กรณีศึกษา “KBank – SCB” ตั้งบริษัทเทคโนโลยี ทางรอดแบงก์ไทยก่อนถูก Tech Company ต่างชาติโจมตี

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

Basic RGB

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมหาศาลจาก “Technology Disruption” คือ “ธุรกิจธนาคาร” ที่ในอดีตการทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่าง ต้องพึ่งพาธนาคาร แต่ทันทีที่เกิด “Financial Technology” (FinTech) พัฒนาขึ้นโดย “บริษัทเทคโนโลยี” โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้วันนี้ “ธนาคาร” ไม่ได้เป็นเพียงคำตอบเดียวของการทำธุรกรรมทางการเงินอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคมองว่ายังมีแพลตฟอร์มบริการทางการเงินอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นโดย Tech Company สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า !!

สิ่งที่ตามมาคือ “Tech Company” ดึงฐานลูกค้าจากธนาคารไป สำหรับการให้บริการธุรกรรมทางการเงินบางประเภทที่ภาครัฐของประเทศนั้นๆ อนุญาตให้ดำเนินการได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ใช้ชีวิตอยู่กับดิจิทัล จึงต้องการความสะดวก – รวดเร็ว สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลแล้ว เช่น จีน ที่มี Ant Financial (บริษัทในเครือ Alibaba Group) และ Tencent ที่ปัจจุบันกลายเป็น Tech Company ระดับโลก ทั้งยังเป็นผู้พัฒนา FinTech รายใหญ่ในจีน และระดับโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่ FinTech เฟื่องฟู ขณะที่ประเทศไทย เวลานี้ยังอยู่สเต็ปเริ่มต้น แต่ในอนาคตเทคโนโลยีด้านการเงินจะเข้ามามีบทบาทต่อคนไทยอย่างแพร่หลายแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ “แบงก์ไทย” ต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะถูกยักษ์ใหญ่ “Tech Company” จากต่างประเทศเข้ามาแย่งฐานลูกค้า !! ดังเช่นกรณีศึกษา “KBank” และ “SCB” ที่จัดตั้ง “บริษัทลงทุน – พัฒนาเทคโนโลยี” ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อปลดล็อคตัวเองออกจากกรอบของการเป็นเพียง “ธนาคาร” แล้วขยับไปสู่การสร้าง “Business Ecosystem” ในฐานะการเป็น “Digital Platform” ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้แบบเฉพาะบุคคล (Personalization)

ความเคลื่อนไหวของสองยักษ์ใหญ่ธนาคารไทย ตอกย้ำให้เห็นว่าการแข่งขันธุรกิจธนาคารในประเทศไทยยุคนี้ ไม่ได้แข่งกับธนาคารด้วยกันเองอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขัน พร้อมทั้งตั้งมือรับกับการเข้ามาของ “Tech Company” รายใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินลงทุน – เทคโนโลยี – ความเร็วในการขยับตัว

Resize Kbank_02
Photo Credit : saruntorn chotchitima / Shutterstock.com

 

“กสิกรไทย” ทุ่ม 8,000 ล้าน ตั้ง “KVision” เป็น Investment Holding Company ลงทุนเทคโนโลยีทั่วโลก

“กสิกรไทย” (KBank) เตรียมขยายธุรกิจในภูมิภาคในรูปแบบดิจิตอลเทคโนโลยี ทุ่ม 8,000 ล้านบาท เปิดตัว “เควิชั่น” (KVision) ร่วมลงทุน และแสวงหาดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก หวังต่อยอดธุรกิจธนาคารในตลาด AEC+3 เป็น Regional Life Platform of Choice รองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ในอนาคตอีกมหาศาล

คุณภัทรพงษ์ กันหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่ Digital Technology เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตเหมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ทำให้การเข้าถึงโซลูชั่นและบริการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลง่ายขึ้นแค่ปลายนิ้วสัมผัส ก่อให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ เรียกว่า “Digital Consumer” ที่มีพฤติกรรมและความต้องการเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นการให้บริการของธนาคารเองก็จะต้องเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ จากเดิมที่ทุกอย่างถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ๆ ก็จะถูกออกแบบมาสำหรับ “ลูกค้าแต่ละบุคคล” มากขึ้น (Personalization) โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ชัดและลึกมากขึ้นจึงสามารถสร้างลูกค้าเซ็กเม้นท์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนได้

Resize Kbank_01
Photo Credit : Prachaya Roekdeethaweesab / Shutterstock.com

 

