าเป็นแบรนด์บัตรเครดิตเดิมที่มีอยู่ในตลาดก็คือ วีซ่า มาสเตอร์การ์ดและเจซีบี ตอนนี้ขยายรับบัตร CUP (China Union Pay) เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ถือบัตร CUP ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนซึ่งฐานลูกค้าคนจีนที่ใช้งานบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดยังน้อยกว่าลูกค้าคนจีนที่ใช้งานบัตรยูเนี่ยนเพย์ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการขยายโอกาสการใช้งานกับให้คนจีนเกือบทั้งประเทศซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งจากผลการเก็บข้อมูลด้านสถิติของ The Nilson Report พบว่า สัดส่วนของผู้ใช้งานบัตรเครดิตในทวีปเอเชียแปซิฟิกปี 2010 แบ่งเป็นบัตร CUP จำนวน 2,415 ล้านใบ บัตร VISA จำนวน 571 ล้านใบและบัตร Master Card จำนวน 260 ล้านใบ จะเห็นได้ว่าเมื่อนำตัวเลขผู้ใช้งานบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดมารวมกันยังมีฐานลูกค้าเล็กกว่าบัตรไชน่ายูเนี่ยนเพย์เพราะจำนวนผู้ถือบัตรกับประชากรชาวจีนที่มีค่อนข้างมาก

 

จุดเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยว

กระแสการเดินทางเข้ามาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 6 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจมุ่งเป้าขยายความร่วมมือกับต่างชาติให้มากขึ้นประกอบกับความนิยมของภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost In Thailand ยิ่งทำให้ประชากรจีนรุ่นใหม่อยากเดินทางมาทดสอบความสามารถในการท่องเที่ยวแบบไม่ง้อทัวร์

พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่เดิมจะมาเป็นกลุ่มใหญ่เพราะไม่คุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศแบบอิสระเมื่อเดินทางออกนอกประเทศก็เลยมาเป็นคณะทัวร์ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องของการถอนเงินสดหรือรูดซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC ซึ่งในปี 2011-2012 ยอดการถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มของนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทยอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์และรูดบัตรเพื่อซื้อสินค้าอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยมีประมาณ 2.8 ล้านคนหรือ 62 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเดินทางเข้ามาในไทยด้วยตนเองจึงมีร้านค้าบางแห่งนำเครื่อง EDC ที่รับเฉพาะบัตรของธนาคารอินเตอร์เนชั่นแนลอย่างเจซีบีหรือยูเนี่ยนเพย์มาใช้รูดซื้อสินค้าและถอนเงินสดแบบเสียค่าธรรมเนียม โดยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงและคุ้นเคยกับการเดินทางมาเมืองไทยด้วยตนเองมากขึ้น คนกลุ่มนี้จะใช้งานด้านออนไลน์ผ่านช่องทาง K-Payment Gateway จึงเป็นโอกาสที่ KBANK จะเปิดให้บริการบัตร CUP อย่างเป็นทางการเพื่อช่วยขยายโอกาสทางการซื้อและขายสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทัวร์ โรงแรมและสายการบิน ทั้งยังเป็นโอกาสในการใช้จ่ายสินค้าผ่านเครื่อง EDC และเบิกถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มในไทย ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดนี้มีแนวโน้มในการเติบโตสูงและคาดว่าจะมีดีมานด์ในแง่ของการรูดซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย

 

ช้อปออนไลน์เทรนด์ใหม่ของชาวจีน

การเริ่มใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทำตลาดซื้อขายสินค้าของไทย ทำให้อัตราการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ของจีนอย่างอาลีบาบาหรือเว็บไซต์ขายสินค้าของแบรนด์โดยตรง ยิ่งเพิ่มโอกาสสินค้าของไทยในการเจาะตลาดลูกค้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้น

