หนึ่งในแอปพลิเคชันอันดับต้น ๆ ที่เชื่อว่าคนไทยน่าจะมีติดเครื่องสมาร์ตโฟน คงหนีไม่พ้น LINE แอปพลิเคชันที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การส่งข้อความ พูดคุยผ่านเสียง หรือวิดีโอคอล แต่สิ่งที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไลน์อย่างแท้จริง คงหนีไม่พ้น “สติกเกอร์คาแรกเตอร์” ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกได้ชัดเจนยิ่งกว่าคำพูด จนหลายคนรู้สึกผูกพันกับตัวละครเหล่านี้แบบไม่รู้ตัว
แม้ LINE จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว คาแรกเตอร์อย่างโคนี่, บราวน์ และซัลลี่ ก็ยังคงเป็นที่รักของผู้ใช้งานทั่วโลก พร้อมถูกต่อยอดจากหน้าจอแชตไปสู่โลกแห่งความจริง ผ่านโมเดลธุรกิจ IP ที่ขยายขอบเขตของจินตนาการ สู่อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และแรงบันดาลใจอย่างมหาศาล ในชื่อใหม่ ‘IPX Corporation’ ที่ต่อยอดมาจาก LINE FRIENDS Corporation
เปิด 11 IPs จากอาณาจักรคาแรกเตอร์ ‘IPX Corporation’

จุดเริ่มต้นของจักรวาล IPX นั้น ต่อยอดมาจากแกงค์ LINE FRIENDS ทั้ง 11 คาแรกเตอร์ ได้แก่
- Brown – หมีสีน้ำตาลขรึม เงียบ สุภาพ แต่จริงใจ
- Cony – กระต่ายขาวสดใสร่าเริง แฟนของ Brown
- Sally – ลูกเจี๊ยบตัวเล็กสีเหลือง ฉลาดและขี้เล่น
- Moon – หน้ากลมเหมือนพระจันทร์ ท่าทางกวน ๆ ตลก
- James – หนุ่มหล่อมั่นใจในตัวเองมาก รักความงาม
- Jessica – แมวสาวที่สวย มั่นใจ และเป็นเพื่อนกับ James
- Boss – หัวหน้าที่ดูเคร่งขรึม แต่มักมีมุมตลก
- Edward – หนอนตัวเล็กสีเขียว เพื่อนคู่ใจของ Sally
- Leonard – กบเขียว ร้องเพลงเก่ง เป็นเพื่อนของ Brown
- Choco – น้องสาวของ Brown รักแฟชั่นและถ่ายรูป
- Pangyo – แพนด้านักพัฒนาเทคโนโลยี เงียบแต่ฉลาด
ต่อมาในปี 2022 LINE FRIENDS Corporation ได้รีแบรนด์ใหม่เป็น IPX Corporation ซึ่งมาจาก IP+X (Experience) เพื่อโฟกัสธุรกิจ IP เต็มตัว พร้อมโฟกัสที่ ‘การสร้างประสบการณ์’ เป็นสำคัญตามชื่อบริษัท
นอกจากความสำเร็จของแกงค์ LINE FRIENDS ปัจจุบันอาณาจักร IPX ยังมีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น
BT21 (BTS+21st century) คาแรกเตอร์ที่เกิดจากความร่วมมือกับ กลุ่มศิลปิน BTS ในแคมเปญ ‘FRIENDS CREATORS’ ที่สมาชิกทั้ง 7 คน ได้ออกแบบคาแรกเตอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งสะท้อนความคิด และบุคลิกเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย TATA, RJ, CHIMMY, COOKY, MANG, SHOOKY, KOYA และ VAN หุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ของ BT21 และปัจจุบันมี Follower กว่า 50 ล้านคนทั่วโลก

