เปิดใจ “Gloria Li” แม่ทัพ JD.COM สร้าง “ซัพพลายเชนค้าปลีกครบวงจร” ลุยอีคอมเมิร์ซไทย

  • 372
  •  
  •  
  •  
  •  

jd.com

เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ “JD.CO.TH” ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่าง “เซ็นทรัล กรุ๊ป” กับ “JD.COM” ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีก และซัพพลายเชนจากแดนมังกร เตรียมเปิดให้บริการในไทยอย่างทางการ

การร่วมทุนครั้งนี้ แน่นอนว่าในสเต็ปแรก คือ การสร้างแพลตฟอร์ม “ค้าปลีกออนไลน์” โดยตลาดอาเซียน ถือเป็น Emerging Market ที่กลุ่ม “JD.COM” ให้ความสำคัญ และ “ไทย” คือหนึ่งใน Strategic Country ในขณะที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ต้องการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่สามารถแข่งขันได้กับ Global Player ที่เข้ามาบุกไทยก่อนหน้านี้

แต่ถ้ามองในระยะยาว เป้าหมายใหญ่ที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” และ “JD.COM” ต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในไทย ไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น !! แต่ยังมองไกลไปถึงการวางโครงสร้างระบบ Logistic ที่แข็งแกร่ง และถ่ายโอนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านค้าปลีก ที่เวลานี้ในจีนขยับไปสู่การเป็น “Omni-channel” อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และกลุ่มเซ็นทรัลต้องการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกให้อยู่บนโมเดล Omni-channel เช่นกัน

ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น “MarketingOops!” พร้อมสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ JD.COM ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อค้นหาคำตอบเบื้องหลังโมเดลธุรกิจที่สามารถพลิกจากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์เล็กๆ กลายเป็น Major Player ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของจีน สะท้อนได้จากสถิติการเติบโตของอาณาจักรธุรกิจ

– มีระบบขนส่งเองทั่วประเทศ
– พนักงานจัดส่งกว่า 85,000 ราย
– เครือข่ายคลังสินค้ามากกว่า 500 แห่ง รวมทั้งศูนย์การเติมสินค้าขนาดใหญ่ คลังสินค้าขนาดเล็ก และโรงงานผลิตควบคุมอุณหภูมิ สำหรับสินค้าที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ
– มีสถานีจัดส่งกว่า 7,000 สถานี
– มีวิศวกรกว่า 12,000 คน ที่ทำงานในจีน และ Silicon Valley
– พัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI), ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ, ระบบยานยนต์อัตโนมัติ ฯลฯ
– มีลูกค้า 301.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ 82% สั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ
– เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่อันดับ 3 ของโลก ด้วยรายได้ (ปี 2017) 55.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจาก Amazon ครองตำแหน่งแชมป์ รายได้ 177.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย Alphabet อันดับสอง รายได้ 109.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้ที่จะมาไขคำตอบ คือ หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของ JD.COM “Gloria Li, Corporate Vice President”

Resize DJI_20180529_095839

“Full Supply Chain – Big Data – AI เบื้องหลังความแข็งแกร่ง “JD.COM”

Q : โมเดลธุรกิจที่เป็น “จุดแข็ง” สร้างความได้เปรียบให้กับ JD.COM ?

Gloria Li : โมเดลธุรกิจของ “JD.COM” คือ “การบริหารซัพพลายเชนครบวงจร” (Full Supply Chain Management) เป็นการลงทุนบริหารจัดการตลอดทั้งซัพพลายเชน (ครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การจัดหาสินค้า (Product Sourcing) และการพัฒนาเทคโนโลยี – “กลางน้ำ” คือ การสร้างระบบ Logistic และคลังสินค้า – “ปลายน้ำ” การสร้างช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์ – ออฟไลน์ ที่ปัจจุบันได้ผสานโลกสองขั้วนี้เข้าหากัน) เพื่อจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคในเวลารวดเร็ว

ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านบุคลากร โดยฝึกอบรมให้สามารถบริหารจัดการระบบซัพพลายเชน ซึ่งการลงทุน Full Supply Chain Management ทำให้ “JD.COM” แตกต่างจากผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายอื่นที่ลงทุนสร้างแพลตฟอร์ม เช่น หน้าเว็บไซต์

“การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ด้วยรูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น (Joint Venture) จะดำเนินการจัดตั้งสำนักงานในประเทศนั้นๆ (Local Operation) เพื่อเข้าไปลงทุนในทุกเซ็กเตอร์ตลอดทั้งระบบซัพพลายเชน”

รวมถึงการจ้างงานคนท้องถิ่นแบบ Full Team ทั้งทีมดูแลด้านสินค้า ทีมการตลาด และการขาย ฝ่ายบุคคล ฝ่ายสื่อสารองค์กร ฝ่ายดูแลลูกค้า เพื่อเราจะได้ Transfer องค์ความรู้ และเทคโนโลยีให้กับคนท้องถิ่นได้เรียนรู้ เช่น การร่วมทุนกับ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” เปิด JD.CO.TH ย่อมมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้คนไทยได้เรียนรู้การบริหารจัดการระบบ Logistic