ประเด็นการใช้ช่องทางออนไลน์แบ่งเป็นสองเรื่อง คือ นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาเมืองไทยแบบเป็นกรุ๊ปทัวร์ ต้องการเดินทางมาในวาระพิเศษด้วยตนเองทำให้ต้องจองโรงแรมที่พัก ตั๋วเครื่องบิน บัตรชมการแสดง หรือกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกับอีกประเภทเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบในสินค้าหัตถกรรม อย่างเช่น กางเกงมวยไทย ช้างไม้หรือสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมของบ้านเรา ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อมีความคุ้นเคยก็จะมีความต้องการในสิ่งของ ก่อให้เกิดการโน้มน้าวใจกลายเป็นธุรกิจมากขึ้นและอีคอมเมิร์ซจะมาช่วยตอบโจทย์ได้ดีสำหรับคนที่ไม่ได้เดินทางมาประเทศไทย โดยในปีนี้เริ่มมีร้านค้าออนไลน์เข้ามาเจรจากันบ้างแล้วในส่วนของลูกค้า K-Payment Gateway อยู่ที่หลัก 3,000 – 4,000 ราย คาดว่าจะสร้างรายได้ที่หลักร้อยล้าน

kbank-china-2

 

บริการด้านข้อมูลสำหรับลูกค้าออนไลน์ชาวจีน

เว็บไซต์ถือเป็นอีกแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสินค้าและบริการให้แก่นักช้อปชาวจีนได้มากขึ้น การให้ข้อมูลด้วยภาษาอังกฤษที่ถือว่าเป็นภาษาสากลแล้วภาษาจีนก็เริ่มเป็นอีกหนึ่งภาษาที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ในแง่ของการทำเซอร์วิสลูกค้าคนจีน ธนาคารจะมีสาขาที่อยู่ในย่านธุรกิจที่มีคนจีนอาศัยอยู่หรือคาดว่าจะเข้ามาใช้งาน เช่น สาขาเสือป่า รัชดา ห้วยขวางและนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ที่ให้บริการด้วยภาษาจีนเพื่อรองรับลูกค้าคนจีนด้านออฟไลน์ ส่วนออนไลน์ก็จะมี K-Biz Contact Center ซึ่งจะเป็นการตอบข้อสงสัยด้านธุรกิจเป็นภาษาจีนและให้คำตอบด้านการเบิกถอนต่างๆ ในเว็บไซต์ของธนาคารก็จะมีข้อมูลทั้งหมดเป็นภาษาจีนโดยเฉพาะ อย่างเช่น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธนาคาร  ค่าสกุลเงินหยวนและข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งหากร้านค้าออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ของแบรนด์ตัวเองและมีฐานลูกค้าเป็นคนจีนก็ควรจะมีการทำเพจข้อมูลภาษาจีนไว้รองรับลูกค้าคนจีนหรือเลือกเปลี่ยนภาษาเพื่อความสะดวกในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในการขายสินค้า

kbank-china-1

 

ระบบซีเคียวริตี้ป้องกันการหลอกลวง

ปัญหาที่ลูกค้ายังคงกังวลอยู่เสมอคงหนีไม่พ้นการหลอกลวงผ่านอีเมล์หรือแฮ็กข้อมูลส่วนตัวผ่านระบบขององค์กรต่างๆ อาจสร้างปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ต้องระวังเท่านั้น แต่ธนาคารเองก็ต้องมีวิธีป้องกัน และระบบซีเคียวริตี้ที่ปลอดภัยไม่แพ้กัน

การช้อปปิ้งทางเว็บไซต์ยังคงเป็นกระแสที่มีลูกค้าใช้งานได้อีกนานเพราะบางทีสิ่งของที่ต้องการ อาจจะไม่ใช่ของที่มีอยู่ในประเทศทำให้ต้องสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แต่การซื้อของแบบออนไลน์จะต้องมีขั้นตอนการยืนยันผ่านพาสเวิร์ด ซึ่งในอนาคตจะมีการทำโมบายล์คอมเมิร์ซบนมือถือเพราะแนวโน้มการใช้งานของลูกค้าจะใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้นและต้องมีการ Verified by visa ด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าระบบซีเคียวริตี้ของสมาร์ทโฟนประเภทแอนดรอยด์จะหย่อนกว่ามาตรฐาน เพราะฉะนั้นหากมีการหลอกลวงผ่านทางเอสเอ็มเอสหรือลิ้งก์เว็บไซต์ต่างๆ ควรจะเช็คให้ดีเพราะประเทศในแถบยุโรปโดนหลอกกันเยอะมาก