โดยในปี 2025 นี้ BT21 ได้เตรียมกลับมาอีกครั้ง เพื่อฉลองการคัมแบคของกลุ่มศิลปิน BTS ที่จะออกจากการเข้ารับราชการทหารในช่วงมิถุนายน
นอกจากนี้ยังมีคาแรกเตอร์จาก K-Pop IP อื่นๆ อีกมากมาย เช่น
- Zeroni: พัฒนาร่วมกับวง ZEROBASEONE (ZB1)
- Bunini: พัฒนาร่วมกับวง NewJeans
- Minini: พัฒนาร่วมกับวง (G)I-DLE
- DAIHEE & SYHEE: ร่วมกับ G-Dragon ผ่านแบรนด์ PEACEMINUSONE
Minini คาแรกเตอร์เวอร์ชันตัวจิ๋วของ แกงค์ LINE FRIENDS แต่จะมีความแสบซนมากกว่า และมีความตลกไปพร้อมกัน เปิดตัวในปี 2022
WADE: คาแรกเตอร์เสมือนจริง (Virtual IP) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้งาน
ROY6: คาแรกเตอร์ Art Toy ที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือกับ Roy Wang ศิลปินชาวจีน ประกอบด้วยตัวละคร 6 ตัว เช่น Royan, Eddy, Long Long, Loudy, T-2000 และ Baobao Tree ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน
KARTRIDER: คาแรกเตอร์จากเกมแข่งรถยอดนิยม ที่ IPX ได้ร่วมมือกับบริษัทเกมในการพัฒนาและนำเสนอคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจสู่ตลาด
GENSHIN minini: คาแรกเตอร์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเกม Genshin Impact และ minini สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ที่น่ารักและน่าสนใจสำหรับแฟน ๆ เกม
USAMARU: คาแรกเตอร์กระต่ายน่ารักที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเด่นคือความเรียบง่ายและน่ารัก
SEALOOK: คาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน มีลักษณะเป็นแมวน้ำที่น่ารักและขี้เล่น
JOGUMAN: คาแรกเตอร์ไดโนเสาร์สีเขียวสุดกวน ที่กำลังเตรียมเปิดตัว Pop-Up Store และสติกเกอร์ในประเทศไทยในเดือนเมษายนนี้
DINOTAENG: คาแรกเตอร์ควอกก้าและผองเพื่อนตัวจิ๋วที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลี และกำลังเตรียมเข้าสู่ตลาดไทยเช่นกัน
วิเคราะห์โมเดลธุรกิจ ‘IP’ เมื่อคาแรกเตอร์หลุดออกจากจอ มาให้เราได้สัมผัสจริงในทุกที่
แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากการเป็นสติกเกอร์ที่ใช้สื่อสารกันในแอปพลิเคชัน LINE แต่ความตั้งใจสู่เป้าหมายในการส่งความสุขสู่ทุกคนทั่วโลก ทาง IPX จึงมองไกลไปถึงการพาคาแรกเตอร์สู่โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนได้มากขึ้น จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสร้างความสุขให้ผู้คนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
1. Retail

รูปแบบค้าปลีกของ IPX เริ่มต้นจากร้านค้าแบบป็อปอัพที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในหลายประเทศ ภายใต้ชื่อ ‘LINE FRIENDS Store’ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากแฟนๆ ทั่วโลก และปัจจุบันมีมูลค่าราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว (ไม่รวมกลุ่มลิขสิทธิ์)
ด้วยการออกแบบร้านที่เน้นประสบการณ์ของผู้บริโภคมากกว่าการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว คาแรกเตอร์ต่างๆ ถูกถ่ายทอดออกมาในพื้นที่จริงอย่างมีชีวิตชีวา ผ่านการจัดวาง ตกแต่ง และกิจกรรมแบบอินเตอร์แอคทีฟ
ต่อยอดสู่ Location-Based Entertainment

นอกจากนี้ IPX ยังขยายแนวคิดค้าปลีกไปสู่การสร้าง “พื้นที่พิเศษตามธีม” (Location-Based Entertainment) หรือการนำคาแรกเตอร์ออกมาสู่สถานที่จริง เพื่อให้แฟนๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกของคาแรกเตอร์อย่างเต็มที่
แนวคิดนี้ครอบคลุมทั้งการจัดพื้นที่แสดง คาเฟ่ คาแรกเตอร์ธีมพาร์ค และกิจกรรมพิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่จริง เช่น การเปิดคาเฟ่ LINE FRIENDS & minini ให้แฟนๆ ได้ถ่ายรูป และเลือกซื้อสินค้า merchandise หรือการร่วมมือกับ Starbucks บางสาขาในไทย และฮ่องกง เพื่อตกแต่งร้าน และจัดพื้นที่พิเศษในธีม LINE FRIENDS ด้วย รวมไปถึงการจัดอีเวนต์ตามเทศกาลในศูนย์การค้า หรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างโลกของคาแรกเตอร์ให้มีชีวิตชีวาและกลายเป็นจุดหมายของการมาเยือน
นอกจากนี้ IPX ยังได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เพื่อจัดทำ Pop-Up Experience เช่น สวนสัตว์ ห้องสมุดธีมคาแรกเตอร์ หรือแม้แต่โรงแรมที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับ IP ต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
2. Partnership & Licensing

