24 มี.ค. นี้ กทค. จะประชุมเพื่อสรุปว่าทางออกหลังจากที่ JAS ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz จะเป็นอย่างไร แต่ก่อนหน้านั้น เราลองมาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่กำลังจะเกิดกันดูดีกว่า เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น
1) หลังเวลา 16.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. JAS ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ซึ่งชนะประมูลใน Lot แรกไปด้วยราคา 75,654 ล้านบาท ส่งผลให้ JAS จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่นี้ได้อีก (ติด Blacklist) ถูกริบเงินประกันประมูล 644 ล้านบาท และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล ทั้งหมดตามที่ กสทช. กำหนดไว้
2) หลายฝ่ายมีการคิดวิเคราะห์ถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง แต่จริงๆ แล้วเชื่อว่า JAS ตั้งใจเข้าสู่ธุรกิจโมบายจริงๆ เพราะจะเป็นการขยายฐานธุรกิจจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และขยายฐานลูกค้า แต่จุดที่ผิดพลาดคือ ราคาประมูลที่สูงเกินไป และไม่สามารถหาพันธมิตรต่างประเทศได้ ส่งผลให้แผนธุรกิจไม่หนักแน่น และธนาคารไม่ออกแบงค์การันตีให้ แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น
3) สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ JAS อาจถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย โดย กสทช. ในประเด็นที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับรัฐและอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าร่วมประมูลแต่สุดท้ายไม่มาจ่ายเงินประมูล ก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสในด้านการพัฒนาประเทศ และต้องเริ่มต้นดำเนินการประมูลใหม่ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องโดยบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายด้วยเช่นกัน
4) ในอีกมุมหนึ่ง กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควรออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่รัดกุมขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงมูลค่าตัวเงิน แต่เป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ และเสี่ยงต่อการฟ้องร้องตามมาอีกมาก
5) สำหรับแนวทางต่อไป มีความเป็นไปได้ว่า กสทช. จะจัดการประมูลใหม่ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ประเด็นอยู่ที่ราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาทซึ่งถือว่าสูงมาก หากไม่ใช้ราคานี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ True จะฟ้องร้อง กสทช. เนื่องจากเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทันที แต่หากใช้ราคา 75,654 ล้านบาทจริง ก็อาจไม่มีบริษัทเข้าร่วมประมูล เนื่องจากเป็นราคาที่สูงเกินไป และส่งผลให้คลื่น 900MHz Lot นี้ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์
แนวทางนี้ตรงกับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ที่ระบุว่า กสทช. ควรจัดการประมูลใหม่ ในระดับราคา 70,000 ล้านบาท เพราะเป็นราคาที่ผู้ร่วมประมูลรายอื่นรับได้ แต่ไม่ใช่ราคา 75,654 ล้านบาท (เพราะเป็นราคาที่ JAS ชนะประมูล) และต้องนำคลื่นออกประมูลโดยเร็ว ไม่ควรเก็บไว้เฉยๆ เพราะทำให้ทรัพยากรสูญเปล่า และการที่ JAS ไม่มาจ่ายตั้งแต่วันนี้ แม้จะน่าเสียดายที่ไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่ แต่ถือว่าดีกว่าไปมีปัญหาภายหลัง ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบ
6) อีกแนวทางหนึ่ง คือเสนอให้ผู้ที่เป็นรองชนะเลิศ (เฉพาะ Lot แรก คือ dtac 70,180 ล้านบาท) จ่ายเงินค่าประมูลตามราคาของ JAS คือ 75,654 ล้านบาทและรับใบอนุญาตไป แต่ดูแล้วแนวทางนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แนวทางแรกคือจัดประมูลใหม่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่า
7) อีกหนทางหนึ่ง กรณีจัดประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ใหม่อีกรอบ ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท และสามารถสร้างแรงดึงดูดได้ดีกว่า คือ จัดประมูลแบบ Multi-Band Auction หรือประมูลพร้อมกันหลายคลื่น ซึ่งมีคลื่นความถี่ที่รอประมูลอีก เช่น 850, 1800, 2300 และ 2600 เป็นต้น เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าได้อีกมาก แต่จะเป็นคลื่นอะไร และสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ทันหรือไม่ ยังต้องรอคำตอบกันต่อไป
8) สุดท้าย กสทช. คือผู้กำหนดชะตากรรม ว่าจะมีคำตอบสุดท้ายว่าอย่างไร แต่โจทย์ที่อยากให้คิดให้หนัก คือ คลื่นความถี่ต้องถูกนำออกมาใช้ ไม่ใช่ปล่อยไว้ไม่ได้ใช้งาน จึงจะถือว่าเกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนสูงสุด และคงจะมีคนที่เสียประโยชน์อยู่บ้าง ซึ่ง กสทช. ก็ต้องรับหน้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้