ดังนั้นแนวคิดด้านระบบซีเคียวริตี้ของบัตร CUP จะไม่ยึดติดกับวิธีการของบัตรวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดถือว่าเป็นวิธีการทำงานที่ค่อนข้างอิสระ ที่ผ่านมาจะเห็นวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดมีผู้ใช้งานจำนวนมากเหมือนเป็นเจ้าตลาด สามารถกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ แต่บัตร CUP เองจะมีกฏเกณฑ์และระบบรักษาความปลอดภัยหลายรูปแบบ ซึ่งถ้าของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดมีการตรวจสอบแบบ Verified by VISA ทาง CUP เองก็จะมีทั้ง SMS, Static Password และ Token ที่ต้องมีหลายรูปแบบนั้น เพราะเป็นการปรับระบบการทำงานให้เข้ากับธนาคารต่างๆ ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะมีนโยบายที่ไม่เหมือนกัน การทำที่หลากหลายวิธีจะช่วยป้องกันปัญหาด้านการโจรกรรมได้มากขึ้น

 

AEC เทรนด์ใหม่กับการปรับเปลี่ยน

การปรับตัวให้เข้ากับกระแสของ AEC ทำให้ธนาคารต้องมองว่ามีโอกาสอะไรที่จะเกิดขึ้นและมีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคงเป็นการปรับตัวให้ทัน

ธนาคารมีนโยบายในการทำอาเซียน เพย์ เน็ตเวิร์ก (Asian Pay Network : APN) ร่วมกับธนาคารใหญ่ๆ ของประเทศเพื่อนบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นการนำบัตรเครดิตของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย มารูดซื้อสินค้าในเมืองไทยได้ ซึ่งบัตรของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็ทะยอยเชื่อมระบบกัน เพื่อเบิก-ถอนเงินกันได้สะดวกขึ้น อัตราค่าใช้จ่ายต่ำลง โดยจะให้ความสนับสนุนบัตรท้องถิ่นที่จริงมีการทำมาระยะหนึ่ง แต่แบรนด์วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดมาตีตลาดทำให้เรื่องนี้ต้องชะลอก่อน ในปัจจุบันกระแส AEC รูปแบบการใช้งานผ่านบัตรวีซ่าก็จะไปติดกฏเกณฑ์ เช่น ถอนเงินข้ามประเทศจะตกลงกันเองไม่ได้ ต้องผ่านระบบวีซ่าเน็ตเวิร์ก ทำให้ธนาคารในแถบอาเซียนมีแนวคิดว่าถ้าหากทำอาเซียนเพย์เน็ตเวิร์กเพื่อสนับสนุนบัตรเครดิตของประเทศในแถบนี้เอง โดยไม่ติดเงื่อนไขของบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดเพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาแพงน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าธนาคารในอาเซียนให้ความร่วมมือเป็นจำนวนมากประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับค่อนข้างคุ้มค่าซึ่งการร่วมมือกันจะช่วยส่งเสริมด้านการค้าภายในอาเซียน โดยระบบหลังบ้านต่างๆ เตรียมการเพื่อรองรับลูกค้าในเรื่องของการเบิก-ถอนเงินสดบ้างแล้ว แต่ส่วนการใช้งานอื่นๆ ยังต้องรอให้เป็นเรื่องของอนาคต

 

สนับสนุนโดย นิตยสาร Ecommerce ฉบับ เมษายน 2556


  •  
  •  
  •  
  •  
  •