เรียกได้ว่าเป็นเหมือนหัวใจสำคัญของธุรกิจ IP เลยก็ว่าได้ และเพื่อให้เข้าใจง่าย ขออธิบายโมเดลนี้แยกกันเป็น 2 รูปแบบ
– Licensing หรือการให้สิทธิ์การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา โดยทาง IPX จะอนุญาตให้แบรนด์อื่นๆ สามารถนำคาแรกเตอร์ในเครือ IP ของ IPX ไปใช้ใน ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือสื่อโฆษณาต่างๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่นการคอลแลปกันระหว่าง IPX และ Dr. Martens ในการสร้างคอลเลกชันรองเท้ารุ่นพิเศษที่มีการออกแบบโดยใช้คาแรกเตอร์จาก BT21 นับเป็นตัวอย่างของโมเดล Licensing ที่ชัดเจน
– Partnerships หรือการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ จะต่างจากรูปแบบก่อนหน้าตรงที่ ทาง IPX และแบรนด์ต่างๆ จะร่วมมือกันสร้างสินค้า หรือบริการใหม่ขึ้น โดยเป็นการนำคาแรกเตอร์ IP ในเครือ ผสานเข้ากับความเชี่ยวชาญ และเอกลักษณ์ของแบรนด์พันธมิตร โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้ง 2 ฝั่ง
ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับ NEXON ในเกม ‘KartRider’ และ SUPERCELL ในเกม ‘Brawl Stars’ เพื่อสร้างคอนเทนต์ และคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจภายในเกม
3. Digital Experience

หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนแนวทาง Digital Experience ของ IPX ได้ชัดเจน คือ WADE คาแรกเตอร์ Virtual Artist ที่ถูกพัฒนาให้มีตัวตนเสมือนจริง มีบุคลิกเฉพาะตัวและโลกทัศน์ที่ชัดเจน ทำให้ WADE ไม่ใช่เพียงแค่ตัวการ์ตูน แต่ถูกออกแบบให้เป็นศิลปินในโลกดิจิทัลที่สามารถมีส่วนร่วมในวงการแฟชั่น ศิลปะ และวัฒนธรรมร่วมสมัย
นอกจากนี้ ทาง IPX ยังมุ่งมั่นเผยแพร่เนื้อหาและสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนๆ ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียของแต่ละ IP อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบคอนเทนต์ประจำวัน กิจกรรมเฉพาะกลุ่ม หรือแคมเปญระดับโลก เพื่อให้คาแรกเตอร์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในทุกมิติที่ผู้คนใช้เวลามากที่สุดในปัจจุบัน
ภาพรวมธุรกิจ IPX ในตลาดภูมิภาคต่าง ๆ

Southeast Asia (SEA)
– ตลาด SEA เติบโตแบบ Double Digit ทุกปี
– ความนิยมของ IP กระจายระหว่าง LINE FRIENDS และ BT21 อย่างละประมาณครึ่ง ๆ
– ผู้บริโภค SEA ให้ความสำคัญกับ ลิขสิทธิ์แท้ และ ออริจินัลคอนเทนต์ มากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
– ประเทศใน SEA มักนิยมรูปแบบ Pop-up Store เป็นหลัก และมีการปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมแต่ละประเทศ
United States (US)
– มี LINE FRIENDS Store ที่ นิวยอร์ก และ ลอสแอนเจลิส ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ Pop-up Store แต่เป็นร้านถาวร
– มีสินค้าครอบคลุมทุก IP ของ IPX และมีการร่วมมือกับ พาร์ตเนอร์แบรนด์ท้องถิ่นของอเมริกา
– กระแสความนิยมใน US ได้แรงหนุนจาก K-Culture และศิลปิน K-pop ที่เป็นที่รู้จักในตลาดตะวันตก
– แบรนด์จาก USA ที่มีการ collab กับ IPX: Anti Social Social Club, The Cream Shop, HOT TOPIC, Skechers และ Hamee
เกาหลีใต้ และจีน
– เป็นสองตลาดหลักของ IPX โดยมีฐานแฟนที่เหนียวแน่น
– ความนิยมสูงสุด เป็น “เบอร์หนึ่ง เบอร์สอง” ของ IPX ทั้งในด้านยอดขายและการมีส่วนร่วมของแฟน ๆ
ประเทศไทย
– ประเทศไทยติด Top 5 ตลาดหลักของ IPX ทั่วโลก
– LINE FRIENDS เป็น IP ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย
– IPX ใช้โมเดล ขายลิขสิทธิ์ให้แบรนด์ไทย เพื่อนำคาแรกเตอร์ไปใช้บนสินค้า อีเวนต์ หรือแคมเปญต่าง ๆ
– รูปแบบ Pop-up Store ได้รับความนิยมสูงมากในไทย
– ประเทศที่นิยม IP ของ IPX สูง ได้แก่ ไทย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีจุดร่วมคือ ความสนใจในวัฒนธรรมเกาหลี (K-Culture)

การเติบโตของ IPX ไม่ได้สะท้อนเพียงความสำเร็จของการสร้างคาแรกเตอร์ให้น่าจดจำเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพแทนของการออกแบบโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจในผู้คน ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการเชื่อมต่อระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความรู้สึก โมเดล IP ที่ IPX พัฒนาขึ้น จึงไม่ใช่แค่การสร้างรายได้จากความน่ารัก แต่เป็นการสร้าง “ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” ที่ยั่งยืนระหว่างแบรนด์ คาแรกเตอร์ และผู้บริโภคทั่วโลก