ท่ามกลางรายได้ 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.4 แสนล้านบาท) ในปี 2560 ของตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งทั่วโลก ซึ่งแนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยปีดังกล่าวเติบโตถึง 41.1% ยิ่งย้ำภาพว่ามิวสิคสตรีมมิ่งยังคงเป็นบริการที่ครองรายได้เป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการฟังเพลงจากช่องทางอื่น ด้วยสัดส่วนถึง 38% ขณะที่การขายแผ่นเสียง ซีดี และเทป ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 30% ของรายได้ทั้งหมด (ข้อมูลจาก IFPI Global Music Report 2561)
คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย อธิบายถึงตลาดดังกล่าวว่า มิวสิคสตรีมมิ่งในไทยยังเป็นเพียงบลูโอเชี่ยน การแข่งขันในตลาดไม่รุนแรงขนาดนั้น โดย JOOX ยังคงเป็นผู้นำในตลาดตั้งแต่เริ่มลอนจ์เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
“คนไทยฟัง JOOX มากกว่า 3 พันล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 50% พฤติกรรมคนฟังเพลงในยุคนี้คือขอแค่ได้ฟัง ไม่ต้องการดาวน์โหลดมาเป็นเจ้าของ รวมถึงปัจจัยจากความเร็วอินเทอร์เน็ต ปริมาณดาต้าในแพ็กเกจ และราคาดีไวซ์ที่ลดลง เสริมให้มิวสิคสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น”
เปิดพฤติกรรมคนไทยกับการใช้งาน JOOX
- JOOX ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้ชาวไทย อาทิ
- 90% ของผู้ใช้ JOOX ยังคงชื่นชอบเพลงไทย
- หมวดเพลง 3 อันดับแรกที่ผู้ใช้นิยมฟัง คือ Pop, Rock, Hip-Hop
- เวลาเฉลี่ยของการใช้งาน JOOX อยู่ที่ 90 นาทีต่อวัน
- กลุ่มที่ใช้งานสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ อายุ 18-25 ปี (41.2%) รองลงมา คือ 25-34 ปี (37%), 35-44 ปี (11%), มากกว่า 44 ปี (5%) และต่ำกว่า 18 ปี (5%)
- กลุ่มผู้ใช้ JOOX ส่วนใหญ่ยังเป็นคนกรุงเทพฯ 55% และต่างจังหวัด 45%
- ช่วงเวลาที่ผู้คนชอบฟังเพลง คือ ระหว่างเดินทาง (70%) ซึ่ง 93% ของคนไทยชื่นชอบการฟังเพลงผ่านมือถือ ขณะที่สัดส่วนของชาวต่างชาติอยู่ที่ 75% เท่านั้น
- จำนวนผู้ดาวน์โหลดแอป JOOX ในไทยมีทั้งสิ้น 68 ล้านครั้ง โดยมาจาก iOS เพียง 16% และ Android 84%
- มีสถิติที่ JOOX สำรวจจากผู้ใช้ Facebook ชาวไทย ซึ่งได้ข้อมูลว่า 72% เลือก JOOX เป็นแอปพลิเคชันสำหรับฟังเพลง และเลือก Spotify (25%), Apple Music (11%)
“ปีที่ผ่านมา JOOX ได้รับเลือกให้เป็นแอปยอดนิยมของผู้ใช้บน Google Play Store ทั้งในไทยและฮ่องกง สิ่งเหล่านี้สะท้อนความพึงพอใจในการใช้งาน ซึ่งเราใส่ใจทั้งเรื่องคุณภาพเสียงและความง่ายต่อการใช้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเทศไทยในปีนี้คงเป็นเรื่องของการขยายการใช้งานในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพราะเรามองว่าเพลงคือสิ่งไร้พรหมแดน หน้าที่ของ JOOX คือ การนำมิวสิคเอ็นเตอร์เทนเมนต์เข้าถึงผู้ฟัง ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราจึงเปิดตลาดใหม่ในประเทศพม่าเพิ่มเติม”
เตรียมหนุน “ลูกทุ่ง” แจ้งเกิด – อัพเกรดเว็บไซต์เอาใจผู้ใช้ต่างจังหวัด
