หลังจากผ่านสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรม “MICE” ที่ครอบคลุมตั้งแต่การประชุมสัมมนา การจัดแสดงสินค้า คอนเสิร์ต และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัล กลับมาคึกคักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้าน Entertainment อย่างการจัด “คอนเสิร์ต” มีทั้งศิลปินในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้เวลานี้สถานที่จัดงานหลายแห่งถูกจองยาวไปถึงสิ้นปีนี้ หนึ่งในนั้นคือ “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” (IMPACT)
“นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยมีหลายแบบ โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป คือ กลุ่ม “MICE Tourist” ไม่ว่าจะเป็นคนที่เดินทางมาไทยเพื่อร่วมงาน Exhibition และออกบูธ, กลุ่ม Incentive คนที่ทำยอดถึงเป้า บริษัทพามาท่องเที่ยวในไทย รวมทั้งกลุ่มที่เดินทางมาชมคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในไทย นักท่องเที่ยว MICE เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง เคยมีการศึกษาพบว่า MICE Tourist ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป โดยเฉลี่ย 5 เท่า
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะพักโรงแรม 4-5 ดาว เดินทางเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวอื่นต่อ นอกจากกรุงเทพฯ เช่น ไปพัทยา หัวหิน ภูเก็ต ใช้บริการร้านอาหารดี ช้อปปิ้งตั้งแต่กางเกงช้าง จนถึงสินค้า Luxury Brand ทำให้เงินกระจายในเศรษฐกิจทุกส่วน ไม่ใช่แค่โรงแรม หรือแค่ผู้จัดงาน หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น” คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ฉายภาพศักยภาพนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE
คู่แข่งมากขึ้น! แต่มั่นใจจุดแข็ง “พื้นที่ใหญ่ – จุคนได้เยอะ”
ทุกวันนี้ “สถานที่จัดงาน” ในไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะใจกลางเมืองจากการเกิดขึ้นของโครงการใหม่ รวมทั้งสถานที่จัดงานเดิมได้รีโนเวทครั้งใหญ่ เพื่อให้มีฮอลล์ ที่สามารถรองรับการจัดอีเว้นท์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนา การจัดแสดงสินค้า รวมถึงการจัดคอนเสิร์ต-การแสดงต่างๆ เช่น
– ศูนย์การค้า EMPHERE ในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป สร้าง UOB Live ฮอลล์อีเว้นท์ รองรับคน 6,000 คน ตั้งอยู่ที่ชั้น 6
– ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากปรับโฉมใหม่ ได้ออกแบบให้สามารถรองรับการจัดงานคอนเสิร์ต
– อีกทั้งในอนาคตจะมีโครงการ Bangkok Mall ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่คาดว่าจะสร้างฮอลล์ รองรับได้ 17,000 คน
– ถ้าเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ ผู้ชมหลายหมื่นคน จะจัดที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน
“เรามองว่ามีสถานที่จัดงานเพิ่มขึ้นดีกับทั้งอุตสาหกรรม ทำให้มีผู้จัดงานเพิ่มขึ้น ศิลปินมากขึ้น สถานที่จัดงานมากขึ้น แต่สุดท้ายต้องแข่งกันที่ service และ offer ที่ให้กับลูกค้าที่จะมาใช้สถานที่
สำหรับจุดเด่นของอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีหลายอาคารที่สามารถรองรับการจัดงานในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ และรองรับผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากได้ อย่างอาคารชาเลนเจอร์ สามารถรองรับได้ 50,000 – 60,000 คน
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ บริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ รองรับการจัดงานได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในแต่ละปีอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีโอกาสต้อนรับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวทังไทยและต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่มากกว่า 10 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงที่มีการจัดงานใหญ่ๆ เช่น THAIFEX, World Hindu Congress, คอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก และวันนี้เราพร้อมจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกลสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานระดับโลก”
ตั้งเป้า “Summer Sonic Bangkok 2024” มีผู้เข้าร่วมงาน 100,000 คน – ปีนี้ยอดจองพื้นที่โต 20%
ในปีนี้ จะมีอีกหนึ่งคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลกมาจัดที่ไทย นั่นคือ “Summer Sonic Bangkok 2024” งานเทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่จากญี่ปุ่น โดยจะจัดในวันที่ 24 – 25 สิงหาคมนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 โดยคาดว่าจำนวนคนเข้าร่วมงาน ไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อวัน รวม 2 วัน คาดว่ากว่า 100,000 คน
คุณพอลล์ ฉายภาพความสำเร็จปีที่ผ่านมาว่า มียอดการจัดงานทุกประเภท ทั้งการจัดประชุมสัมมนา อินเซนทีฟ คอนเสิร์ตไทย คอนเสิร์ตต่างประเทศ งานเอ็กซ์ซิบิชั่นระดับนานาชาติ และไทย รวมทั้งงานแต่งงาน รวม 1,551 งาน โดยในจำนวนนี้มีคอนเสิร์ตรวม 90 งาน แบ่งเป็นคอนเสิร์ตไทย 38 งาน คอนเสิร์ตต่างประเทศ 52 งาน
“สำหรับยอดจองพื้นที่โดยรวมในปี 2024 ของอิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคอนเสิร์ตที่มีแนวโน้มเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อน
ขณะที่ครึ่งปีหลังปีนี้ มียอดจองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคอนเสิร์ต ซึ่งพื้นที่ไฮไลต์อย่างอิมแพ็ค อารีน่าถูกจองเต็มแล้ว ทำให้ต้องมีการขยายพื้นที่ไปยังอาคารอื่นๆ อย่างอาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ซึ่งมียอดจองพื้นที่เข้ามาแล้วกว่า 15 งาน เช่น งานดนตรีเฟสติวัลระดับโลก Summer Sonic Bangkok 2024”
ปี 2025 “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เชื่อมเข้าถึงเมืองทองธานี ดึงผู้จัดงาน–คนมาเมืองทองธานีมากขึ้น
สถานที่จัดงานที่ผู้จัดงานจะเลือกใช้บริการนั้น นอกจากมีพื้นที่ใหญ่ การออกแบบฮอลล์ และตัวอาคารให้รองรับการจัดงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหารแล้ว อีกสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญขาดไม่ได้ คือ ระบบการเดินทางที่สะดวก และเชื่อมต่อการจากโซนต่างๆ ของเมืองเข้าออกสถานที่จัดงาน
ที่ผ่านมาการเดินทางมาอิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ และรถสาธารณะต่างๆ นอกจากนี้ในอนาคตจะมี “รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และ สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี เปิดให้บริการในปี 2025
เพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน และผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของ “ตระกูลกาญจนพาสน์” ระหว่าง “กลุ่มบางกอกแลนด์” ก่อตั้งโดย “คุณอนันต์ กาญจนพาสน์” ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของบุตรชายทั้งสองคนคือ “คุณปีเตอร์ – คุณพอลล์ กาญจนพาสน์” กับ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ก่อตั้งโดย “คุณคีรี กาญจนพาสน์” ปัจจุบันมีบุตรชาย “กวิน กาญจนพาสน์” มาช่วยบริหารองค์กร
“สถานีรถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยายเชื่อมเข้าเมืองทองธานี จะเสร็จในปีหน้า เป็นทางเลือกการเดินทางที่สร้างความสะดวกมากขึ้น” คุณพอลล์ กล่าวทิ้งท้ายถึงการพัฒนาระบบการเดินทางรถไฟฟ้า