“ธนาคารกสิกรไทยจึงต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น “Life Platform” ในฐานะ “คนรู้ใจ” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันอันหลากหลายของทุกคน ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบการให้บริการการเงินแบบเดิมอย่างที่ธนาคารเคยทำมาอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง การเดินทาง ความบันเทิง และอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านเทคโนโลยี APIs (Application Programming Interface) ที่ให้พันธมิตรทางธุรกิจ นำสินค้าและบริการต่างๆ มาเชื่อมต่อกับบริการของธนาคารได้อย่างไร้รอยต่อ

ธนาคารมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งสู่การเป็น “Life Platform” ของลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วภูมิภาค AEC+3 ผ่านช่องทาง Digital และ Mobile Solution ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพด้าน Digital Technology ให้ก้าวขึ้นสู่ระดับภูมิภาค ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงได้จัดตั้ง “บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด” (KASIKORN VISION COMPANY LIMITED) หรือ “KVision” ขึ้นมา ด้วยเงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท (245 ล้านเหรียญสหรัฐ)

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเสริมทัพด้าน Digital Technology ให้กับธนาคาร โดย KVision จะมีฐานะเป็น “Investment Holding Company” ภายใต้เครือธนาคารกสิกรไทยจะเข้าไปเสาะหา และร่วมพัฒนาความเป็นไปได้ทาง Technology ใหม่ๆ กับ Tech Community หรือบุคลากรผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยี จากทั่วทุกมุมโลก”

Resize infographic K-VISION 1-01

“KVision” ค้นหาพันธมิตรเทคโนโลยีในจีน – เวียดนาม – อินโดนีเซีย – อิสราเอล

การดำเนินการในระยะแรกของ “KVision” จะมุ่งเป้าไปที่การสร้างฐานรากก่อน โดยการตั้ง “Business Innovation Scouting” เพื่อเข้าไปค้นหาพันธมิตรในกลุ่มประเทศทีมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและนำใช้กับผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ ก่อน 4 ประเทศ คือ

สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ปัจจุบันมีจำนวน Fin-Tech Unicorns หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว / เวียดนาม / อินโดนีเซีย ประเทศที่มีการเติบโตของเทค สตาร์ทอัพเป็นอันดับต้น ๆ ใน AEC+3 / สุดท้ายคือ อิสราเอล ที่เป็นจุดกำเนิดเทคโนโลยีใหม่และเป็นแหล่งรวมของ บุคลากรผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยี หลังจากที่ “Business Innovation Scouting” เข้าไปเรียนรู้และค้นหาพันธมิตรที่มีศักยภาพได้แล้ว

ทาง “KVision” ก็จะศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุน ทั้งในรูปแบบการเข้าไปถือหุ้นโดยตรง หรือการลุงทุนผ่านกองทุน Beacon Venture Capital Fund ที่มีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุน เพื่อเตรียมให้ความสนับสนุนด้านเงินทุนในการทำธุรกิจแก่ “Tech Startups” ที่มีศักยภาพ และมีเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา แต่มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคาร และนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้และยกระดับบริการของธนาคารทั้งในไทยและใน AEC+3

กสิกรไทย มองว่าการก่อตั้ง “KVision” จะทำให้ธนาคารได้เปรียบในเรื่องความคล่องตัวในการนำดิจิตอล โซลูชั่นส์ต่าง ๆ มาให้บริการแก่ลูกค้า สามารถย่นระยะเวลาในการพัฒนาบริการอย่างก้าวกระโดด นำเสนอประสบการณ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นการยกระดับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของธนาคารจากการเรียนรู้และปฏิบัติจริงที่ได้จากร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติที่จะเข้ามาร่วมงานกับเครือธนาคารกสิกรไทย

“กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมทั้งธุรกิจธนาคารที่ไม่ได้แข่งกับธนาคารกันเองอีกต่อไป ธนาคารจึงจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อยกระดับบริการและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็น “Life Platform” อันดับหนึ่งของภูมิภาคในอนาคตอย่างแท้จริง

นับเป็นครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีเป้าหมายชัดเจนในก้าวออกสู่เวทีการแข่งขันด้านดิจิตอลในระดับโลก เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพและแสวงหาเทคโนโลยีชั้นนำมารองรับการขยายบริการธนาคารยุคใหม่ การก่อตั้ง เควิชั่น จะช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ กับพันธมิตร และก้าวไปยืนอยู่ในระดับแถวหน้าของดิจิทัล เทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในทุกแพลตฟอร์มในระดับภูมิภาคได้”