คุณกฤตธี ยอมรับว่า แม้ตอนนี้กระแสเพลง Pop จะยังครองใจผู้ฟัง JOOX แต่ลูกทุ่งก็เป็นหมวดเพลงยอดนิยมในอันดับสี่ ซึ่งมีเสน่ห์เรียกว่าเป็นศิลปแขนงหนึ่งของไทย จึงเชื่อว่าในปีนี้จะเป็นปีทองของเพลงลูกทุ่ง โดย JOOX ประเทศไทยจะสนับสนุนให้มากขึ้น และคาดว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนกับที่เคยผลักดันเพลง Hip-Hop ให้กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังเหมือนในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จากเทรนด์การใช้งานของคนในต่างจังหวัดก็เปิดรับมิวสิคสตรีมมิ่งมากขึ้น แต่ยังคงชื่นชอบการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่าเปิดใช้งานจากสมาร์ทโฟนซึ่งต้องใช้ดาต้าด้วย ทำให้เราต้องมองถึงการพัฒนาเว็บไซต์ (JOOX.com) เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงการผลักดันตลาดเพลงลูกทุ่งด้วยการนำเสนอศิลปินหน้าใหม่ไปพร้อมกัน
คนไทยยอมจ่ายเงินไม่ถึง 10% เพื่อฟังเพลง สนโมเดลแชร์หลายแอคเคาท์กระตุ้นยอด
โครงสร้างรายได้ของ JOOX ยังคงมาจากการสมัคร VIP (ฟังเพลงได้ทั้งหมดโดยไม่มีโฆษณาแทรก) และ Media Partner ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้ JOOX ต่ำกว่า 10% ที่สมัครบริการแบบ VIP (ค่าบริการเริ่มต้นเดือนละ 129 บาท) ซึ่งสามารถสมัครได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ แต่รายได้ปีที่ผ่านมายังคงเติบโตราว 100% ส่วนพาร์ทเนอร์ปัจจุบันมีราว 30 ราย
“คนไทยและฮ่องกงมีสัดส่วนการสมัคร VIP ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันผู้ใช้ JOOX มีผู้ใช้งานแอคทีฟราว 10 ล้านราย เติบโตจากปีที่ผ่านมา 8 ล้านราย และตั้งเป้าหมายเป็น 12 ล้านรายในปีนี้ ส่วนเรื่องราคาบริการแบบ VIP ถือว่าเราเป็นคนเปิดเกมที่ราคา 129 บาท รายอื่น ๆ ก็ตามมาที่ราคานี้ ซึ่งมองว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่อาจพิจารณาโมเดลใช้งานได้หลายแอคเคาท์เพื่อเพิ่มยอดการสมัครบริการ VIP ในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันให้คนไทยยอมจ่ายเงินเพื่อฟังเพลงนั้นยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทาย”
อย่างไรก็ตาม JOOX ยังมีโมเดลการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งศิลปินหน้าใหม่ ค่ายเพลง หรือแม้แต่การจัดอีเวนท์มอบรางวัลประจำปี JOOX Thailand Music Awards ซึ่งถือเป็นโมเดลหนึ่งในการผลักดันให้ศิลปินทั้งหน้าใหม่และที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วได้ใกล้ชิดกับผู้ฟังมากขึ้น อาทิ การทำเอ็กซ์คูลซีฟคอนเทนต์ราว 60 เพลง กับ 40 ศิลปิน หรือแม้แต่การสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ แบบข้ามค่ายเพลง รวมถึงการผลักดันให้เกิดศิลปินหน้าใหม่ซึ่ง JOOX ร่วมกับสังกัดและค่ายเพลงต่าง ๆ ที่ต้องการผลักดันศิลปิน โดย JOOX จะเป็นผู้สนับสนุนในการแต่งเพลง เนื้อเพลง หรือ MV เป็นต้น ซึ่งจากกลยุทธ์และความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งกับพาร์ทเนอร์ในวงการเพลง ทำให้ JOOX ได้รับสิทธิ์ Head Start (ปล่อยเพลงใหม่ก่อนช่องทางอื่น) ขณะเดียวกัน JOOX ก็ยังมีความสำเร็จจากการถ่ายทอดสดกิจกรรมประกาศรางวัลทางดนตรีในต่างประเทศซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
เปิดฟีเจอร์ใหม่ “Duet คาราโอเกะ” ตอบโจทย์ความชอบคนไทย
เนื่องจากความนิยมของฟีเจอร์คาราโอเกะซึ่งปีก่อนมียอดการร้องสูงถึง 5 ล้านครั้ง และมีการแชร์เพลงที่ร้องแบบคาราโอเกะถึง 2.6 ล้านครั้ง ในปีนี้จึงมีการชวน Influencer เข้ามาสร้างความบันเทิงกับผู้ฟังมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ใหม่ JOOX VDO Karaoke ซึ่งสามารถใช้งานผ่านแอปและเว็บไซต์ JOOX.com