Resize JD Logistic_03
Photo Credit : JD.COM

“แต่ละประเทศมีลักษณะ และคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมี Local Team ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ และทำความเข้าใจความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ เป็นอย่างดี เพื่อจัดหาสินค้าที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่น

เรามีความเชื่อในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดย 3 หัวใจหลักที่จะทำให้เรานำเสนอประสบการณ์ที่ดี ประกอบด้วย 1. คุณภาพสินค้า / 2. บริการ / 3. ราคาที่เหมาะสม

การค้นหาและทำความเข้าใจผู้บริโภค มาจากการมี “Big Data” และลงทุนพัฒนา “AI” ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบ real-time ทำให้เรารู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค รู้ว่าสินค้า-แบรนด์ไหนเป็นที่นิยม พร้อมทั้ง และเห็นความเปลี่ยนแปลง Demand ของตลาดได้ทันทีทันใด”

Resize JD Logistic_04
Photo Credit : JD.COM

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จุดหมายใหม่ในแผนที่ยักษ์อีคอมเมิร์ซโลก – “ไทย” หนึ่งในตลาดสำคัญ

ก่อนจะเจาะลึกรายละเอียดการลงทุนในไทย เราอยากรู้ถึงการมองโอกาสธุรกิจตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร เพราะเป็น Emerging Market ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรมากกว่า 600 ล้านคน ?

Gloria Li : JD.COM ก่อตั้งเมื่อ 13 ปีที่แล้ว นับว่าเป็นบริษัทที่ยังเด็ก ขณะที่การขยายธุรกิจมายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยประเทศแรกที่บริษัทเข้าไปลงทุน ด้วยโมเดลร่วมทุนกันพันธมิตรท้องถิ่น คือ “อินโดนีเซีย” และใช้รูปแบบ Local Operation

ปัจจุบันในอินโดนีเซีย มีพนักงาน 1,400 คน มีทั้งฝ่าวการตลาด ฝ่าย Logistic ฯลฯและมีคลังสินค้า 9 แห่ง

และเมื่อปีที่แล้ว ร่วมทุนกับเซ็นทรัล กรุ๊ป จัดตั้ง “บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด” เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ “JD.CO.TH” ภายใต้เครื่องหมายการค้า “JD Central” นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ร่วมทุนกับ “Tiki” เป็นอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นของเวียดนาม

ส่วนการขยายตลาดต่างประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอมริกา, ยุโรป, เกาหลี, ญี่ปุ่น ได้ใช้กลยุทธ์ “Collaboration” กับแบรนด์จากสหรัฐฯ แบรนด์ยุโรป รวมทั้งแบรนด์ของเกาหลี และญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมในจีน เพื่อเชิญแบรนด์เหล่านี้ มาจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ “JD.COM”

Resize JD Logistic_07
Photo Credit : JD.COM

“บนแพลตฟอร์ม JD.COM มีสินค้าจากหลายชาติ แต่เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่แปลกใหม่ และเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสินค้า-แบรนด์จากประเทศต่างๆ ที่มาวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ JD.COM มากขึ้น จึงได้จัดแคมเปญ “Super Brand Day” ในจีน ซึ่งเป็นวันที่เอาสินค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง มาร่วมทำแคมเปญโปรโมตสินค้า-แบรนด์ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ลูกค้าจะได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ 

อย่างเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้จัดแคมเปญออนไลน์ “Thailand Superbrand Day” สำหรับจำหน่ายสินค้าของเมืองไทย 1 วันบน “JD.COM” โดยสินค้ายอดนิยม คือ ทุเรียน และกุ้งกุลาดำ ซึ่งขายได้มากกว่า 200 กว่าตันภายในวันเดียว ช่วยทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในประเทศจีนมากขึ้น และดึงผู้ประกอบการธุรกิจ SME เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของ JD.com มากขึ้น”

Gloria Li

Q : มองศักยภาพของตลาดไทยอย่างไร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ?

Gloria Li : ตลาดประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ คนไทยมีรสนิยมซื้อของที่มีคุณภาพ และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการนำเสนอสินค้าต้องพิจารณาว่าสินค้าไหนที่เหมาะกับความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ดังนั้นการมีหุ้นส่วนธุรกิจในประเทศนั้นๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะการทำการตลาดจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากบุคคลากรในพื้นที่ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เราร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งมีความเชี่ยวชาญธุรกิจรีเทล และเป็นรีเทลอันดับหนึ่งในไทย

วัตถุประสงค์ของการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล คือ 1. การส่งมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีให้กับลูกค้า โดย JD.COM จะเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบ Logistic ให้กับ JD.CO.TH เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน Logistic แพลตฟอร์ม JD.CO.TH ให้ดีขึ้น

2. ต้องการนำสินค้าไทย และแบรนด์ไทย ไปจำหน่ายในตลาดประเทศจีน และกระจายไปจำหน่ายยังประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดียวกัน เช่น อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ภูมิภาคอื่นๆ เช่น รัสเซีย, สเปน

3. การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในวันนี้ มีความท้าทายมากมาย ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าบนออนไลน์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ด้านธุรกิจออนไลน์ โดยทั้ง “JD.COM” และ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” จะช่วยฝึกคนที่มีความสามารถ หรือคนที่ต้องการเรียนรู้การทำธุรกิจออนไลน์ ให้ได้มีความรู้ด้านการขายสินค้าบนออนไลน์

4. สร้างนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ประเทศไทย

Q : มีกลุ่มธุรกิจ “JD Finance” เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจในไทย จะมีแผนขยายจากอีคอมเมิร์ซ ไปสู่การทำ “E-Finance” หรือไม่ อย่างไร ?