Resize infographic K-VISION 1-03

“Digital Ventures” ทัพหน้าขับเคลื่อน “ไทยพาณิชย์” สู่การเป็น “Digital Platform”

เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) จัดตั้งบริษัทลูก “บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด” (Digital Ventures) ที่ประกอบด้วย 3 หน่วยธุรกิจ คือ หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital) หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products) และ หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะ Startups (Accelerator) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อค้นคว้านวัตกรรมด้านการเงิน พร้อมทั้งลงทุนใน Startups ที่มีศักยภาพ และสร้างพันธมิตรในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจร่วมกัน

โดยในที่สุดแล้ว “ไทยพาณิชย์” ต้องการเป็น “Financial Solutions” และ “Lifestyle Platform” ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในทุกด้าน ไม่จำกัดแค่การให้บริการด้านการเงิน

ภายใต้ “Lifestyle Platform” ของไทยพาณิชย์ ประกอบด้วย Living, Retail, Travel, University, Wealth & Insurance, Supply Chain, Energy, Food & Restaurant, E-Commerce, Tech & Digital Service, Lifestyle, Health & Wellness

เช่น เมื่อจับมือกับ Villa Market พัฒนาแอปพลิเคชัน VPlus Wallet และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ shoponline.villamarket.com หรือล่าสุดผนึกกำลังกับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ร่วมกันพัฒนาบัตร Co-Branded, บริการชำระเงิน“SCB M” ในรูปแบบ Virtual Credit Card, บริการทางการเงินแบบครบวงจรในศูนย์การค้า หรือ Banking Agent Service และเทคโนโลยีช่วยให้การช้อปปิ้งสนุกขึ้น

“ธนาคารไทยพาณิชย์ มุ่งมั่นพัฒนา Digital Platform เพื่อสร้างและเติมเต็ม Ecosystem ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ไทยพาณิชย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ธนาคารอีกต่อไป แต่จะเป็นองค์กรที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาความแข็งแกร่ง และเสริมขีดความสามารถให้กับทั้งองค์กรเอง พันธมิตรธุรกิจ และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างความผูกพันกับลูกค้า (Customer Engagement)” ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพถึงความการปรับตัว

Resize-SCB-S-VISION-2561-06-27
Digital Platform ของไทยพาณิชย์ ที่แสดงวิสัยทัศน์เมื่อครั้งจับมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช ในการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสุขภาพ และการชำระเงิน

 

ก่อนหน้านี้ คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เคยให้สัมภาษณ์กับ MarketingOops! ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การแข่งขันธุรกิจการเงินในวันนี้ ทั้งเร็ว และแรง แต่คนแรง และเร็วไม่ใช่ธนาคารด้วยกันเอง แต่คือ เจ้าของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มด้านรีเทล แพลตฟอร์มให้บริการเรียกรถแท็กซี่ หรือการเข้ามาของ “Alibaba” ที่ Disrupt ธุรกิจ

ถ้าเรายังคงเป็นธนาคารรูปแบบเดิมที่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ไม่ว่าธนาคารไหนก็มีได้เหมือนกัน เมื่อไม่มีความแตกต่าง จะทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคา ซึ่งมีแต่ส่งผลเสียทั้งอุตสาหกรรม เพราะคนจะเลือกใช้บริการธนาคารที่ให้โปรโมชั่นดีที่สุด ดังนั้นหากธนาคารไม่ปรับตัว ในที่สุดแล้วลูกค้าจะหายไป

ขณะเดียวกันปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านจากโมเดลธุรกิจยุค Product Base ที่ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียม ไปสู่ยุค Free Transaction เพราะฉะนั้นธนาคารต้องเปลี่ยนโจทย์ธุรกิจใหม่ ด้วยการปรับตัวเป็น “ผู้สร้าง Digital Platform” ที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจธนาคาร จากเมื่อก่อนเทคโนโลยี คือ ส่วนสนับสนุนธุรกิจ นี่เป็นทิศทางของธนาคารทั่วโลก โดยขณะนี้พัฒนาการของธนาคารไทยในการขยับไปสู่การเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และต้องปรับตัวอีกมาก เพื่อทำให้ธนาคารยังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตลูกค้า”

เป้าหมายสำคัญของการเป็น “Digital Platform” ที่เข้าไปอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า คือ การได้ฐานข้อมูลลูกค้า หรือ Big Data ด้านไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำให้ธนาคารสามารถนำไปวิเคราะห์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการด้านการเงินที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะบุคคล (Personalized Service)

Resize SCBM_01

Resize SCBM_03


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