Gloria Li : “JD Finance” เป็นหน่วยธุรกิจแยกออกมา ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เมืองไทย อย่างไรก็ตามการนำระบบ E-Finance มาใช้ในประเทศต่างๆ ต้องศึกษากฎหมาย กฎระเบียบที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลา จึงเรายังไม่มีบริการ E-Wallet ในไทยในช่วงนี้ แตกต่างจากการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้เร็วกว่า

JD HQ_02

สร้าง Smart Logistic “โดรน” ส่งสินค้า เข้าถึงพื้นที่เข้าถึงยาก

เมื่อหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ ระบบขนส่ง นี่จึงเป็นส่วนงานที่ “JD Group” ให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยการจัดตั้งแผนกธุรกิจ “JD’s X” ทำหน้าที่วิจัย และพัฒนา “Smart Logistic” โดยหนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดที่คิดค้นได้สำเร็จ และนำมาใช้จริงแล้ว คือ “โดรน” ขนส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกลของประเทศจีน ที่ระบบขนส่งทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือถ้าเข้าไปส่งสินค้า ต้องใช้เวลานานกว่าจะไปถึง เช่น ในหุบเขา ยากต่อการขนส่งพัสดุ

Gloria Li :  ปัจจุบัน JD’s X พัฒนาโดรนสำหรับขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า มากกว่า 7 โมเดลแล้ว แต่ละโมเดลมีลักษณะแตกต่างกัน และถูกพัฒนาให้ทนต่อสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และขนาดของสิ่งของที่จัดส่งแตกต่างกัน 

เช่น ล่าสุดเพิ่งทดลองโดรนที่สามารถบินสูงได้ 5,000 เมตร เป็นโดรนที่สามารถบินเวลาฝนตก หรือสภาพอากาศแปรปรวน หรือการใช้โดรนโมเดลหนึ่ง จัดส่ง “ยา” ให้คนที่อยู่บนภูเขา ซึ่งถ้าไม่มีโดรน ต้องใช้คนเดินทาง และใช้ระยะเวลาในการปีนขึ้นเขา ขณะที่การขนส่งด้วยโดรน สามารถจัดส่งได้ภายใน 5 นาที

Resize JD Logistic_05
Photo Credit : JD.COM

Resize JDY 800 Heavy Drone

ค้าปลีกอนาคต ต้องไม่มีเส้นแบ่ง “Physical – Online Store”

นับวันธุรกิจค้าปลีก รูปแบบ Physical Platform กับ Online Platform จะเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น โดยในที่สุดแล้วต้องไปสู่รูปแบบ “Omni-channel” ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากที่ไหนก็ได้ ในช่วงเวลาใดก็ได้ ตามที่ตนเองสะดวก

“เราคิดว่าอนาคตของธุรกิจค้าปลีก เส้นแบ่งระหว่าง Physical กับ Online จะลดลงไป ต่อไปผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะผ่านโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, ตู้เย็นอัจฉริยะ, ลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker), ทีวี และหน้าจอใดๆ ก็ได้ที่ผู้บริโภคสามารถหาได้ ดังนั้น ทุกหน้าจอจะกลายเป็น Touch point ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ 

JD.COM เล็งเห็นถึงแนวโน้มว่าเส้นแบ่งระหว่าง Physical – Online Platform จะน้อยลง ดังนั้นเราได้ขยายเข้าไปยังค้าปลีก Physical Platform ด้วยการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตหลายสาขาในจีน มีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ต้องใช้พนักงาน และซูเปอร์มาร์เก็ต 7Fresh มีทั้งพนักงานให้บริการ และติดตั้งเทคโนโลยีดิจิทัลภายในสาขา 

หนึ่งในปรากฏการณ์โดดเด่นที่ลูกค้าจะได้พบ คือ ป้ายราคาที่เป็น Electronic Ink ทำให้เราสามารถควบคุมราคาสินค้าทั้งช่องทาง Offline และ Online ได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเวลาเราเปลี่ยนราคาบน Online ราคาในช่องทาง Offline ก็จะปรับเปลี่ยนตาม 

เพราะสำหรับเรารู้สึกว่าคงไม่เป็นการดีที่ผู้บริโภคจะต้องเจอกับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ราคาสินค้าชนิดเดียวกัน-แบรนด์เดียวกัน เมื่อไปสโตร์ กลับสูงกว่าราคาขายบน Online ดังนั้นเราต้องขจัดสิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ดีต่อการช้อปปิ้งออกไป และทำให้ผู้บริโภครู้สึกอิสระที่จะซื้อสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลาตามที่เขาสะดวก”

7Fresh

 


  • 372
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